ปตท.เตรียมเปิดตัวถัง LPG ชนิดใหม่ ใช้วัสดุคอมโพสิตแทนถังเหล็ก คาด เห็นโฉมในตลาดได้ปลายปีนี้ เผย คุณสมบัติพิเศษ ผลิตจากปิโตรเคมี น้ำหนักเบา แข็งแรง ทนทาน ไร้สนิม และปลอดภัยสูงกว่า
นายปรัชญา ภิญญาวัธน์ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ปตท.เตรียมจะเปิดตัวถังก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) ที่ใช้ในภาคครัวเรือนรูปแบบใหม่ โดยเปลี่ยนจากถังเหล็กที่ใช้อยู่ในปัจจุบันมาเป็นถังที่ผลิตจากวัสดุคอมโพสิต (COMPOSIT) โดยวางแผนที่จะเปิดตัวอย่างเป็นทางการภายในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้
ทั้งนี้ ปตท.ตั้งเป้าหมายในระยะแรก โดยคาดว่าจะจำหน่ายในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล รวมทั้งพื้นที่อำเภอเมืองในจังหวัดใหญ่ๆ ที่มีประชากรมากเป็นพื้นที่นำร่อง โดย ปตท.จะออกจำหน่ายถังบรรจุเนื้อก๊าซแอลพีจีขนาด 11 กิโลกรัม น้ำหนักถัง 6.5 กิโลกรัม เพื่อทดแทนถังเหล็กขนาดมาตรฐานบรรจุ 15 กิโลกรัม ที่มีน้ำหนักถัง 16.5 กิโลกรัม
“ขณะนี้อยู่ระหว่างการร่างแผนรองรับการแลกเปลี่ยนถัง ทั้งสองชนิดในรูปแบบที่เหมาะสมว่า ควรจะมีรูปแบบอย่างไร เนื่องจากถังแก๊สคอมโพสิตจะมีราคาแพงกว่าถังแก๊ส ที่ทำจากเหล็กอยู่ประมาณ 1 เท่าตัว โดยปัจจุบันราคาจำหน่ายถังแก๊สหุงต้มขนาดมาตรฐาน 15 กิโลกรัม อยู่ที่ประมาณ 2,000 บาทต่อถัง”
นายปรัชญา กล่าวเสริมว่า ถังก๊าซคอมโพสิตเป็นนวัตกรรมใหม่ ที่ปัจจุบันมีการใช้กันอย่างแพร่หลายในยุโรป และ สหรัฐอเมริกา โดยวัสดุหลักผลิตจากโพลิเมอร์ วัสดุเสริมจากเส้นใย และเรซิน เพื่อเสริมความแข็งแรง ทำให้ทนต่อการกระแทก การเฉือนจากของมีคม และมีความต้านทานต่อสภาวะแวดล้อมต่างๆ ได้เป็นอย่างดี รวมทั้งไม่เกิดสนิม และทนต่อการกัดกร่อน ที่สำคัญ สามารถป้องกันการเกิดประกายไฟ ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่ได้เปรียบถังเหล็ก ที่จะเกิดประกายไฟหากมีการกระแทกอย่างรุนแรง
ส่วนคุณสมบัติที่ทำให้ได้รับความนิยม ก็คือ มีน้ำหนักเบา และมีอายุการใช้งานยาวนาน 20-30 ปี ในขณะที่ถังเหล็กมีอายุใช้งาน 10-15 ปี โดยปัจจุบันสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ได้ออกมาตรฐาน มอก.2441-2552 รองรับผลิตภัณฑ์ชนิดนี้แล้ว
นายปรัชญา กล่าวด้วยว่า ปตท.ได้ดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการนี้มาตั้งแต่ปี 2549 ซึ่งได้ทดลองนำเข้าถังคอมโพสิทจากต่างประเทศมาทดลองใช้ เพื่อศึกษาข้อมูลการตลาด และจัดทำมาตรฐานถังก๊าซแอลพีจีขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย เพื่อสะดวกในการเปิดตลาด ขายและกระจายสินค้า และปัจจุบันกำลังดำเนินการประสานงาน ไปยังผู้ผลิตถังคอมโพสิตในประเทศไทย ถึงการผลิตในเชิงพาณิชย์ซึ่งต้องเป็นไปตามมาตรฐาน มอก.ที่กำหนด