xs
xsm
sm
md
lg

โครงการแท็กซี่ติดเอ็นจีวี แท้งรอบ 2 “พลังงาน” เตรียมฟ้อง “ออโต้แพน”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


โครงการแท็กซี่ติดเอ็นจีวี แท้งครั้งที่ 2 “พลังงาน” แจงสาเหตุ “ออโต้แพน” ผิดสัญญาส่งมอบถังเอ็นจีวี พร้อมอุปกรณ์ติดตั้งในรถแท็กซี่ 1.5 หมื่นคัน อ้างติดปัญหาธุรกิจ เตรียมยึดเงินประกัน 12.5 ล้านบาท พร้อมเดิมหน้าฟ้องเรียกค่าเสียหาย เร่งเดินหน้าจัดประมูลใหม่เป็นรอบที่ 3

นายคุรุจิต นาครทรรพ รองปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการกำหนดหลักเกณฑ์และแนวทางการดำเนินการในการให้เงินสนับสนุนสำหรับค่าบริการติดตั้งถังเอ็นจีวีและอุปกรณ์ส่วนควบและการประกันหลังการขาย โดยระบุว่า ที่ประชุมได้พิจารณายกเลิกสัญญาซื้อขายถังก๊าซธรรมชาติสำหรับรถยนต์ (เอ็นจีวี) และอุปกรณ์ส่วนควบ ที่ทำไว้กับบริษัท ออโต้แพน จำกัด ที่เป็นผู้ชนะการประมูลสำหรับโครงการติดตั้งแท็กซี่เอ็นจีวีฟรี 15,000 คัน เนื่องจากบริษัทไม่สามารถดำเนินการส่งมอบงานได้ตามเงื่อนไขสัญญา

ทั้งนี้ จะมีการรายงานเรื่องดังกล่าวต่อ นานแพทย์วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และปลัดกระทรวงพลังงาน เพื่อขออนุมัติเปิดประมูลการจัดซื้อจัดหาถังเอ็นจีวีและอุปกรณ์ส่วนควบครั้งใหม่ โดยภายใน 1 สัปดาห์จากนี้ไป จะหารือในรายละเอียดเกี่ยวกับแนวทางการเปิดประมูล เพื่อให้โครงการสนับสนุนแท็กซี่ที่ใช้ก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี)เปลี่ยนมาใช้ก๊าซเอ็นจีวีดำเนินต่อไปได้

“ทางคณะกรรมการตรวจรับพัสดุ สำนักงานปลัดกระทรวงพลังงานจะเข้าไปตรวจสอบ ว่า ออโต้แพน ทำผิดสัญญาฯ และระเบียบของทางราชการอย่างไร เพื่อรายงานกระทรวงพลังงานพิจารณาดำเนินขั้นตอนตามกฎหมาย คาดว่าจะชัดเจนภายในสัปดาห์นี้ โดยจะยกเลิกสัญญาการจัดซื้อจัดจ้าง ริบเงินประกัน และเรียกร้องความเสียหายที่เกิดขึ้น”

นอกจากนี้ กระทรวงยังได้มอบหมายให้นิติกรและผู้รับผิดชอบงานพัสดุ เร่งพิจารณารายละเอียดการผิดสัญญาของ ออโต้แพน และเมื่อประกาศยกเลิกสัญญาตามกฎหมายอย่างเป็นทางการแล้ว จะต้องดำเนินการฟ้องร้องบริษัทต่อไป โดยเบื้องต้นจะริบเงินประกันสัญญา จำนวน 5% ของวงเงินประกวดราคา ซึ่งคิดเป็นเงินประมาณ 12.50 ล้านบาท เพราะเข้าข่ายทำผิดสัญญา ส่งผลให้โครงการล่าช้า

ทั้งนี้ กระทรวงจะดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างการทางอิเล็กทรอนิกส์ (อี-ออกชัน) ครั้งที่ 3 ภายใน 1 เดือน เพื่อจัดหาถังเอ็นจีวีและอุปกรณ์ส่วนควบ โดยจะเร่งให้โครงการดำเนินการไปตามแผนของภาครัฐต่อไป สำหรับโครงการติดตั้งถังก๊าซเอ็นจีวีงวดแรก 15,000 คัน มีผู้ประกอบการแท็กซี่ให้ความสนใจเข้าร่วมโครงการจำนวน 5,834 ราย ทั้งที่เป็นนิติบุคคลและบุคคลธรรมดา ขณะที่ผู้ติดตั้ง (อู่) ที่ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการจำนวน 23 ราย

รองปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวเสริมว่า แนวโน้มการปรับเปลี่ยนมาใช้เอ็นจีวีของรถแท็กซี่ มองว่ายังมีความเป็นไปได้ เนื่องจากปัจจุบันนี้รถแท็กซี่ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีประมาณ 50,000 คัน ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นรถแท็กซี่ใหม่ที่ติดตั้งถังเอ็นจีวีจากอู่มาแล้ว โดยประเมินว่ายังมีรถแท็กซี่ที่ใช้แอลพีจีอยู่ประมาณ 30,000 คัน คาดเป้าโครงการในงวดแรก 15,000 คัน จะเป็นไปตามแผนที่วางไว้

ทั้งนี้ คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ได้เห็นชอบตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2552 ใช้เงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในการอุดหนุนโครงการสนับสนุนรถแท็กซี่ที่ใช้ก๊าซแอลพีจีเป็นเอ็นจีวีฟรี 30,000 คัน ค่าใช้จ่ายคันละประมาณ 40,000 บาท โดยได้อนุมัติเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 1,200 ล้านบาท แต่มีการปรับปรุงแผนการดำเนินการแบ่งเป็น 2 ส่วน ดังนี้

1.เงินสนับสนุนสำหรับใช้ในการประกวดราคา (อี-ออกชัน) เพื่อจัดซื้อถังเอ็นจีวี และอุปกรณ์ส่วนควบจำนวน 30,000 ชุด ชุดละ 35,000 บาท แบ่งการประกวดราคาเป็น 3 งวด งวดแรก 15,000 ชุด งวดที่สอง 10,000 ชุด และงวดที่สาม 5,000 ชุด

2.เงินสนับสนุนสำหรับค่าบริการ การติดตั้งถังเอ็นจีวี และอุปกรณ์ส่วนควบ รวมทั้งการประกันหลังการขายในช่วงระยะเวลารับประกันการติดตั้ง 1 ปี โดยไม่จำกัดระยะทางของผู้ติดตั้งตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินคันละ 5,000 บาท

สำหรับโครงการเปลี่ยนแท็กซี่แอลพีจีเป็นเอ็นจีวี 30,000 คัน กำหนดแผนการเริ่มแรกจะเปลี่ยนให้เสร็จในเดือนสิงหาคม-พฤศจิกายน 2552 แต่ที่ผ่านมาประสบปัญหาล่าช้า มีการร้องเรียนจนต้องประมูลหาเอกชน 2 รอบและผู้ชนะประมูล ล็อตแรก 15,000 คัน คือ ออโต้แพน ซึ่งเป็นบริษัทเพิ่งจดทะเบียนได้ไม่นาน โดยผู้ชนะประมูลระบบ อี-อ๊อกชั่น งวดแรกจำนวน 15,000 คัน ในราคา 250,500,000 บาท (สองร้อยห้าสิบล้านห้าแสนบาท) จากราคากลางที่ตั้งไว้ที่ 525 ล้านบาท เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2553 และลงนามสัญญาซื้อขายถังเอ็นจีวีและอุปกรณ์ส่วนควบ เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2553 และมีการเปิดให้แท็กซี่สมัครเข้าโครงการปรากฏว่า มีผู้สมัครเพียง จำนวน 5,834 ราย เท่านั้น

รายงานข่าวเพิ่มเติมระบุว่า บริษัท ออโต้แพน จำกัด ซึ่งเป็นคู่สัญญากับกระทรวงพลังงาน ได้ทำหนังสือมายังปลัดกระทรวงฯ เพื่อขอยกเลิกสัญญาดังกล่าว เพราะบริษัทประสบปัญหาทางธุรกิจ จึงไม่สามารถจัดหาถังและอุปกรณ์ส่วนควบเอ็นจีวีให้กับอู่ได้ในระยะเวลาที่กำหนดไว้ในช่วงต้นเดือนพฤษภาคม 2554 นี้

ด้าน นายพล ทรงไทย นายกสมาคมรถแท็กซี่ กล่าวว่า โครงการดังกล่าว รัฐบาลและราชการไม่มีความจริงใจที่จะดำเนินการอย่างแท้จริง เพราะภายใน 2-3 ปีที่ดำเนินมา มีปัญหาเกิดขึ้นตลอด จนไม่คืบหน้า ที่สุดรถแท็กซี่ทนรอไม่ได้ ต้องยอมจ่ายเงินติดตั้งเอ็นจีวีเอง
กำลังโหลดความคิดเห็น