หอการค้าฯ ให้คะแนน รบ.ปู 7 เต็ม 10 เชื่อทีม ศก.เอกชนรับได้ แต่ขาดผู้เชี่ยวชาญ “มหภาค” พร้อมระบุ “คลัง” เข้าใจตลาดเงิน-ตลาดทุน “พาณิชย์” เก่งงานโรดโชว์ โดยให้เวลาทำงาน 3-6 เดือน แนะงานเร่งด่วน รับมือ ศก.โลก เพิ่มค่าแรง “ซีพีเอฟ” มั่นใจทีม ศก.เพราะมีประสบการณ์ภาคธุรกิจ ไม่ใช่สายวิชาการ ลั่นช่วย รบ.ตรึงราคาสินค้า-แก้ปัญหาค่าครองชีพ ส่วนหมูแพง ควรปล่อยตามกลไกตลาด แต่ควรใช้กลไก สินเชื่อ ดบ.ต่ำ ดูแลผู้เลี้ยง เพื่อให้ปริมาณหมูออกสู่ตลาดเพิ่ม
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า การจัดวางตำแหน่งคณะรัฐมนตรีของ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ถือว่า ทีมเศรษฐกิจเป็นที่ยอมรับของภาคเอกชน โดยในส่วนของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ถือว่าเป็นบุคคลที่เข้าใจตลาดเงินและตลาดทุนเป็นอย่างดี
ส่วนตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ มีความถนัดด้านงานโรดโชว์ ซึ่งจะช่วยติดต่อการค้าให้กับประเทศมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม คณะรัฐมนตรี (ครม.) ด้านเศรษฐกิจยังคงขาดผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจมหภาค ซึ่งเรื่องนี้ต้องให้ระยะเวลารัฐบาลพิสูจน์ผลงาน 3-6 เดือน คะแนนที่ภาคเอกชนมองอยู่ น่าจะอยู่ที่ 7 เต็ม 10
นายธนวรรธน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า เรื่องที่รัฐบาลต้องเร่งดำเนินต่อไปจากนี้ คือ การรับมือปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจโลก และการเพิ่มค่าครองชีพให้ประชาชน ตามนโยบายที่วางไว้
ด้าน นายอดิเรก ศรีประทักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (ซีพีเอฟ) มั่นใจว่า ทั้ง นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และ นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จะสามารถขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจการค้าได้เป็นอย่างดี เพราะมีประสบการณ์ภาคธุรกิจ ไม่ใช่สายวิชาการ
ขณะเดียวกัน เชื่อว่า นโยบายการเพิ่มราคาสินค้าเกษตร การเพิ่มรายได้ และสนับสนุนการค้าต่างประเทศ ของรัฐบาลใหม่ จะช่วยเพิ่มกำลังซื้อในประเทศ และการส่งออกให้ขยายตัวเพิ่มขึ้น แต่ต้องติดตามแนวทางปฏิบัติว่าจะสามารถทำได้จริงและเร็วแค่ไหน
ขณะที่ต้นทุนราคาสินค้าที่ปรับเพิ่มขึ้น ยืนยันว่า ซีพีเอฟจะตรึงราคาสินค้าให้นานที่สุด เพื่อช่วยเหลือผู้บริโภค ในภาวะค่าครองชีพสูง โดยซีพีเอฟใช้วิธีการปรับบรรจุภัณฑ์เพื่อลดต้นทุนการผลิต ส่วนราคาเนื้อหมูแพง คงต้องปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด เพราะขณะนี้หมูขาดแคลน เกิดจากสภาวะอากาศ และโรคระบาด
ทั้งนี้ รัฐบาลควรจะสนับสนุนสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำให้แก่ผู้เลี้ยงหมูรายย่อย เพื่อเพิ่มปริมาณหมูออกสู่ตลาดมากขึ้น ไม่ควรควบคุมราคาเพียงอย่างเดียว แต่ในช่วงนี้ขอให้ผู้บริโภคหันมาบริโภคไก่แทนก่อน โดยคาดว่าปริมาณการบริโภคไก่จะเติบโตร้อยละ 10 จากกำลังซื้อที่เพิ่มขึ้น
นายอดิเรก ยังไม่กังวลว่า ปัญหาเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาและยุโรป จะส่งผลกระทบต่อซีพีเอฟ เพราะซีพีเอฟเน้นทำธุรกิจอาหาร ซึ่งถือเป็นสินค้าที่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิต ขณะเดียวกัน การส่งออกกุ้งไปยังสหรัฐฯ ก็ได้รับผลดีจากการที่สหรัฐฯ ปรับลดอัตราอากรตอบโต้การทุ่มตลาด (เอดี) สำหรับสินค้ากุ้งแช่แข็งจากไทยเหลือร้อยละ 0.41-0.73 จากเดิมที่เก็บร้อยละ 1.11-4.39
กรณีดังกล่าวทำให้คาดว่าผลการดำเนินงานของซีพีเอฟในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ จะขยายตัวมากกว่าครึ่งปีแรกที่มียอดขายรวม 98,974 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 8 กำไรสุทธิ 8,348 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 16 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้ยอดขายทั้งปีนี้เติบโตร้อยละ 12 หรือยอดขายรวม 210,000-220,000 ล้านบาท