กรมธุรกิจพลังงาน สั่งผู้ค้ามาตรา 7 และผู้ประกอบการ 10 อุตสาหกรรม ต้องแจ้งตัวเลขการรับ-จ่ายก๊าซแอลพีจีทุกเดือน เพื่อตรวจสอบและป้องกันการลักลอบนำก๊าซแอลพีจีจากส่วนอื่นมาใช้ในภาคอุตสาหกรรม หลังคำสั่งลอยตัวที่จะมีผลในวันที่ 19 ก.ค.นี้
นายวีระพล จิรประดิษฐกุล อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน กล่าวว่า หลังจากที่ประกาศคำสั่งการปล่อยลอยตัวราคาก๊าซธรรมชาติ (แอลพีจี) ภาคอุตสาหกรรม และการเรียกเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจากผู้ค้ามาตรา 7 และผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการในวันที่ 19 กรกฎาคม 2554 นี้ ผู้ค้ามาตรา 7 ต้องแจ้งปริมาณก๊าซแอลพีจีที่ได้จัดส่งให้กับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมทั้ง 10 อุตสาหกรรม รวม 1,000 ราย ที่มีการใช้ถังก๊าซแอลพีจีรูปแบบใหม่ (เบ๊าซ์) ซึ่งเป็นถังคอมโพสิตที่มีขนาดเบากว่าถังเหล็ก เช่นเดียวกับผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมต้องแจ้งปริมาณก๊าซแอลพีจีที่ได้รับจากผู้ค้ามาตรา 7 ไปยังกรมธุรกิจพลังงาน เพื่อให้มีการตรวจปริมาณก๊าซแอลพีจีที่มีการรับ-จ่าย ว่า ตัวเลขทั้ง 2 ส่วนเท่ากันหรือไม่ ในการตรวจสอบว่ามีการลักลอบนำก๊าซแอลพีจีจากภาคส่วนอื่น คือ สถานีบริการแก๊ส มาใช้ในภาคอุตสาหกรรมหรือไม่
โดยกรมธุรกิจพลังงาน จะมีการตรวจวัดปริมาณการจับ-จ่ายก๊าซแอลพีจีทุกเดือน และจะมีการประเมินภาพรวมทุกๆ รอบ 3 เดือน ที่มีการทยอยปรับขึ้นราคาก๊าซแอลพีจีไตรมาสละ 3 บาทต่อกิโลกรัม รวมทั้งหมด 4 ไตรมาส ปัจจุบันภาคอุตสาหกรรมมีการใช้แอลพีจีประมาณ 65,000 ตันต่อเดือน โดยกลุ่มอุตสาหกรรมเซรามิก แก้ว และกระจก มีการใช้เพียง 10,000 ตันต่อเดือนเท่านั้น
ขณะที่กลุ่มครัวเรือนมีการใช้สูงสุดถึง 210,000 ตันต่อเดือน รองลงมากลุ่มยานยนต์มีการเติบโตสูงขึ้นทุกปีจากปี 2553 มีการเติบโตอยู่ที่ 55,000 ตันต่อเดือน แต่ปีนี้มีการเติบโตสูงขึ้นมาอยู่ที่ 63,000 ตันต่อเดือน และมีแนวโน้มเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากกระทรวงพลังงาน ไม่สามารถควบคุมการใช้ก๊าซแอลพีจีในรถยนต์ได้ นอกจากการออกเป็นมาตรการควบคุม คือ การขึ้นภาษีป้ายทะเบียนรถยนต์ที่เปลี่ยนจากการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงเป็นก๊าซแอลพีจี ประมาณ 30,000 บาทต่อคันต่อปี แต่การเปลี่ยนแปลงการจัดเก็บภาษีป้ายต้องมีการแก้ไขกฎหมาย 2 ฉบับ คือ พ.ร.บ.รถยนต์ และ พ.ร.บ.การขนส่งทางบก จึงมีความเป็นไปได้ว่าไม่สามารถประกาศใช้มาตรการนี้ได้
อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน กล่าวว่า กรมธุรกิจพลังงาน ได้เจรจากับกลุ่มผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมเซรามิก แก้ว และกระจก กรณียื่นร้องเรียนให้ปรับอัตราการปรับขึ้นราคาก๊าซแอลพีจีภาคอุตสาหกรรมจากไตรมาสละ 3 บาทต่อกิโลกรัม เหลือเพียงไตรมาสละ 1 บาทต่อกิโลกรัม โดย กระทรวงพลังงาน ได้ยืนยันแล้วว่า ไม่สามารถทำได้ต้องทยอยปรับขึ้นราคาตามมติ คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เพราะได้มีการออกมาตรการผ่อนผันให้กับผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมที่ยังไม่ได้มีการเปลี่ยนเป็นถังเบ๊าซ์ทยอยปรับเปลี่ยนภายในระยะเวลา 2 ปีแล้ว