xs
xsm
sm
md
lg

จะเกิดเหตุที่ปากบารา (2)

เผยแพร่:   โดย: บรรจง นะแส

หากเราตามหาร่องรอยและความเป็นมาของโครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกขึ้นที่ปากบารา เราก็จะพบว่าโครงการดังกล่าวเกิดขึ้นจากการที่สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้มีความเห็นไปยังรัฐบาลว่าควรให้ความสำคัญในการเชื่อมโยงการขนส่งเร่งสนับสนุนให้มีการก่อสร้างท่าเรือเชื่อมฝั่งอันดามัน-กับอ่าวไทย และสนับสนุนให้มีการพัฒนาสร้างอุตสาหกรรมต่างๆ ขึ้นรองรับ จึงเป็นที่มาของการผลักดันมติ ครม.โดยรัฐบาลภายใต้การนำของพรรคประชาธิปัตย์ได้อนุมัติงบประมาณในการก่อสร้างงวดแรกจากงบประมาณไทยเข้มแข็ง 11,140 ล้านบาท เพื่อก่อสร้างท่าเทียบเรือน้ำลึกปากบารา เมื่อเดือน พ.ย. 2552 ของกระทรวงคมนาคม เป็นที่มาของยุทธศาสตร์การปรับปรุงและพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกทางการค้าและการลงทุน (ลอจิสติกส์)

การวางแผนการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบาราจังหวัดสตูล และท่าเทียบเรือน้ำลึกสงขลาแห่งที่ 2 เพื่อให้สามารถรองรับเรือขนส่งสินค้าขนาดประมาณ 50,000-70,000 ตัน/วัน รวมถึงสาธารณูปโภคพื้นฐาน ถนน ทางรถไฟ คลังน้ำมันและเตรียมพื้นที่สำหรับจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม และได้มีการว่าจ้างบริษัท เอทีที คอนซัลแตนท์ จำกัด บริษัท ทีมคอนซัลแตนท์ แอนเมเนจเมนท์ จำกัด และบริษัท แปซิฟิก คอนเซ้าท์แตนท์ อินเตอร์แนชั่นแนล จำกัด สำรวจความเหมาะสม ออกแบบโครงการและศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมตั้งแต่ปี 2546 ปฏิบัติการของส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องจึงเดินหน้าและชุมชนก็เริ่มตระหนกตกใจกับสิ่งแปลกปลอมต่างๆ ที่คืบคลานเข้าสู่ชุมชนของพวกเขา

อ่าวปากบาราในวันนี้ มีพื้นที่ประมาณ 10 ตารางกิโลเมตร เป็นอ่าวที่เชื่อมจากปากคลองปากบารา มีการใช้ประโยชน์ร่วมกันหลายอาชีพทั้งด้านการประมงและการท่องเที่ยว ในอดีตบริเวณอ่าวปากบารามีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรทางทะเลประเภท กุ้ง หอย ปู ปลา และป่าชายเลน ทำให้มีคนหลากหลายกลุ่มมาตั้งชุมชนบริเวณริมชายหาด และทยอยขึ้นมาอาศัยบริเวณป่าชายเลนเสื่อมโทรมแต่หลังจากมีการอ้างสิทธิในที่ดินของป่าชายเลนเสื่อมโทรมจากเจ้าของที่ดิน จากนายทุนอดีตเจ้าของโรงเตาเผาถ่าน ทำให้ชุมชนบริเวณอ่าวปากบาราต้องกระจัดกระจายกันออกไปเป็นหย่อมๆ

อาชีพในอดีตและปัจจุบันของชุมชนรอบๆ อ่าวปากบารา คือ หาหอย ทำการประมงด้วยเรือพาย บริเวณใกล้ๆ ชายหาด ก็ทำหอยตากแห้งนำไปขายที่ในตลาดละงูโดยทางเรือปัจจุบันก็ไปทางรถยนต์ เป็นลูกจ้างแบกไม้ป่าชายเลนให้เตาเผาถ่านปัจจุบันเตาเผาถ่านที่ถูกต้องตามกฎหมายถูกยกเลิกไปแล้ว เป็นลูกจ้างแกะพุงปลาทูเพื่อทำปลาทูเข่งให้นายทุนปัจจุบันก็ทำปลากะตักตากแห้ง เป็นต้น ตลอดแนวชายฝั่งจังหวัดสตูลมีชาวประมงพื้นบ้านซึ่งนับถือศาสนาอิสลามกว่าร้อยละ 9 ของจำนวนประชากรทั้งหมดซึ่งในพื้นที่อ่าวปากบาราก็เช่นกัน

ชาวประมงพื้นบ้านรอบอ่าวปากบาราซึ่งปัจจุบันมีอยู่ 7 หมู่บ้าน คือ บ้านปากบารา บ้านตะโล๊ะใส บ้านท่ามาลัย บ้านบ่อเจ็ดลูก บ้านปากละงู บ้านหัวหิน และบ้านปากบาง สามารถออกไปทำการประมงพื้นที่ไกลๆ ได้ คือ บริเวณหน้าเกาะตะรุเตาและเกาะบูโหลน แต่ถ้าเป็นช่วงมรสุมระหว่างเดือนเมษายนถึงเดือนตุลาคมจะทำการประมงภายในพื้นที่บริเวณอ่าวปากบาราก็จะมีชาวประมงพื้นในพื้นที่อื่นเข้ามาทำการประมงบริเวณนี้ด้วยๆ เช่น มาจากบ้านโคกพะยอม อ.ละงู บ้านสาคร อ.ท่าแพ บ้านราไว บ้านขอนคลาน อ.ทุ่งหว้า บ้านเกาะสาหร่าย บ้านตันหยงอุมา อ.เมือง

เครื่องมือที่ใช้ในการทำการประมงก็คือ อวนปลาทู อวนปู อวนกุ้ง อวนปลาทราย ลอบหมึก เรือประมงที่ใช้ก็เป็นเรือขนาดเล็กในอดีตไม่มีท่าเทียบเรือที่แน่นอนส่วนใหญ่ชาวประมงจะจอดเรือไว้ในคลองเล็กๆ ริมชายหาดหรือป่าชายเลนใกล้บ้านเพื่อให้ง่ายต่อการดูแลหากเกิดฝนตกหรือคลื่นลมแรงและการขึ้นลงของทะเลเพราะบริเวณอ่าวปากบาราน้ำจะเชี่ยวมากอาจจะทำให้เรือ และเครื่องมือเสียหายได้หากจอดเรือไว้ในพื้นที่เสี่ยงและไกลที่พักเกินไป

ในคลองปากบารายังมีอาชีพการเพาะเลี้ยงจำนวนมาก โดยการทำกระชังเลี้ยงปลาเก๋า ปลากกะพง ซึ่งมีกว่า 1,000 กระชัง ภายในคลองปากบาราซึ่งเป็นแนวยาวตลอดสายคลอง การเลี้ยงปลาเก๋าปลากะพงได้มีส่วนสร้างรายได้ให้กับกลุ่มทำอาชีพเพาะเลี้ยงในแต่ละปีจำนวนมาก ปัจจุบันบริเวณปากคลองและในคลองปากบารามีท่าเรือสำหรับเรือประมงขนาดกลางใช้ในการขึ้นปลาจากการทำประมง และเป็นท่าเรือไว้ให้บริการนักท่องเที่ยวที่จะไปตามเกาะแก่งต่างๆ

ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน-เมษายนของแต่ละปีจะเป็นฤดูกาลท่องเที่ยวของฝั่งอันดามัน บริเวณท่าเรือปากบาราจะคลาคล่ำไปด้วยบรรดานักท่องเที่ยวที่จะเดินทางไปยังเกาะตะรุเตา เกาะบูโหลน เกาะอาดัง เกาะราวี เกาะลิเปะ เกาะไข่ ฯลฯ เพื่อท่องเที่ยวทางทะเล ดำน้ำดูปะการัง ท่องเที่ยวตกปลา ฯลฯ ซึ่งต้องผ่านทางท่าเรือปากบาราโดยมีบริษัทนำเที่ยวประมาณ 15 บริษัท ท่าเรือปากบาราซึ่งพัฒนาการมาจากการใช้เป็นท่าเรือสัญจรธรรมดาเพื่อเดินทางของชาวประมง เดินทางไปยังเกาะต่างๆ โดยเฉพาะชาวบ้านบ่อเจ็ดลูกและชาวประมงที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เกาะ หากต้องการขึ้นฝั่งต้องมาขึ้นที่ท่าเรือปากบารา

ต่อมาเมื่ออุทยานแห่งชาติตะรุเตาเปิดให้บริการที่พักและการท่องเที่ยว ในช่วงประมาณปี 2538 จึงมีการปรับเปลี่ยนจากท่าเรือประมงไปบริการด้านการท่องเที่ยวมากขึ้น เมื่อธุรกิจการท่องเที่ยวพัฒนาไปยังเกาะลิเปะ เกาะอาดัง เกาะบูโหลน ในปี 2540 ได้มีการพัฒนาการเดินทางสู่เกาะต่างๆ ด้วยเรือเฟอร์รี่ จำนวนนักท่องเที่ยวก็เพิ่มจำนวนมากขึ้นในทุกปี ปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวที่เดินทางผ่านท่าเรือปากบาราเพื่อเดินทางไปยังเกาะต่างๆ ปีละกว่า 100,000 คนเป็นรายได้ของจังหวัดสตูลไม่ต่ำกว่า 5,000,000,000 บาท/ปี

นอกจากนั้น พื้นที่อ่าวปากบารายังเป็นแหล่งหญ้าทะเล จึงเป็นแหล่งอาศัยของปลากพะยูน และโลมาจำนวนมาก ข้อมูลที่สำนักงานอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตราซึ่งมีข้อมูลว่า พะยูนในพื้นที่ จ.สตูล นั้นที่ได้ค้นพบเป็นสายพันธุ์ชื่อ Dugong Dugon (ดูกอง ดูกอน) หรือเรียกว่าดุหยง มีการค้นพบในจังหวัดสตูลในพื้นที่เกาะลีดีซึ่งอยู่หน้าหาดปากบาราและพบว่ามีพะยูนอยู่อาศัยอยู่ประมาณ 20 ตัว อาศัยและหากินหญ้าทะเลอยู่ในบริเวณนั้น หญ้าทะเลมีแหล่งสำคัญ 3 จุด คือ เกาะเขาใหญ่ เกาะบุหลัน มีปะการัง บริเวณปากคลองพบแหล่งหญ้าทะเล 2 ชนิดซึ่งเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำ มีพื้นที่ประมาณ 30 ไร่

เกาะลิดีน้อย เกาะลิดีใหญ่ เป็นแนวปะการัง มีแหล่งหญ้าทะเลประมาณ 400 ไร่ พบหญ้าทะเล 5 ชนิด ค่อนข้างอุดมสมบูรณ์ พื้นที่บ้านบากันโต๊ะทิด มีแหล่งหญ้าทะเลอุดมสมบูรณ์กระจายเป็นพื้นที่ประมาณ 400 ไร่ในส่วนของหญ้าทะเลนั้นมีความสำคัญเป็นอย่างมากสำหรับพะยูนซึ่งมีอยู่ที่บริเวณนี้ หญ้าทะเลที่พบมีหลายชนิดหลายสายพันธุ์ด้วยกันได้แก่ thaiassia hemprichii Cymodocea, serrulata, Enhalus, acoroides Halophila oualis ซึ่งพื้นที่บริเวณนี้จะต้องสูญหายไปหากมีการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกขึ้นที่นี่

อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา ซึ่งมีวัตถุประสงค์หลักของการจัดตั้งอุทยานคือเพื่อการรักษาความอุดมสมบูรณ์ และความหลากหลายของระบบนิเวศน์ในบริเวณเขตอุทยาน (กรมขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวีมีหนังสือถึงหัวหน้าอุทยานแห่งชาติ หมู่เกาะเภตรา จ.สตูล ลงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2549 ขอใช้พื้นที่บริเวณเกาะเขาใหญ่ในส่วนพื้นที่เป็นน้ำจำนวน 7,741-2-96 ไร่) เพื่อใช้เป็นพื้นที่ในการก่อสร้างท่าเทียบเรือน้ำลึกปากบารา

ประเทศของเราถูกหาผลประโยชน์ ถูกครอบงำ ถูกกำหนดทิศทางและเป้าหมายของการพัฒนาตามทิศทางของประเทศทางตะวันตกที่เน้นระบอบทุนนิยมเสรีผ่านระบบราชการที่ทรงอำนาจ (ที่ฉ้อฉลและไร้ธรรมาภิบาล) ผนวกกับนักการเมืองที่เป็นตัวแทนของกลุ่มผลประโยชน์จำนวนน้อยนิดที่มีอยู่ในสังคมทั้งในระดับพื้นที่และในระดับชาติเป็นผู้เก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากการพัฒนาไว้เฉพาะกลุ่มเฉพาะพวก ส่งผลให้เกิดภาวะรวยกระจุกจนกระจาย ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอันเป็นฐานการผลิตที่หล่อเลี้ยงคนส่วนใหญ่ถูกทำลายลงอย่างย่อยยับ ความอดอยากยากแค้นจึงเกิดขึ้นทุกหัวระแหง ปัญหาทางด้านสิ่งแวดล้อมอันเป็นมลพิษกระจายไปทั่ว

ถึงเวลาหรือยังที่สังคมไทยจะลุกขึ้นมาต่อกรกับทิศทางการพัฒนาและกับกลุ่มคนจำนวนน้อยที่เข้ามาเป็นผู้กำหนด “ท่าเรือน้ำลึกปากบารา” อ่าวปากบาราคือสนามรบที่กำลังจะเป็นสถานที่ประลองกำลังอีกครั้งว่า วันนี้พลังขับเคลื่อนของผู้คนในพื้นที่ และของสังคมไทยที่ตื่นรู้และตระหนักถึงพิษภัยของการพัฒนาที่ดำรงอยู่ในปัจจุบัน ฝ่ายไหนจะเป็นฝ่ายกำชัยชนะในที่สุด.
กำลังโหลดความคิดเห็น