นครศรีธรรมราช- “เครือข่ายป้องใต้” เดินหน้าแผนปฏิบัติการ “เพชรเกษม 41” ปรับแผนต้านโรงไฟฟ้าถ่านหินท่าศาลา-หัวไทร ที่ จ.ชุมพร ในวันที่ 21-22 ส.ค. พร้อมเข้าพบผู้ว่าราชการจังหวัด แจ้งถึงผลสรุปการหารือระหว่างท้องถิ่น ท้องที่ และประชาชนด้วย ขณะที่กิจกรรมอุ่นเครื่องเพชรเกษม 41 กลุ่มเครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูลเข้ายื่นหนังสือถึงผู้ว่าฯ ผ่านไปถึงนายกฯ และยื่นถึงส.ส. ยืนยันคนสตูลไม่ต้องการแลนด์บริดจ์ และท่าเรือปากบารา
ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้า ในการติดตามโครงการเตรียมการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในพื้นที่นครศรีธรรมราช ซึ่งตามเป้าหมายได้ถูกกำหนดใน 2 พื้นที่ คือ อ.หัวไทร และ อ.ท่าศาลา โดยล่าสุดมีแนวโน้มที่จะมีการเริ่มโครงการอย่างเต็มรูปแบบใน อ.หัวไทร เนื่องจาก กฟผ.มีความเคลื่อนไหวอย่างหนักมากขึ้นในด้านต่างๆ เช่น การพาคนไปท่องเที่ยวศึกษาดูงานในประเทศเยอรมนี และออสเตรเลีย รวมทั้งความเคลื่อนไหวของเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลพัฒนาพลังงานไฟฟ้านครศรีธรรมราช (ศูนย์เตรียมการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหิน)
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ ฝ่ายสื่อสารองค์กรของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)ได้ชี้แจงถึงกระบวนการต่างๆ ในพื้นที่ ว่า เป็นไปตาม 7 ขั้นตอน ซึ่งในส่วนของนครศรีธรรมราช ยังอยู่เพียงแค่ขั้นที่ 1 คือ การให้ความรู้ความเข้าใจเท่านั้น และยังไม่มีการจัดซื้อที่ดิน ตามที่มีการให้ข้อมูลว่า กฟผ.กว้านซื้อที่ดินไว้จำนวนกว่า 2,000 ไร่ หรือการจัดงบประมาณ 30 ล้านบาท ให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.)ในพื้นที่ อ.หัวไทร แต่อย่างใด
แหล่งข่าวรายหนึ่ง เปิดเผยว่า ที่มีการชี้แจงออกมาจากฝ่ายสื่อสารองค์กร กฟผ. เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ ซึ่งเป็นระเบียบปฏิบัติที่เป็นไปตามกรอบระเบียบกฎหมาย ต้องเข้าใจว่า ระดับผู้บริหารมอบแค่กรอบนโยบายให้ผู้ปฏิบัติในพื้นที่ไปทำเป็นระบบเดียวกับข้าราชการ ในส่วนของ อ.หัวไทร ที่มีปัญหามากส่วนหนึ่งมาจากเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติที่อยู่ในพื้นที่ ขณะที่ อปท.ต่างๆ ที่เตรียมทำโครงการเสนอในระยะนี้ต้องประสบปัญหาแน่นอน เนื่องจากการขอสนับสนุนจะถูกจับตามองเป็นพิเศษ
การทำงานในพื้นที่ ต้องยอมรับว่า กฟผ.อยู่ในลักษณะเหมือนกับการหาเสียงทางการเมือง พยายามหาเสียงผู้สนับสนุนให้มากที่สุด เพื่อบรรลุเป้าหมาย คือ การก่อสร้างโรงไฟฟ้าให้เกิดขึ้นให้ได้เพียงแค่นั้น ส่วนวิธีการต้องยอมรับว่า มีทั้งบนดินใต้ดิน เช่น เมื่อหาเสียงสนับสนุนให้มีโรงไฟฟ้าก็ต้องใช้วิธีต้องมีการสนับสนุนเงิน สนับสนุนสิ่งของไปยังจุดต่างๆ เช่น วัด โรงเรียน อปท. ผู้นำท้องถิ่น โดยจุดนี้ กฟผ.ก็ต้องตอบให้ได้ว่า นำเงินมาจากส่วนไหนในการจัดกิจกรรมต่างๆ เพราะต้องใช้เงินจำนวนมาก
“วิธีนี้ถ้าเป็นการเมืองเขาเรียกว่า “ซื้อเสียง” แต่ กฟผ.เรียกว่า การทำ CSR ซึ่งแท้จริงควรที่จะเปิดโอกาส เปิดกว้างในการให้ความรู้ การพบปะทำความเข้าใจและชี้แจงข้อมูลมากกว่า ซึ่งถ้าคนที่คิดเห็นแตกต่างกับ กฟผ.ผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่จะมองว่าเป็นฝ่ายต่อต้านเป็นฝ่ายศัตรูทันที ซึ่งไม่ใช่วิสัยของผู้ที่จะมารับความเห็น คงเป็นเพียงแค่สถานะของผู้ที่มาให้ความรู้จริงๆ คือ จะต้องให้คนรู้ในสิ่งที่ กฟผ.อยากให้รู้เท่านั้นเอง ส่วนนอกจากนั้นสิ่งที่คนไปรู้ในสิ่งที่ กฟผ.ไม่อยากให้รู้จะถูกมองเป็นฝ่ายตรงข้ามไปทันที”
ขณะที่ นายทรงวุฒิ พัฒแก้ว ผู้ประสานงานการเข้าร่วมแผนปฏิบัติการเพชรเกษม 41 ซึ่งเป็นกิจกรรมในการเรียกร้องให้ภาคใต้ คนใต้ได้กำหนดวิถีชีวิตของตนเองและปฏิเสธอุตสาหกรรมหนักในด้านต่างๆ รวมทั้งการฟื้นแผนพัฒนาภาคใต้ทั้งในส่วนของแลนด์บริดจ์ เซาเทิร์นซีบอร์ด อุตสาหกรรมพลังงาน เช่น โรงไฟฟ้าถ่านหิน ปิโตรเลียม เปิดเผยว่า ได้มีการหารือกันเป็นระยะๆ ในส่วนของโรงไฟฟ้าถ่านหินของนครศรีธรรมราช 2 จุด คือ อ.ท่าศาลา และ อ.หัวไทร จะมีการเคลื่อนไหวกันอีกครั้งหลังจากเสร็จกิจกรรม เพชรเกษม 41 ที่ จ.ชุมพร ในวันที่ 21-22 ส.ค.นี้
“ทั้งการปฏิเสธโรงไฟฟ้าถ่านหินใน อ.ท่าศาลา และ อ.หัวไทร เป็นเนื้อเดียวกันมีความร่วมมือกัน ซึ่งหลังจากวันที่ 22 ส.ค.เราจะเริ่มจากการพูดคุยกับผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราชอีกรอบ ซึ่งเป็นเรื่องที่เราทบทวนและต้องแจ้งถึงการสรุปการหารือระหว่างท้องถิ่น ท้องที่ และประชาชนให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทราบ จากเหตุการณ์เมื่อ 24 ก.พ.2554 และจากการลงนามแสดงเจตนารมณ์ร่วมกัน เมื่อ 24 มิ.ย.2554 ถึงเจตนารมณ์ของภาคการเมืองระดับชาติใน อ.ท่าศาลา ซึ่งที่ อ.ท่าศาลา กฟผ.จะยุติหรือไม่นั้น จะหารือกันอีกครั้ง” นายทรงวุฒิ กล่าว
ทั้งนี้ จะมีการเชิญตัวแทนจากพรรคประชาธิปัตย์ พรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นรัฐบาล ภาคประชาชน และข้าราชการในท้องที่ มากำหนดร่วมกันว่าจะเอากันอย่างไร หากมีการเดินหน้าถือว่าไม่เคารพมติซึ่งกันและกัน
สำหรับการจัดกิจกรรมตามแผนเพชรเกษม 41 ก่อนที่จะมีกิจกรรมใหญ่ที่ชุมพร เมื่อวันที่ 17 ส.ค.ที่ผ่านมา ที่จ.สตูล กลุ่มเครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูล ได้ยื่นหนังสือผ่านผู้ว่าฯสตูลไปถึงนายกฯยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เรื่องการทบทวนโครงการเมกะโปรเจกต์ในภาคใต้
นอกจากนี้ ช่วงเย็นวันเดียวกัน เครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูล นำประชาชนและกลุ่มเยาวชนใน ต.ปากบารา อ.ละงู จ.สตูล ร่วมทำแพลงกิ้งนอนคว่ำหน้าบนผืนทรายในอ่าวปากบาราในขณะที่น้ำทะเลลงจนเห็นหาดทรายยาวนับกิโลเมตร เพื่อสื่อสัญลักษณ์ในระดับสากลถึงการปกป้องทรัพยากรทางทะเล ที่เป็นแหล่งพักผ่อน แหล่งทำมาหากินของชาวบ้าน ซึ่งชาวต่างชาติทั้งที่เป็นนักวิชาการและนักท่องเที่ยวเริ่มให้ความสนใจติดตามข้อมูล หลังจากที่มีโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบาราเดินหน้าจนผ่านรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และอยู่ระหว่างการขออนุญาตเพิกถอนแนวเขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา เพื่อถมทะเลในบริเวณอ่าวปากบาราก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา ภายในโครงการแลนด์บริดจ์สงขลา-สตูล
ขณะที่ วานนี้( 18 ส.ค.)เครือข่ายประชาชนฯ จำนวน 20 คนได้เดินทางไปยังสำนักงานของ นายธานินทร์ ใจสมุทร ส.ส สตูล เพื่อยื่นหนังสือไม่เห็นด้วยกับนโยบายรัฐบาลที่กำลังจะถูกประกาศในอนาคต ในเรื่องของแลนด์บริดจ์สงขลา-สตูล และท่าเรือน้ำลึกปากบารา