xs
xsm
sm
md
lg

เผยยอดใช้น้ำมันเดือน ก.ค.เบนซินลด 9% อี20 เพิ่ม 3% แอลพีจีภาคอุตฯ วูบ 13%

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กรมธุรกิจพลังงาน เผยยอดใช้น้ำมันเดือน ก.ค. พบว่า “เบนซิน” ลดลง 9% หลังราคาขยับพรวด 6 บาท ส่วนการใช้ก๊าซแอลพีจี ภาคอุตฯ วูบลง 13% สวนทางภาคขนส่ง พุ่งขึ้น 9% ขณะที่การใช้พลังงานทดแทน มีสัดส่วนเพิ่มขึ้น โดยพบว่าการใช้แก๊สโซฮอล์ อี 20 เพิ่มขึ้น 3% และแก๊สโซฮอล์ อี 85 เพิ่มขึ้น 10%

นายวีระพล จิรประดิษฐกุล อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำมันเชื้อเพลิงในเดือนกรกฎาคม 2554 โดยระบุว่า การใช้น้ำมันเชื้อเพลิงทุกชนิดลดลงจากเดือนมิถุนายน 2554 เนื่องจากเข้าสู่ช่วงฤดูฝน มีลมมรสุมพัดผ่านประเทศไทย ประกอบกับการหมดช่วงฤดูพืชผลจากการเกษตร โดยการใช้กลุ่มน้ำมันเบนซิน ปรับลดลง 5% จาก 20.8 ล้านลิตรต่อวัน อยู่ที่ 19.8 ล้านลิตรต่อวัน และการใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็วปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 49.1 ล้านลิตรต่อวัน ลดลงจากเดือนก่อน 8%

ส่วนปริมาณการใช้ก๊าซหุงต้ม (LPG) อยู่ที่ 563,000 ตันต่อเดือน หรือ 18,100 ตันต่อวัน ปรับลดลง 0.3% เช่นเดียวกับก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (NGV) ที่มีการใช้ลดลง 2% จาก 6.8 ล้านกิโลกรัมต่อวัน อยู่ที่ 6.7 ล้านกิโลกรัมต่อวัน โดย ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม 2554 มีรถยนต์ที่ติดตั้งเครื่องยนต์ NGV จำนวน 275,239 คัน

เมื่อเปรียบเทียบการใช้น้ำมันกลุ่มเบนซิน พบว่า การใช้น้ำมันเบนซิน 91 และเบนซิน 95 อยู่ที่ 7.2 ล้านลิตรต่อวัน ลดลง 9% และการใช้แก๊สโซฮอล์รวมอยู่ที่ 12.5 ล้านลิตรต่อวัน ลดลง 2% โดยเป็นการลดลงของน้ำมันทุกชนิด ยกเว้นแก๊สโซฮอล์ อี 20 และแก๊สโซฮอล์ อี 85 เพิ่มขึ้น 3% และเพิ่มขึ้น 10% ตามลำดับ การใช้แก๊สโซฮอล์ อี85 ปัจจุบันอยู่ที่ 0.029 ล้านลิตรต่อวัน

สำหรับการใช้ LPG อยู่ที่ 563,000 ตันต่อเดือน หรือ 18,100 ตันต่อวัน ลดลง 0.3% โดยเป็นผลจากการใช้ในภาคอุตสาหกรรม 60,000 ตันต่อเดือน หรือ 1,900 ตันต่อวัน ลดลง 13% และภาคปิโตรเคมี 189,000 ตันต่อเดือน หรือ 6,100 ตันต่อวัน ลดลง 1% ในขณะที่การใช้ภาคครัวเรือนอยู่ที่ 226,000 ตันต่อเดือน หรือ 7,300 ตันต่อวัน เพิ่มขึ้น 1% ภาคขนส่ง 87,000 ตันต่อเดือน หรือ 2,800 ตันต่อวัน เพิ่มขึ้นถึง 9% และในเดือนกรกฎาคมมีการนำเข้า LPG 146,400 ตัน โดยกองทุนจ่ายชดเชยอยู่ที่ประมาณ 2,500 ล้านบาท

ทั้งนี้ เดือนกรกฎาคม 2554 ได้เริ่มปรับราคาขายปลีก LPG ภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นไตรมาสละ 3 บาทต่อกิโลกรัม เพื่อสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง (มีผลตั้งแต่วันที่ 19 กรกฎาคม 2554) ซึ่งกรมธุรกิจพลังงานได้ออกประกาศกำหนดให้ผู้ค้า LPG ตามมาตรา 7 โรงงานอุตสาหกรรมที่ใช้ LPG จากถังเก็บและจ่ายก๊าซ (Bulk) และสถานีบริการ LPG ต้องแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับปริมาณก๊าซที่ซื้อหรือได้มา ที่ใช้ไป ที่จำหน่าย และคงเหลือในแต่ละเดือนต่อกรมธุรกิจพลังงานภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไปเป็นประจำทุกเดือนเพื่อกำกับดูแลให้การใช้ LPG เป็นไปตามนโยบายในการปรับราคา

สำหรับการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงเดือนกรกฎาคม 2554 มีปริมาณนำเข้ารวมทั้งหมด 892,000 บาร์เรลต่อวัน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 8% และมูลค่านำเข้า 94,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10% แบ่งเป็นการนำเข้าน้ำมันดิบ 822,000 บาร์เรลต่อวัน มูลค่านำเข้า 88,000 ล้านบาท และน้ำมันสำเร็จรูป 69,000 บาร์เรลต่อวัน มูลค่านำเข้า 5,600 ล้านบาท ส่วนการส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปมีปริมาณ 227,000 บาร์เรลต่อวัน เป็นมูลค่าส่งออก 25,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 42% และ 49% ตามลำดับ

นายวีระพลกล่าวถึงสถานการณ์น้ำมันเชื้อเพลิงในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2554 กับช่วงเดียวกันของปี 2553 พบว่าการใช้พลังงานทดแทนเพิ่มขึ้นทุกชนิด โดยแก๊สโซฮอล์ มีการใช้เพิ่มขึ้น 6% จาก 11.9 ล้านลิตรต่อวัน เป็น 12.6 ล้านลิตรต่อวัน NGV การใช้เพิ่มขึ้น 35% จาก 4.7 ล้านกิโลกรัมต่อวัน เป็น 6.4 ล้านกิโลกรัมต่อวัน

ในขณะที่การใช้น้ำมันเบนซิน 91 และเบนซิน 95 ปรับตัวลดลง 7% จาก 8.3 ล้านลิตรต่อวัน เป็น 7.8 ล้านลิตรต่อวัน ซึ่งเป็นผลจากในปี 2554 ราคาน้ำมันได้ปรับตัวสูงขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนเกือบ 6 บาทต่อลิตร

ส่วนน้ำมันดีเซลหมุนเร็วปรับตัวเพิ่มขึ้น 3% จาก 50.6 ล้านลิตรต่อวัน เป็น 52.1 ล้านลิตรต่อวัน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากนโยบายตรึงราคาของรัฐบาลให้อยู่ที่ระดับ 29.99 บาทต่อลิตร ตั้งแต่ต้นปี ดังนี้

สำหรับการใช้ LPG ใน 7 เดือนแรกของปี 2554 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 22% จาก 14,300 ตันต่อวัน หรือ 433,500 ตันต่อเดือน เป็น 17,400 ตันต่อวัน หรือ 540,000 ตันต่อเดือน โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของทุกภาคการใช้ โดยภาคปิโตรเคมีเพิ่มขึ้นถึง 54% ตามการขยายตัวของธุรกิจปิโตรเคมี ส่วนภาคขนส่งเพิ่มขึ้น 31% เนื่องจากราคาขายปลีกน้ำมันกลุ่มเบนซินและดีเซลปรับตัวเพิ่มขึ้นสูง ส่วนการใช้ในภาคครัวเรือนเพิ่มขึ้น 7% และภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น 1%

สำหรับการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงโดยรวมในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2554 อยู่ที่ 857,000 บาร์เรลต่อวัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 1% ในขณะที่มูลค่านำเข้า 599,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 29% แบ่งเป็นการนำเข้าน้ำมันดิบ 805,000 บาร์เรลต่อวัน มูลค่า 570,000 ล้านบาท และน้ำมันสำเร็จรูป 52,000 บาร์เรลต่อวัน มูลค่า 28,700 ล้านบาท ทั้งนี้เป็นการนำเข้า LPG เฉลี่ย 118,000 ตันต่อเดือน มูลค่ารวม 23,400 ล้านบาท และกองทุนจ่ายชดเชยรวม 15,500 ล้านบาท ส่วนการส่งออกน้ำมันสำเร็จรูป อยู่ที่ 167,000 บาร์เรลต่อวัน ลดลง 9% มูลค่า 123,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 19%

นายวีระพล กล่าวถึงราคาน้ำมันในตลาดโลกในขณะนี้ว่า เมื่อช่วงต้นเดือนสิงหาคม 2554 ที่ผ่านมา ราคาได้ปรับตัวลดลงกว่า 10 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ซึ่งสะท้อนความกังวลของนักลงทุนเกี่ยวกับเศรษฐกิจและการเติบโตของอุปสงค์น้ำมันโลก อย่างไรก็ตาม EIA ได้คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัส (WTI) ในเดือนสิงหาคมโดยรวมอยู่ที่ 88 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และในไตรมาสที่ 3 นี้ จะอยู่ที่ระดับ 92.18 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
กำลังโหลดความคิดเห็น