“พลังงาน” เผย ยอดใช้เบนซิน ส.ค.ขยับขึ้น 19% จากเดิม 7.2 ล้านลิตรต่อวัน เพิ่มเป็น 8.6 ล้านลิตรต่อวัน ส่วนแก๊สโซฮอล์ 91,95 ปริมาณการใช้ลดลง 6% จากเดิม 11.8 ล้านลิตรต่อวันเหลือเพียง 11.2 ล้านลิตรต่อวัน หลังรัฐบาลลดเก็บเงินเข้ากองทุนฯ
นายวีระพล จิรประดิษฐกุล อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน เปิดเผยว่า สถานการณ์การใช้เชื้อเพลิงในเดือนสิงหาคม 2554 หลังรัฐบาลปรับลดการเรียกเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงส่งผลให้ยอดการใช้น้ำมันเบนซิน 91 และ 95 ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่การใช้แก๊สโซฮอล์ 91 และ 95 ปรับตัวลดลง ส่วนแก๊สโซฮอล์ E20 และแก๊สโซฮอล์ E85 ไม่ได้รับผลกระทบ การใช้ยังคงอยู่ที่ 0.7 ล้านลิตรต่อวัน และ 0.029 ล้านลิตรต่อวันตามละดับ โดยการใช้น้ำมันในกลุ่มเบนซินเพิ่มขึ้น 4% อยู่ที่ 20.5 ล้านลิตรต่อวัน
“เบนซิน 91, 95 การใช้เพิ่มขึ้น 19% จาก 7.2 ล้านลิตรต่อวัน เป็น 8.6 ล้านลิตรต่อวัน, แก๊สโซฮอล์ 91, 95 การใช้ลดลง 6% จาก 11.8 ล้านลิตรต่อวัน เหลือ 11.2 ล้านลิตรต่อวัน”
โดยเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2554 รัฐบาลสั่งปรับลดการเรียกเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจากน้ำมันเบนซิน 91, เบนซิน 95 และดีเซล ลงลิตรละ 7.17 บาท, 8.02 บาท และ 3 บาท ตามลำดับ โดยปัจจุบันราคาขายปลีกน้ำมันเบนซิน 91, 95 กับน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91, แก๊สโซฮอล์ 95 มีส่วนต่างเพิ่มขึ้นจากเดิม 0.23-2.28 บาทต่อลิตร เป็น 3.09-3.95 บาทต่อลิตร ทำให้การใช้น้ำมันเบนซิน 91, 95 ในเดือนกันยายน 2554 1-13 กันยายน 2554) มีการใช้ลดลงอยู่ที่ 10 ล้านลิตรต่อวัน หลังจากปรับตัวเพิ่มขึ้นถึง 15 ล้านลิตรต่อวัน ในช่วงก่อนสิ้นเดือน ส.ค.54
การใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็วอยู่ที่ 49.3 ล้านลิตรต่อวัน เพิ่มขึ้น 0.4% จากเดือนก่อน ซึ่งเป็นปรับเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย ส่วนหนึ่งเป็นผลจากพายุ “นกเตน” ในช่วงต้นเดือนและร่องมรสุมพาดผ่านตลอดเดือนส่งผลให้เกิดฝนฟ้าคะนองและหลายพื้นที่ทั่วประเทศประสบภัยน้ำท่วม ประกอบกับราคาปรับลดลงไม่มากนัก
ขณะที่การใช้ก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (NGV) อยู่ที่ 6.9 ล้านกิโลกรัมต่อวัน เพิ่มขึ้น 2.4% โดย ณ สิ้นเดือน ส.ค.54 มีรถยนต์ที่ติดตั้งเครื่องยนต์ NGV แล้ว 283,431 คัน และมีสถานีบริการทั้งหมด 421 แห่ง
ส่วนการใช้ก๊าซหุงต้ม (LPG) เพิ่มขึ้น 1.2% จาก 562,600 ตันต่อเดือน หรือ 18,200 ตันต่อวัน มาอยู่ที่ 569,500 ตันต่อเดือน หรือ 18,370 ตันต่อวัน โดยเป็นผลมาจากการใช้ในภาคครัวเรือน 238,400 ตันต่อเดือน หรือ 7,700 ตันต่อวัน เพิ่มขึ้น 5.6% และภาคขนส่ง 89,300 ตันต่อเดือน หรือ 2,900 ตันต่อวัน เพิ่มขึ้น 2.1% ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมและปิโตรเคมีลดลง 3.4% และ 2.8% ตามลำดับ
ทั้งนี้ การใช้ LPG ในภาคอุตสาหกรรมมีการปรับตัวลดลงต่อเนื่องหลังจากรัฐบาลประกาศปรับขึ้นราคาขายปลีก LPG ในภาคอุตสาหกรรมเป็นไตรมาสละ 3 บาทต่อกิโลกรัม ตั้งแต่เมื่อวันที่ 19 ก.ค.54 ซึ่งในเดือนสิงหาคม 2554 มีการนำเข้า LPG จำนวน 159,600 ตัน โดยกองทุนจ่ายชดเชยอยู่ที่ประมาณ 2,800 ล้านบาท
สำหรับการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงมีปริมาณรวมทั้งสิ้น 971,000 บาร์เรลต่อวัน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 9% และมูลค่าการนำเข้า 102,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9% แบ่งเป็น การนำเข้าน้ำมันดิบ 899,000 บาร์เรลต่อวัน มูลค่านำเข้า 96,000 ล้านบาท และน้ำมันสำเร็จรูป 71,000 บาร์เรลต่อวัน มูลค่านำเข้า 5,600 ล้านบาท ส่วนการส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปมีปริมาณ 282,000 บาร์เรลต่อวัน เป็นมูลค่าส่งออก 31,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 24% และ 22% ตามลำดับ
ทั้งนี้ ส่งผลให้การใช้น้ำมันเชื้อเพลิงในช่วง 8 เดือนแรกปี 2554 (มกราคม-สิงหาคม) พบว่าการใช้น้ำมันเบนซิน 91 และเบนซิน 95 ปรับตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่การใช้พลังงานทดแทนเพิ่มขึ้นทุกชนิด ซึ่งเป็นผลจากในปี 2554 ราคาน้ำมันได้ปรับตัวสูงขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 3-6 บาทต่อลิตร ทำให้ประชาชนหันไปใช้พลังงานทดแทน LPG และ NGV เพิ่มขึ้น ส่วนน้ำมันดีเซลหมุนเร็วปรับตัวเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลจากราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากรัฐบาลตรึงราคาอยู่ที่ระดับ 29.99 บาทต่อลิตร
โดยเบนซิน 91, 95 มีการใช้ลดลง 5% จาก 8.3 ล้านลิตรต่อวัน เหลือ 7.9 ล้านลิตรต่อวัน, แก๊สโซฮอล์มีการใช้เพิ่มขึ้น 5% จาก 11.9 ล้านลิตรต่อวัน เป็น 12.5 ล้านลิตรต่อวัน, ดีเซลหมุนเร็วมีการใช้เพิ่มขึ้น 4% จาก 49.9 ล้านลิตรต่อวัน เป็น 51.6 ล้านลิตรต่อวัน , NGV มีการใช้เพิ่มขึ้น 35% จาก 4.8 ล้านกิโลกรัมต่อวัน เป็น 6.5 ล้านกิโลกรัมต่อวัน
ส่วนการใช้ LPG เพิ่มขึ้นถึง 23.5% จาก 440,000 ตันต่อเดือน หรือ 14,500 ตันต่อวัน มาอยู่ที่ 543,000 ตันต่อเดือน หรือ 17,900 ตันต่อวัน ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นของทุกภาคการใช้ โดยภาคปิโตรเคมีเพิ่มขึ้นถึง 52% ตามการขยายตัวของธุรกิจปิโตรเคมี ส่วนภาคขนส่งเพิ่มขึ้น 37% ภาคครัวเรือนเพิ่มขึ้น 10% ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นเพียง 1%