ภาคเอกชน-นักวิชาการ เปิดวงเสวนา “ประชาชนจะได้ประโยชน์อย่างไร จากการลอยตัวราคาพลังงาน” พร้อมสนับสนุนแนวนโยบายลอยตัวราคาพลังงาน ขณะที่ รบ.มอบ ปตท.ไปศึกษาเรื่องการจัดทำบัตรเครดิตพลังงาน ห่วงในอนาคตอาจก่อหนี้เสีย เผยพรุ่งนี้ น้ำมันปรับขึ้นอีก 60 สตางค์
นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นต้น บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) กล่าวในงานเสวนา “ประชาชนจะได้ประโยชน์อย่างไร จากการลอยตัวราคาพลังงาน” โดยระบุว่า ตนเองเห็นด้วยกับรัฐบาลที่จะเร่งศึกษาการปรับโครงสร้างราคาพลังงานทั้งระบบ เพราะไม่เช่นนั้นคนไทยจะต้องแบกรับภาระการอุดหนุนให้กับประชาชนกลุ่มอาเซียนกว่า 600 ล้านคน หลังจากข้อตกลงประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) มีผลบังคับใช้ในปี 2558 โดยรูปแบบคงจะต้องทยอยปรับขึ้นราคา
ปัจจุบัน ปตท.ต้องรับภาระอุดหนุนราคาก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยานต์ (NGV) ที่ต่ำกว่าต้นทุนจริงปีละ 10,000 ล้านบาท ขณะที่กองทุนน้ำมันจะต้องอุดหนุนการนำเข้าปีละ 22,000 ล้านบาท จึงควรทยอยปรับราคาและให้ข่าวสารข้อมูลเพื่อให้ประชาชนเข้าใจ
ขณะที่กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงแบกรับภาระการนำเข้าก๊าซหุงต้ม (LPG) เป็นเงินกว่า 2 หมื่นล้านบาทต่อปี และยังต้องแบกรับภาระอุดหนุนพลังงานสีเขียว หรือพลังงานทดแทน ซึ่งในการเตรียมพร้อมการลอยตัว ต้องทำความเข้าใจกับประชาชนให้รับทราบถึงต้นทุนของพลังงานสีเขียว หรือกรีนไพรสซิ่ง ที่มีราคาสูงกว่าพลังงานฟอสซิล และหากคนไทยจะสนับสนุนกรีนไพรสซิ่งก็ต้องยอมรับต้นทุนที่สูงขึ้นดีกว่าการที่ภาครัฐจะต้องอุดหนุนราคาพลังงานทดแทนต่อไป
ด้าน นายณัฐชาติ จารุจินดา รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท.กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) มีนโยบายให้ ปตท.ไปศึกษาเรื่องการจัดทำบัตรเครดิตพลังงาน โดยอยู่ระหว่างการศึกษารูปแบบและรายละเอียด โดยอาจทำเป็นรูปแบบบัตรเครดิต บัตรเดบิท หรือบัตรส่วนลด หรืออาจจะมีการผสมรูปแบบกัน โดย ปตท.จะเสนอผลการศึกษาที่ระบุถึงผลดีและผลเสียของนโยบายดังกล่าวว่าจะเกิดผลกระทบอย่างไรบ้าง โดยเรื่องที่มีความกังวล คือ วินัยทางการเงินของกลุ่มดังกล่าว ซึ่ง ปตท.จะจัดทำแผนเสนอไปยังกระทรวงพลังงานในการพิจารณา เพื่อป้องกันการเกิดปัญหาหนี้เสียในระบบ
เบื้องต้นจะมีการช่วยเหลือกลุ่มผู้ที่มีรายได้น้อยในภาคขนส่งก่อน เช่น ผู้ประกอบการรถแท็กซี่ รถตุ๊กตุ๊ก รถตู้สาธารณะ รถมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ซึ่งในกลุ่มของมอเตอร์ไซค์รับจ้างจะเป็นกลุ่มที่มีการเก็บข้อมูลได้ยากเนื่องจากมีจำนวนมากและยังไม่มีการขึ้นทะเบียนไว้ คาดว่าผลการศึกษาจะแล้วเสร็จภายใน 3-6 เดือน ทั้งนี้ ปตท.จะต้องดำเนินการร่วมกับสถาบันการเงินและรัฐบาล เพื่อให้รัฐบาลเป็นผู้ตัดสินใจว่าจะดำเนินการในรูปแบบใด และอนุมัติการช่วยเหลือในกลุ่มใดบ้าง
ขณะที่ นายมนูญ ศิริวรรณ นักวิชาการอิสระด้านพลังงาน ยอมรับว่า การลอยตัวราคาพลังงานในระยะสั้น ประชาชนอาจจะต้องแบกรับภาระราคาที่สูงขึ้น แต่ในระยะยาวจะเป็นประโยชน์เมื่อราคาพลังงานสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง เพราะจะมีการปรับขึ้นลงตามกลไกตลาด และทำให้โครงสร้างราคาถูกบิดเบือนน้อยลง รวมถึงเกิดความเป็นธรรมมากขึ้นกับผู้ใช้พลังงาน เพราะปัจจุบันมีประชาชนบางกลุ่มยังต้องแบกรับภาระค่าพลังงานแทนคนอีกกลุ่มหนึ่ง ช่วยลดการแทรกแซงราคาพลังงานของภาครัฐ อย่างไรก็ตามรัฐบาลอาจจะต้องดูแลการแข่งขันให้เป็นไปตามกลไก เพื่อป้องกันการผูกขาด และเกิดประโยชน์กับประชาชนอย่างแท้จริง
ทั้งนี้ ตนเองยังเห็นด้วยกับรัฐบาลที่มีนโยบายปรับโครงสร้างราคาพลังงาน โดยเฉพาะการลอยตัวราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว หรือ แอลพีจี เพื่อลดภาระของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เนื่องจากปัจจุบันการนำเข้าแอลพีจีเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยในปีที่ผ่านมา มีการนำเข้าสูงถึง 1.6 ล้านตัน ต้องใช้เงินอุดหนุนถึง 2.2 หมื่นล้านบาท หากไม่ลอยตัวราคาพลังงานในวันนี้ เมื่อมีการรวมตัวเป็นเออีซี ประเทศเพื่อนบ้านก็จะสามารถใช้พลังงานราคาถูกจากไทยได้ ระยะเร่งด่วนรัฐบาลจึงควรลอยตัวราคาแอลพีจีก่อน แล้วลดการอุดหนุนราคาเอ็นจีวี ที่ปัจจุบันกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงอุดหนุนอยู่ 2 บาทต่อกิโลกรัม จากนั้นจึงปรับราคาเอ็นจีวีเพิ่มขึ้นตามต้นทุน
สำหรับวิธีการลอยตัวราคาแอลพีจี รัฐบาลสามารถดำเนินการได้ 2 แนวทาง คือ การปรับขึ้นราคาแอลพีจีพร้อมกันทุกภาคส่วน โดยคำนวณจากราคาหน้าโรงแยกก๊าซฯ ร้อยละ 60 และราคานำเข้าร้อยละ 40 ซึ่งวิธีนี้ ราคาแอลพีจีจะปรับขึ้น 9-10 บาทต่อกิโลกรัม ส่วนการช่วยเหลือประชาชนผู้มีรายได้น้อย ด้วยการแจกบัตรเครดิตพลังงาน หรือคูปองส่วนลด
ส่วนอีกรูปแบบ คือ ตรึงราคาภาคครัวเรือน และปรับขึ้นในภาคขนส่งเช่นเดียวกับภาคอุตสาหกรรม คือ ไตรมาสละ 3 บาท 4 ไตรมาส รวมเป็น 12 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งราคาจะสูงกว่ารูปแบบแรก อย่างไรก็ตาม หากรัฐบาลลอยตัวราคาแอลพีจี จะทำให้ภาระกองทุนน้ำมันฯ ลดลงร้อยละ 10-20 หรือประมาณ 1-2 พันล้านบาท
รายงานข่าวเพิ่มเติมระบุว่า ผู้ค้าทุกรายประกาศขึ้นราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศในส่วนของน้ำมันเบนซินและแก๊สโซฮอล์ 60 สตางค์ต่อลิตร โดยมีผลวันที่ 2 กันยายน 2554 หลังราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับตัวขึ้น
ทั้งนี้ ส่งผลให้ราคาขายปลีกน้ำมันในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล วันพรุ่งนี้ เป็นดังนี้ เบนซิน 91 อยู่ที่ลิตรละ 35.97 บาท ดีเซลอยู่ที่ลิตรละ 27.59 บาท แก๊สโซฮอล์ 95 อยู่ที่ลิตรละ 35.97 บาท แก๊สโซฮอล์ 91 อยู่ที่ลิตรละ 32.94 บาท แก๊สโซฮอล์ E20 อยู่ที่ลิตรละ 31.44 บาท และแก๊สโซฮอล์ E85 อยู่ที่ลิตรละ 21.62 บาท