xs
xsm
sm
md
lg

สื่อผิดหวัง กสทช.หวั่นกติกากระทบ “ประวิทย์” มองเป็นโอกาสดีในอนาคต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กลุ่มทุนสื่อ ผนึกกำลังตีแผ่ “11 กสทช.” หวังวางกฎกติกาเอื้อต่อธุรกิจ มากกว่าสร้างผลกระทบ “จำนรรค์” ผิดหวังคนสื่อไม่ได้ตำแหน่ง “ประวิทย์” มองเป็นโอกาสดีในอนาคต ด้าน นายกเคเบิล ไม่สน กสทช.มองเรื่องการเปลี่ยนจากอะนาล็อกสู่ดิจิตอลปี 58สำคัญกว่า

วานนี้ (9 ก.ย.) ทางสมาคมมีเดีย เอเยนซี และธุรกิจสื่อแห่งประเทศไทย ได้จัดงานสัมมนา หัวข้อ “จากวิทยุ โทรทัศน์ ถึง มือถือ และ 3G ในมือ กสทช.”

โดย นางจำนรรค์ ศิริตัน หนุนภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจ เอส แอล โกลบอล มีเดีย จำกัด กล่าวว่า หลังจากที่มีประกาศรายชื่อคณะกรรมการ กสทช.ทั้ง 11 ท่านอย่างเป็นทางการ เมื่อวันจันทร์ที่ 6 ก.ย.ที่ผ่านมา ยอมรับว่า รู้สึกผิดหวัง โดยเฉพาะคณะกรรมการด้านกิจการวิทยุโทรทัศน์นั้น เป็นบุคคลที่ไม่เป็นที่รู้จักและยังเป็นบุคคลสาขาอื่นที่เข้ามาดูแล

แต่ทั้งนี้ ก็ต้องให้เกียรติกับทาง ส.ว.ที่ได้เลือกทั้ง 11 ท่านเข้ามา และรอดูผลงานการทำงานต่อไป ซึ่งภายใน 1 ปีหลังจากนี้ จะเริ่มเห็นแผนแม่บทจาก กสทช.ทั้งนี้ อยากจะขอให้ทางคณะกรรมการ กสทช.ชุดนี้ วางกฎระเบียบออกมาเพื่ออำนวยความสะดวกกับธุรกิจมากกว่ามาทำให้เกิดความเดือดร้อน ถึงแม้ว่าจะกังวลเรื่องของการคอร์รัปชัน

ผลกระทบตามมาย่อมมีบ้าง ซึ่งผู้ประกอบการต้องมีการปรับตัวรับมือ คือ 1. ต้องรวมตัวเพื่อเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน สร้างความแข็งแกร่งเพื่อสร้างอำนาจต่อรอง 2.เจ้าของสถานี ควรวางแผนแม่บทในเรื่องความต้องการและทิศทางที่จะดำเนินธุรกิจนี้ต่อไป หลังจากที่สัมปทานหมดลง รวมถึงผู้จัดและผู้ผลิตรายการโทรทัศน์เองนั้น จะต้องมีโพซิชั่นนิ่งของตัวเองให้ชัดเจน ว่าจะไปในทิศทางใด หากถึงวันหนึ่งกสทช.จะมีการจัดสรรคลื่นความถี่ขึ้นมาใหม่ จะมีโพซิชันนิงที่เด่นชัดมากยิ่งขึ้น

นางวรรณี รัตนพล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท อินิชิเอทีฟ จำกัด กูรูทางด้านเอเยนซีโฆษณา กล่าวว่า การเกิด 11 กสทช.ครั้งนี้ อาจจะไม่ส่งผลกระทบต่อกลุ่มเอเจนซี่โดยตรง แต่กระทบทางอ้อม โดยเฉพาะในเรื่องของการเลือกซื้อสื่อโฆษณานั้น จากเดิมจะเน้นรายการที่มีเรตติ้งดี ต่อไปจะต้องลงลึกในเรื่องของคุณภาพ กลุ่มเป้าหมายชัดเจนมากยิ่งขึ้น

แต่มั่นใจว่า งบโฆษณาส่วนใหญ่ยังคงอยู่ใน 3 จอสื่อหลัก คือ จอทีวี จอพีซีอินเทอร์เน็ต และจอโมบายโฟน

อย่างไรก็ตาม ภายในงานสัมมนา มีผู้ให้ความสนใจเข้าร่วมรับฟังในวงการสื่อมากมาย อาทิ เช่น ดร.นิพนธ์ นาคสมภพ นายกสมาคมโทรทัศน์ดาวเทียม (ประเทศไทย) ได้กล่าวแสดงความคิดเห็นร่วมด้วยว่า จากผลของ กสทช.ที่เกิดขึ้นมานี้ มองว่า ช่อง 9 ถือเป็นช่องที่น่าเป็นห่วงที่สุด เพราะเป็นเจ้าของสัมปทานเอง แต่สำหรับช่อง 3 และช่อง 7 มองเห็นอนาคตที่ดี

ส่วนของทาง ASTV แล้ว ไม่ว่า กสทช จะเกิดหรือไม่เกิดก็ไม่กระทบ แต่ยอมรับว่า อนาคตถ้าเป็นไปได้ก็อยากที่จะเข้ามาขอใบอนุญาตยิงสัญญาณในประเทศเช่นกัน ถึงแม้ว่าปัจจุบันยิงสัญญาณผ่านดาวเทียมของต่างประเทศ

ด้าน นายเกษม อินทร์แก้ว นายกสมาคมเคเบิลทีวีแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การเกิด กสทช.ไม่มีผลกระทบกับกลุ่มอุตสาหกรรมเคเบิลทีวี แต่กังวลเรื่องของการทำสัญญาอาเซียนปี 58 ที่ประเทศไทยจะต้องเปลี่ยนระบบสัญญาณการออกอากาศจากแบบอะนาล็อกเป็นดิจิตอลมากกว่า

ขณะที่ นายประวิทย์ มาลีนนท์ กรรมการผู้จัดการ สถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 กล่าวว่า ในวันนี้เราเพิ่งได้ 11 คณะกรรมการ กสทช.ยังไม่อยากให้มองในแง่ร้าย แต่อยากให้มองถึง บทบาทที่คณะกรรมการ กสทช.จะเข้ามาดำเนินการ แต่ช่วง 6 ปีแรกนี้จะมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นมากมาย เช่น การเปลี่ยนเจ้าของสัมปทานมากขึ้น การแข่งขันสูงขึ้น มองว่า คนที่จะมาดูด้านกิจการโทรทัศน์เพียง 1 คนนั้น น้อยเกินไป ส่วนหลังจากนี้ช่อง 3 พร้อมที่จะขยายการลงทุน โดยมีเงินทุนรองรับอยู่แล้วไม่ต่ำกว่า 2-3 พันล้านบาท
กำลังโหลดความคิดเห็น