xs
xsm
sm
md
lg

“พิชัย” ประเดิมงานแรก เลิกเก็บเงินเบนซิน 7 บ.เข้ากองทุนน้ำมันฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พิชัย นริพทะพันธุ์
สนพ.เตรียมข้อมูลการยกเลิกเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ ทั้งเบนซิน 91 และเบนซิน 95 เพื่อเสนอ รมว.พลังงาน คนใหม่ พิจารณา ซึ่งเดิมมีการจัดเก็บจากน้ำมันเบนซิน 91 ลิตรละ 6.70 บาท และน้ำมันเบนซิน 95 ลิตรละ 7.50 บาท

นายสุเทพ เหลี่ยมศิริเจริญ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยว่า นายณอคุณ สิทธิพงศ์ ปลัดกระทรวงพลังงาน ได้สั่งการให้ สนพ.เตรียมข้อมูลเกี่ยวกับการยกเลิกเรียกเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงชั่วคราวจากน้ำมันเบนซิน 91 และเบนซิน 95 รวมถึงน้ำมันดีเซล เพื่อเสนอให้ นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานคนใหม่ พิจารณา ซึ่งเงินดังกล่าวนำไปใช้อุดหนุนราคาพลังงานทดแทนต่างๆ โดยเฉพาะก๊าซปิโตรเลียมเหลว (แอลพีจี) และก๊าซธรรมชาติในรถยนต์ (เอ็นจีวี) เป็นหลัก

ปัจจุบันการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ จากน้ำมันเบนซิน 91 อยู่ที่ 6.70 บาทต่อลิตร และน้ำมันเบนซิน 95 อยู่ที่ 7.50 บาทต่อลิตร หรือประมาณ 3 พันล้านบาทต่อเดือน เทียบเท่ากับการชดเชยราคาแอลพีจีและเอ็นจีวี

ผู้อำนวยการ สนพ.กล่าวว่า ได้ศึกษาการปรับขึ้นราคาแอลพีจีภาคขนส่งที่จะสิ้นสุดมาตรการการตรึงราคาในเดือนกันยายน 2554 นี้ จากนั้นจะเสนอแผนการศึกษาใหม่ให้ รมว.พลังงาน พิจารณาทันที อาทิ การขึ้นราคาเป็นขั้นบันไดทั้งแอลพีจีและเอ็นจีวี เพื่อให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง และการลดค่าการตลาดแอลพีจีภาคขนส่งที่ปัจจุบันมีค่าการตลาดอยู่ที่ 3.25 บาทต่อกิโลกรัม หรือ 1.75 บาทต่อลิตร

นอกจากนี้ สนพ.ได้ศึกษาราคาเนื้อก๊าซที่แท้จริง เพื่อให้ได้ราคาที่ต้องชดเชยจริง โดยมีการทำรูปแบบต่างๆ หากมีการยกเลิกเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ ชั่วคราวจำนวน 14-15 รูปแบบ โดยจะต้องคำนึงถึงผลกระทบในการยกเลิกมาตรการดังกล่าว เพื่อเสนอ รมว.พลังงาน ต่อไป

ทั้งนี้ ต้นทุนค่าขนส่งของแอลพีจีภาคขนส่งต่ำกว่าภาคครัวเรือนที่มีหลายขั้นตอนกว่า แต่ราคาขายภาคขนส่งอยู่ที่ 11.40 บาทต่อลิตร หรือ 20.34 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งเป็นราคาสูงกว่าที่ควบคุมไว้ที่ 18.13 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งมองว่าจะปรับลดลงได้อีก

ล่าสุด ปริมาณการใช้แอลพีจีภาคครัวเรือนมีประมาณ 2.1 แสนตันต่อเดือน ภาคขนส่ง 7.8 หมื่นตันต่อเดือน ภาคอุตสาหกรรม 6.7 หมื่นตันต่อเดือน และภาคปิโตรเคมี 1.84 แสนตันต่อเดือน โดยใช้เงินกองทุนน้ำมันชดเชยแอลพีจีถึง 3.229 พันล้านบาทต่อเดือน ส่วนก๊าซเอ็นจีวี 380 ล้านบาทต่อเดือน
กำลังโหลดความคิดเห็น