xs
xsm
sm
md
lg

ธปท.เตือนภัยถึงนายกฯ ปู

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ประเมิน "แนวโน้มหนี้สาธารณะของรัฐบาลไทย" ในช่วง 5 ปีข้างหน้า พบว่า การกระตุ้นเศรษฐกิจและภาระการคลังที่เพิ่มขึ้น จากการดำเนินนโยบายรัฐบาล "ปู 1" มีโอกาสสูงที่จะทำให้หนี้สาธารณะ ณ สิ้นปีงบ 54 คาดว่าจะอยู่ที่ 44% ของจีดีพี ขยับขึ้นเป็น 60% ในสิ้นปีงบ 56 หรือในช่วง 2 ปีข้างหน้า!!...

ธปท.เป็นห่วงว่า ไทยจะเริ่มมีหนี้สาธารณะสูงกว่ากรอบวินัยการคลังตั้งแต่ปีงบ 57 โดยจะสูงใกล้ 70% ของจีดีพี ในปีงบ59 ถือเป็นแนวโน้มที่น่าเป็นห่วง "อันตรายต่อเสถียรภาพของประเทศ" เนื่องจากไทยเป็นประเทศขนาดเล็ก มีเศรษฐกิจเปิด ผลที่จะเกิดขึ้นตามมาคือนักลงทุนขาดความเชื่อมั่นในฐานะการคลัง "รุนแรงหนักกว่าที่กำลังเกิดขึ้นกับประเทศยุโรปในปัจจุบัน!!!..."

เหตุผลที่ ธปท.กังวลในระดับสูงสุด มีที่มา ข้อแรกต้องไม่ลืมว่า รัฐบาลมีมาตรการที่มีผลกระทบกับงบประมาณค่อนข้างมาก ขณะที่โครงสร้างรายได้และรายจ่ายของรัฐบาลเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของภาครัฐ...

ธปท.ประเมินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลออกเป็น 4 ด้านคือ 1.มาตรการที่เป็นภาระชัดเจนต่องบปประมาณทันที เช่น โครงการรับจำนำข้าว และมาตรการลดภาระค่าครองชีพ เช่น การลดการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมัน 2.มาตรการที่จะเป็นภาระผูกพันต่อเนื่องในงบประมาณ เช่น การปรับเพิ่มขึ้นเงินเดือนข้าราชการ การเพิ่มเงินให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และนโยบายด้านสวัสดิการสังคม เช่น การปรับขึ้นเบี้ยคนชรา เบี้ยคนพิการ ฯลฯ...

3.มาตรการที่ทำให้รัฐสูญเสียรายได้ เช่น การปรับลดภาษีนิติบุคคล การคืนภาษีและเพิ่มค่าลดหย่อนให้กับผู้ซื้อบ้านหลังแรก หรือซื้อรถคันแรก หรือ การปรับลดภาษีสรรพสามิตน้ำมัน เพื่อตรึงราคาน้ำมันดีเซล เป็นต้น 4.มาตรการที่เพิ่มโครงการลงทุนของประเทศ เช่น โครงการรถไฟฟ้ารอบกรุงเทพ-ปริมณฑล โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมหัวเมืองใหญ่ โครงการรถไฟรางคู่ชานเมือง และโครงการพัฒนาแหล่งน้ำและชลประทาน "มาตรการทั้ง 4 ด้านจะเพิ่มรายจ่ายในอนาคตในจำนวนที่สูงมาก@!.."

ประการต่อมา รัฐบาลยังมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่เป็นภาระโดยนัยต่องบประมาณ คือ นโยบายที่ดำเนินการผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ประเมินจาก 4 โครงการหลัก ต้องใช้เงินมากถึง 442,000 ล้านบาท หรือ 20% ของงบภาครัฐ ประกอบด้วย 1.โครงการสินเชื่อบัตรเครดิตสำหรับเกษตรกร วงเงิน 174,000 ล้านบาท 2.โครงการพักหนี้เกษตรกร วงเงิน 210,000 ล้านบาท 3.โครงการรีไฟแนนซ์หนี้ส่วนบุคคล 10,000 ล้านบาท 4.โครงการบ้านหลังแรก ดอกเบี้ย 0% ระยะเวลา 5 ปี วงเงิน 48,000ล้านบาท...

โครงการเหล่านี้ หากมีปัญหาหนี้เสียหรือขาดทุน สุดท้ายจะต้องเป็นภาระงบของภาครัฐอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้!!!!!..

ไม่เพียงแค่นั้น เมื่อพิจารณาโครงสร้างรายรับ-รายจ่ายและงบประมาณภาครัฐ พบว่า อัตราการขยายตัวของงบรายจ่ายในช่วงปี 2550-2554 เพิ่มขึ้น 8.8% ของจีดีพี เทียบกับช่วงปี 2540-2549 รายจ่ายของประเทศเพิ่มขึ้นเพียง 4.9% ขณะที่รายได้ของรัฐบาลในปี 2550-2554 เพิ่มขึ้น 4.2% ของจีดีพี เทียบกับในช่วงปี 2540-2549 ที่รัฐบาลที่รายได้เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 4.7% โดยรายจ่ายประจำเป็นรายจ่ายที่สูงมาก ขณะที่งบลงทุนยังคงอยู่ในระดับต่ำ อยู่ที่ประมาณ 16% ของงบรวม ทั้งๆ ที่อัตราที่เหมาะสมควรอยู่ที่ 25% ของจีดีพี...

ธปท.ได้มีข้อเสนอแนะต่อการใช้จ่ายของรัฐบาลในช่วงต่อไป ได้แก่การจัดลำดับความสำคัญและเร่งรัดการดำเนินนโยบายที่สำคัญก่อน เน้นรายจ่ายที่จะเพิ่มศักยภาพของประเทศ และมาตรการที่ออกไปควรจะมีกลุ่มเป้าหมายเพื่อให้การใช้จ่ายเกิดประสิทธิผลสูงสุด โดยยึดกรอบวินัยการคลังอย่างเคร่งครัด...

***"การดำเนินมาตรการต่างๆ ควรทยอยทำอย่างค่อยเป็นค่อยไปเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบรุนแรงต่อเงินเฟ้อ และมีเวลาให้ภาคธุรกิจและประชาชนปรับตัวได้ รวมทั้งจะต้องพยายามเพิ่มรายได้ของภาครัฐ และลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นลงเพื่อทดแทนกัน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาความไม่สมดุลทางการงินในภาคต่างๆ ไม่เช่นนั้นอาจนำไปสู่ปัญหาเงินเฟ้อรุนแรง ภาวะฟองสบู่และปัญหาหนี้สาธารณะในที่สุด..."***

เห็นข้อมูลและความเห็นแบงก์ชาติแล้ว หวังว่า "นายกฯ ปู" จะนำไปพิจารณา ถ้าให้ดีรีบนำความห่วงใยของแบงก์ชาติไปปรึกษาพี่ชาย "นายกฯ ตัวจริง!" ให้รีบปรับเปลี่ยน "นโยบายเศรษฐกิจ ต้นเหตุแห่งหายนะ!" ก่อนประเทศจะลงเหว???...

อย่าให้เพลิงแค้นที่สุมอกเพราะคิดว่าตัวเองถูกกลั่นแกล้ง มาทำลายประเทศ จนแม้แผ่นดินจะกลบหน้าไปแล้ว ยังถูกคนรุ่นหลัง "สาปแช่ง!#@?...."
กำลังโหลดความคิดเห็น