xs
xsm
sm
md
lg

ปตท.ฟุ้งเอ็นจีวีโต 40% ต้อนแท็กซี่ติดถังก๊าซฟรี “ออโต้แพลน” รับเละ 1.5 หมื่นคัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ปตท.เผยความต้องการใช้ “เอ็นจีวี” ขยายตัวสูงถึง 40% ยันเดินหน้าขยายสถานีบริการครบ 500 แห่งในปีนี้ แต่ยังติดปัญหาเรื่องสถานีบริการกว่า 70% อยู่นอกแนวท่อก๊าซ ก.พลังงาน เตรียมเปิดโครงการแท็กซี่ติด “เอ็นจีวี” ฟรี รอบ 2 จำนวน 1.5 หมื่นคัน เผยรายชื่อ “ออโต้แพลน” ชนะการประมูล เพราะดัมป์ราคาถังก๊าซ-คอนเวอร์ชันคิต ต่ำกว่าราคากลาง 60% เหลือแค่คันละ 1.6 หมื่นบาท จากราคากลาง 3.5 หมื่นบาท เพราะนำเข้าอุปกรณ์จาก จีน-เกาหลี

นายปุณณชัย ฟูตระกูล ผู้จัดการฝ่ายตลาดก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ขณะนี้ปริมาณความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติเพื่อเป็นเชื้อเพลิงรถยนต์ (เอ็นจีวี) ขยายตัวเพิ่มขึ้นมาก โดยปัจจุบันมียอดใช้อยู่ที่ 5,900 ตันต่อวัน เพิ่มขึ้น 40% จากต้นปี 2553 ซึ่งอยู่ที่ 4,200 ตันต่อวัน เนื่องจากมีปริมาณรถยนต์ที่เปลี่ยนมาใช้เอ็นจีวีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หรือมียอดติดตั้งเฉลี่ยอยู่ที่ 250 คันต่อวัน โดยขณะนี้มีรถยนต์เอ็นจีวีประมาณ 2.34 แสนคัน แบ่งเป็นรถบรรทุกขนาดใหญ่จำนวน 16% แต่มีปริมาณใช้เอ็นจีวีมากถึง 60% ของยอดใช้เอ็นจีวีทั้งหมด

ทั้งนี้ ปตท.มีแผนขยายสถานีบริการเพิ่มเติม ล่าสุด อยู่ระหว่างการขยายกำลังการผลิตสถานีแม่ขนาด 850 ตันต่อวัน คือ สถานีแม่ อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น เพิ่มอีก 200 ตันต่อวัน จากเดิมมีกำลังการผลิต 200 ตันต่อวัน คาดว่า จะแล้วเสร็จภายในเดือนเมษายน 2554 นี้

สถานี อ.ลานกระบือ จ.กำแพงเพชร อีก 150 ตันต่อวัน จากเดิม 40-50 ตันต่อวัน คาดแล้วเสร็จภายในเดือนเมษายน 2554 นี้, สถานี อ.แก่งคอย จ.สระบุรี อีก 250 ตันต่อวัน คาดแล้วเสร็จเดือนกรกฎาคม 2554 นี้ และสถานี อ.เทพารักษ์ จ.สมุทปราการ เพิ่มอีก 250 ตันต่อวัน

ส่วนการขยายสถานีบริการเอ็นจีวี ในปี 2554 ปตท.ยังคงตั้งไว้ที่ 500 แห่งภายในสิ้นปี จากปัจจุบันอยู่ที่ 433 แห่ง ซึ่ง ปตท.ยังติดปัญหาเรื่องการจ่ายก๊าซ เนื่องจากสถานีเอ็นจีวีส่วนใหญ่ หรือประมาณ 70% เป็นสถานีนอกแนวท่อ ทำให้ต้องใช้รถขนส่งก๊าซ ซึ่งอาจเกิดความล่าช้าบ้าง สำหรับการปรับโครงสร้างราคาเอ็นจีวี คงต้องรอผลการศึกษาของกระทรวงพลังงาน โดย ปตท.แบกรับภาระจากการขายเอ็นจีวีที่ขาดทุนสะสมแล้วประมาณ 2.6 หมื่นล้านบาท

ด้าน นายคุรุจิต นาครทรรพ รองปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า การปรับขึ้นราคาต้องขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน แต่เดิมมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) กำหนดไว้ว่าจะสามารถทยอยปรับขึ้นราคาได้ แต่จะต้องไม่เกินครึ่งหนึ่งของราคาขายปลีกน้ำมันดีเซล แต่คาดว่า คงยังไม่สามารถปรับราคาขึ้นได้ในขณะนี้ เพราะรัฐบาลมีนโยบายให้ตรึงราคาไว้

สำหรับความคืบหน้าโครงการแท็กซี่ติดเอ็นจีวีฟรี 15,000 คันนั้น หลังจากเปิดรับสมัครเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2554 ที่ผ่านมา ถือว่าได้รับการตอบรับจากผู้ประกอบการและรถแท็กซี่ที่มาเข้าร่วมโครงการเป็นอย่างดี จึงเชื่อมั่นว่าจะมีรถแท็กซี่เข้าร่วมโครงการเป็นไปตามเป้าที่ตั้งไว้ในล็อตแรกจำนวน 15,000 คัน และจะเพิ่มเป็น 30,000 คัน ในเร็วๆ นี้

ส่วนการประมูลโครงการเปลี่ยนเชื้อเพลิงแท๊กซี่แอลพีจีเป็นเอ็นจีวีฟรีใน 15,000 คันแรก พบว่า มีผู้เข้าร่วมประมูล 4 ราย และมีการแข่งขันกันอย่างรุนแรงทำให้วงเงินประมูลอุปกรณ์อยู่ที่ประมาณ 260 ล้านบาท จากราคากลาง 500 ล้านบาท เมื่อรวมกับค่าติดตั้งที่ 5,000 บาทต่อคันแล้ว วงเงินที่ใช้จะอยู่ที่ประมาณ 335 ล้านบาท เท่านั้น ซึ่งถือได้ว่าอยู่ในระดับต่ำมาก เมื่อเทียบกับวงเงินที่กระทรวงพลังงาน คาดว่า จะต้องใช้ 1,200 ล้านบาท สำหรับการเปลี่ยนแปลงแท็กซี่ทั้งหมด 30,000 คัน

โดยผู้ประมูลทั้ง 4 ราย ประกอบด้วย บริษัท สแกนอินเตอร์, บริษัท อิตัลไทยเทคโนโลยี จำกัด, บริษัท สยามราช จำกัด และ บริษัท ออโต้แพลน จำกัด ซึ่งบริษัท ออโต้แพลน เป็นผู้ชนะ โดยได้ราคาจำหน่ายถังและอุปกรณ์ส่วนควบ หรือ คอนเวอร์ชันคิต 16,000 บาท จากราคากลางที่ประมาณ 35,000 บาท โดยบริษัทนี้จะนำเข้าอุปกรณ์บางส่วนจากประเทศจีน และเกาหลี เพื่อนำมาติดตั้งให้แท็กซี่

ทั้งนี้ กระทรวงพลังงานเปิดให้ผู้ติดตั้งหรืออู่แท็กซี่ที่สนใจเข้าร่วมโครงการมาเป็นผู้ติดตั้งส่วนควบ และเครื่องอุปกรณ์ตั้งแต่วันนี้ จนถึง 28 กุมภาพันธ์ 2554 นี้ โดยผู้ประกอบการแท็กซี่สามารถยื่นคำขอได้จนถึงวันที่ 15 มีนาคม 2554 ที่ศูนย์บริการร่วมกระทรวงพลังงาน

ทั้งนี้ หากเปลี่ยนแท็กซี่จากแอลพีจีมาเป็นเอ็นจีวีได้ทั้งหมด 15,000 คัน จะช่วยลดการใช้แอลพีจีได้ 15,000 ตันต่อเดือน และจะช่วยลดภาระกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในการชดเชยการนำเข้าแอลพีจีได้ 237 ล้านบาทต่อเดือน และหากดำเนินโครงการได้ทั้งหมด 30,000 คัน ก็จะได้ช่วยลดแอลพีจีได้ 30,000 ตันต่อเดือน จะลดภาระกองทุนได้อีก 474 ล้านบาท
กำลังโหลดความคิดเห็น