xs
xsm
sm
md
lg

“บิ๊กโอ๋” ฝันผุดมักกะสันคอมเพล็กซ์ ดึงรายได้ลงทุนส่วนต่อขยายแอร์พอร์ตลิงก์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“บิ๊กโอ๋” เร่ง ร.ฟ.ท.พัฒนามักกะสันคอมเพล็กซ์ ดึงรายได้ลงทุนส่วนต่อขยายแอร์พอร์ตลิงก์ แทนงบประมาณ ผุดรถไฟเร็วสูงเฟสแรกและทางคู่ 3,000 กม.ใน 3 ปี ส่วนรถไฟฟ้า 20 บาท ขอเวลาศึกษาและทดลองประเมินผู้โดยสารก่อนใช้จริง ดันออกแบบสุวรรณภูมิเฟส 2 ในปี 55 ฟุ้งเงินพร้อมลงทุน แบ่งงาน 2 รมช.“ชัจจ์” คุมร.ฟ.ท.-ทช.ส่วน “กิตติศักดิ์” ดูแอร์พอร์ตลิงก์-เจ้าท่า ที่เหลือคุมเอง ทั้งการบินไทย, ทอท., กรมทางหลวง, กทท.

พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังมอบนโยบายและแนวทางทางปฏิบัติงานของหน่วยงานและรัฐวิสาหกิจในสังกัด วานนี้ (29 ส.ค.) ว่า โครงการสำคัญที่จะเร่งดำเนินการ คือ โครงการแอร์พอร์ตลิงก์ส่วนต่อขยาย ช่วงพญาไท-บางซื่อ-ดอนเมือง และช่วงสุวรรณภูมิ-สนามบินอู่ตะเภา-ระยอง โดยใช้เงินลงทุนจากการพัฒนาที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ที่มีจำนวนมาก เช่น โครงการมักกะสันคอมเพล็กซ์ พื้นที่กว่า 400 ไร่ มาลงทุนเอง โดยไม่ต้องใช้งบประมาณ และผลักดันโครงการรถไฟความเร็วสูง โดยระยะแรก คาดว่า จะเริ่มดำเนินการเส้นทางกรุงเทพฯ-โคราช, กรุงเทพฯ-หัวหิน และ กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ และระยะที่ 2 จะขยายจากโคราช-หนองคาย และหัวหิน-บาดังเบซาร์ ส่วนรถไฟทางคู่ นั้นเป้าหมายใน 3 ปี จะก่อสร้างเพิ่มจาก 300 กิโลเมตรเป็น 3,000 กิโลเมตร

ส่วนค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายนั้น ถือเป็นนโยบายเร่งด่วน แต่ขอเวลาศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมก่อน โดยได้มอบหมายให้ปลัดกระทรวงคมนาคม เร่งสรุปข้อมูลในส่วนของโครงการที่เปิดให้บริการแล้ว คือ รถไฟฟ้าใต้ดิน MRT และรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ รวมถึงเจรจากับรถไฟฟ้าบีทีเอส หากตกลงกันได้ก็สามารถเริ่มดำเนินการได้ก่อน เนื่องจากคงไม่สามารถรอให้การก่อสร้างรถไฟฟ้าแล้วเสร็จทั้ง 10 สายก่อนได้ เพราะต้องใช้เวลาอีก 7-8 ปี โดยในช่วงแรกที่ยังมีรถไฟฟ้าให้บริการไม่ครบ10 สายอาจจะยังขาดทุน เพราะรายได้ไม่มากและรัฐอาจจะต้องชดเชยส่วนต่างให้เอกชนอยู่

ทั้งนี้ เบื้องต้นหากดำเนินการก่อสร้างครบ 10 สาย แล้วเสร็จแล้วใช้นโยบาย 20 บาท ตลอดสายนั้น คาดว่าจะมีผู้โดยสารรวมทั้งระบบประมาณ 7 ล้านเที่ยวต่อวัน คิดเป็นรายได้ 140 ล้านบาทต่อวัน ในขณะที่จะมีค่าใช้ค่าใช้จ่ายและค่าซ่อมบำรุงประมาณ 90 ล้านบาทต่อวัน เหลือรายได้จริงถึง 50 ล้านบาทต่อวัน นอกจากนี้ ยังจะมีรายได้จากการพัฒนาเชิงพาณิชย์และโฆษณาเพิ่มเติมอีกด้วยรวมแล้วคาดว่าจะมีรายได้ประมาณ 20,000 ล้านบาทต่อปี

พล.อ.อ.สุกำพล กล่าวว่า รถไฟฟ้าทั้ง 10 สายตามนโยบายของรัฐบาล จะเร่งดำเนินการให้เซ็นสัญญาก่อสร้างให้ได้ภายใน 4 ปี โดยในปีนี้จะเซ็นสัญญาได้ 2 สาย คือ สายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต และสายสีเขียว ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และ หมอชิต-สะพานใหม่ ส่วนปี 2555 จะเซ็นสัญญาอีก 5 สาย คือ 1.สายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี 2.สายสีส้ม ช่วงตลิ่งชัน-มีนบุรี 3.สายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง 4.ส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ และ 5.ส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ ส่วนที่เหลือจะเซ็นสัญญาภายในปี 2556

***เร่งออกแบบผุดสุวรรณภูมิเฟส 2 ในปี 55
นอกจากนี้ จะเร่งรัดการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเพื่อขยายขีดความสามารถตามผลศึกษาขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ซึ่งจะก่อสร้างอาคารผู้โดยสารภายในประเทศ (Domestic Terminal) แยกจากอาคารหลังเดิม และทางวิ่งเส้นที่ 3 (Runway 3) รองรับผู้โดยสารเพิ่มเป็น 65 ล้านคนต่อปี ซึ่งขณะนี้มีความพร้อมด้านเงินลงทุนแล้วดังนั้นจะเร่งเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อเริ่มออกแบบในปี 2555

ส่วนทางน้ำนั้น จะผลักดัน โครงการก่อสร้างเขื่อนยกระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา มูลค่า 14,000 ล้านบาท เพื่อช่วยในการเดินเรือสินค้า และแก้ไขสภาพตื้นเขินในช่วงหน้าแล้ง โครงการท่าเรือปากบารา จ.สตูล ท่าเรือสงขลา 2 และโครงการแลนด์บริดจ์ โดยจะเน้นการทำความเข้าใจในเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อมกับประชาชนในพื้นที่ เพราะโครงการจะเกิดประโยชน์ต่อการส่งออกของประเทศ โดยเฉพาะยางพาราที่ไทยเป็นผู้ผลิตมากที่สุดในโลก แต่กลับเป็นมาเลเซียที่ส่งออกได้มากกว่า เนื่องจากผู้ผลิตไทยต้องไปส่งออกที่ท่าเรือปีนังของมาเลเซียแทน

“โครงการท่าเรือใช้เงินลงทุนสูง แต่ถ้าเปิดให้นักลงทุนต่างชาติ เช่น จีน, ญี่ปุ่น หรือตะวันออกกลาง ซึ่งเป็นผู้ใช้บริการโดยตรงเข้ามาลงทุนด้วยจะมีความเป็นไปได้มาก เพราะใช้เองเมื่อลงทุนเองก็คงต้องทำให้เกิดความคุ้มค่า และการขนส่งผ่านท่าเรือปากบาราไปจีน จะใช้เวลาสั้นกว่าผ่านช่องแคบมะละกามาก

*** ทดลอง 20 บ.ตลอดสายประเมินผู้โดยสารก่อนใช้จริง
นายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม ปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า คาดว่า จะใช้เวลาประมาณ 2 เดือนศึกษารายละเอียดรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายแล้วเสร็จ จากนั้นจะทดลองจัดเก็บราคา 20 บาทประมาณ 1 เดือน เพื่อให้เห็นตัวเลขปริมาณผู้โดยสารที่แท้จริง ก่อนสรุปเสนอ รมว.คมนาคมพิจารณาเพื่อเสนอ ครม.ต่อไป ซึ่งคาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้จริงไม่เกินต้นปีหน้า ซึ่งหากบีทีเอสไม่เข้าร่วมผู้โดยสารอาจจะหนีมาใช้ รถไฟฟ้าใต้ดินและแอร์พอร์ตลิ้งค์แทนเนื่องจากมีสถานีที่เชื่อมต่อกันได้

ส่วน การขยายสุวรรณภูมิแบ่งเป็น 2 ระยะโดย ช่วงที่ 1 ลงทุน 21,899.42 ล้านบาทแล้วเสร็จในปี 2558 จะก่อสร้างอาคารผู้โดยสารภายในประเทศ 9,133.520 ล้านบาท, ทางวิ่งเส้นที่ 3 (Runway 3) และทางขับ (Taxiway) วงเงินกว่า 3,000 ล้านบาท และค่าชดเชยผลกระทบทางเสียอีก 7,000 ล้านบาทเป็นต้น รองรับผู้โดยสารเพิ่มเป็น 65 ล้านคนต่อปี ซึ่งเท่ากับแผนเดิมที่ ครม.อนุมัติไปแล้ว แต่ใช้เงินลงทุนถึง 6.2 หมื่นล้านบาท ดังนั้น จะมีการเสนอ ครม.เพื่อขอปรับแนวทางใหม่
กำลังโหลดความคิดเห็น