ผู้ใช้รถติดก๊าซ “แอลพีจี” ได้เฮ! แผนรีดภาษีปีละ 3 หมื่นส่อเค้าล่ม เพราะต้องแก้ กม.หลายฉบับ “วีระพล” ยอมรับ ปริมาณการใช้ในภาคขนส่งพุ่งกระฉูด คาดปีนี้ยอดใช้แตะ 7.5 แสนตัน ด้านผู้ค้าเตือนบิดเบือนกลไกตลาดทำวุ่น หวั่นรัฐแบกภาระหลังแอ่น แอบดึงภาษีด้านอื่นเข้าไปอุด
นายวีระพล จิรประดิษฐกุล อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน กล่าวถึงปริมาณการใช้ก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) ในภาคขนส่ง โดยพบว่า มีการเติบโตสูงขึ้นมาก เมื่อเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมา ซึ่งในปัจจุบันมีปริมาณใช้เดือนละ 6.3 หมื่นตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2553 ที่มีปริมาณการใช้เดือนละ 5.5 หมื่นตัน และยังคงมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง เพราะกระทรวงพลังงานไม่สามารถควบคุมปริมาณการใช้แอลพีจีในรถยนต์ได้
ส่วนความคืบหน้าในการจัดเก็บภาษีป้ายทะเบียนรถยนต์ที่เปลี่ยนเชื้อเพลิงจากการใช้น้ำมันเป็นก๊าซแอลพีจี ซึ่งในเบื้องต้นกำหนดให้เรียกเก็บในอัตราคันละ 3 หมื่นบาทต่อปี ตามข้อเสนอของกรมธุรกิจพลังงานนั้น ล่าสุด ฯ ต้องถูกระงับไป เพราะแนวทางดังกล่าวต้องแก้ไขกฎหมายถึง 2 ฉบับ คือ พ.ร.บ.รถยนต์ และ พ.ร.บ.การขนส่งทางบก
สำหรับภาพรวมการใช้แอลพีจีครึ่งปีหลัง คาดว่า จะมีการใช้เฉลี่ยเดือนละ 1.4 แสนตันจากครึ่งปีแรก ซึ่งการใช้เฉลี่ยอยู่ที่ 1.1 แสนตัน เนื่องจากการใช้ในภาคครัวเรือน ขนส่ง ปิโตรเคมียังคงขยายตัว ส่วนการปรับขึ้นแอลพีจีภาคอุตสาหกรรมนั้น ผู้ที่ได้รับผลกระทบคือกลุ่มที่ใช้แอลพีจีตั้งแต่ 1 ตันขึ้นไป ส่วนรายย่อยที่ใช้ต่ำกว่า 1 ตันสามารถใช้ถังแอลพีจีขนาด 48 กิโลกรัม จะได้รับอนุโลมจึงไม่ถูกปรับขึ้นราคา
ด้าน นายชิษณุพงศ์ รุ่งโรจน์งามเจริญ นายกสมาคมผู้ค้าแอลพีจี กล่าวว่า ต้องการให้รัฐบาลใหม่ทบทวนนโยบายการขึ้นราคาแอลพีจีภาคอุตสาหกรรมเนื่องจากการปรับขึ้นภาคเดียวจะส่งผลให้เกิดการลักลอบถ่ายเทจากครัวเรือนเพิ่มขึ้นซึ่งไม่ใช่การแก้ไขปัญหาที่ตรงจุด
ดังนั้น รัฐบาลควรจะปรับขึ้นในทุกภาคส่วนในอัตราที่เหมาะสมที่ทุกฝ่ายยอมรับได้เนื่องจากภาครัฐเองยังไม่มีมาตรการดูแลการลักลอบถ่ายเทใดๆ ซึ่งตัวอย่างราคาที่ต่ำกว่าในประเทศทำให้แอลพีจีไหลออกไปยังชายแดนเพื่อนบ้าน
“ราคาแอลพีจีภาคอุตสาหกรรมสูงขึ้นจะทำให้โรงงานส่วนหนึ่งหันมาใช้แอลพีจีถังครัวเรือนเพิ่มขึ้น เราจึงเป็นห่วงว่าที่สุดแล้วแอลพีจีครัวเรือนจะขาดแคลนหรือไม่ในอนาคตหากบริหารจัดการไม่ดีพอ ดังนั้นจึงต้องการให้มีการทบทวนโครงสร้างแอลพีจีใหม่ทั้งหมด รวมไปถึงก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (เอ็นจีวี) โดยต้องทำแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยให้ทยอยขึ้น เพื่อให้สะท้อนกลไกตลาดโลก เพราะหากยังคงบิดเบือนภาระจะตกที่รัฐและงบประมาณจำนวนมหาศาลในการมาอุดหนุน”