“พาณิชย์” เผย ส่งออกเดือน มิ.ย.ขยายตัวได้ 16.8% เกินดุลการค้า 1.2 พันล้านดอลล์ โดยเป็นผลจากสินค้าเกษตร ทั้งยางพารา และข้าว ที่ยังขยายตัวได้ดี ส่วนตัวเลขส่งออกครึ่งปีแรก เพิ่มขึ้นถึง 23.6% “พรทิวา” ฝากงาน รมว.พาณิชย์ คนใหม่สานต่อ
นางพรทิวา นาคาศัย รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดแถลงข่าวตัวเลขการส่งออกเดือนมิถุนายน 2554 โดยพบว่ามีมูลค่าส่งออกสูงถึง 21,074 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งสินค้าส่งออกที่สำคัญเพิ่มขึ้นในทุกหมวด โดยเฉพาะสินค้าเกษตรหรืออุตสาหกรรมการเกษตร เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 48.9 ซึ่งสินค้ายางพารา ขยายตัวได้ถึงร้อยละ 48.5 และข้าว ขยายตัวร้อยละ 50.6
ขณะเดียวกัน สินค้าอุตสาหกรรมสำคัญก็มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.1 โดยสินค้าที่ส่งออกเพิ่มขึ้นเกือบทุกรายการ อาทิ สิ่งพิมพ์ ขยายตัวร้อยละ 148.8 เครื่องใช้ไฟฟ้า ขยายตัวร้อยละ 12.5 เม็ดและผลิตภัณฑ์พลาสติก ขยายตัวร้อยละ 28.3 และผลิตภัณฑ์ยาง ขยายตัวร้อยละ 32.3 เป็นต้น ส่งผลให้การส่งออกในระยะ 6 เดือนแรกของปีนี้ (มกราคม-มิถุนายน) มีมูลค่า 114,977.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 23.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
ทั้งนี้ ตลาดส่งออกที่สำคัญทั้งในตลาดหลักเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องร้อยละ 19 โดยเฉพาะ ญี่ปุ่น ที่ส่งออกขยายตัวสูงขึ้นร้อยละ 38 และตลาดศักยภาพรอง ขยายตัวสูงขึ้นร้อยละ 11.4 เนื่องจากส่งออกไปรัสเซีย ยังขยายตัวต่อเนื่องถึงร้อยละ 88.8 แคนาดา ขยายตัวร้อยละ 36.7 และแอฟริกา ขยายตัวร้อยละ 23
ขณะที่ตัวเลขการนำเข้าเดือนมิถุนายน 2554 มีมูลค่า 19,806.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นร้อยละ 26.1 ซึ่งสินค้านำเข้าเพิ่มขึ้นทุกกลุ่ม อาทิ สินค้าวัตถุดิบ/กึ่งสำเร็จรูป เพิ่มขึ้นร้อยละ 38.3 สินค้าทุน เพิ่มขึ้นร้อยละ 22.4 และสินค้าเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้นร้อยละ 20.1 ส่วนการนำเข้าในระยะ 6 เดือน (มกราคม-มิถุนายน) มีมูลค่า 111,530.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 28.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
ส่งผลให้ไทยเกินดุลการค้าเดือนมิถุนายน 1,268.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แต่ในระยะ 6 เดือนแรกของปีนี้ ไทยยังคงได้ดุลการค้า รวม 3,446.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนการค้าชายแดน การส่งออกในเดือนมิถุนายน มีมูลค่า 76,687.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.2 และในระยะ 6 เดือนแรก (มกราคม-มิถุนายน) มีมูลค่าการส่งออก รวม 446,164.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.8
ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ ยังคงเป้าการส่งออก ทั้งปี 2554 ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 12 เป็นขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 12-15 โดยปัจจัยลบที่ยังคงต้องติดตาม คือ เรื่องของราคาน้ำมัน ราคาสินค้าเกือบทุกหมวด โดยเฉพาะกลุ่มอาหาร และสินค้าอุปโภคและบริโภค ที่มีแนวโน้มสูงขึ้นทั่วโลก ค่าเงินบาท อัตราดอกเบี้ย การขาดแคลนแรงงาน รวมทั้ง นโยบายการฟื้นฟูประเทศของญี่ปุ่น ซึ่งเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยในครึ่งปีหลัง ส่วนปัจจัยบวก ตามเศรษฐกิจโลกที่เริ่มฟื้นตัว และประเทศไทยได้เปรียบจากความเข้มแข็งทางการผลิตสินค้าเกษตร
อย่างไรก็ตาม อยากฝากรัฐบาลชุดใหม่ โดยเฉพาะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์คนใหม่ ดูแลการขยายตัวภาคการส่งออก เพราะยังเชื่อมั่นว่า อัตราการขยายตัวยังสามารถเติบโตได้ แม้ว่ากระทรวงพาณิชย์ คาดการณ์การส่งออกทั้งปี 54 ไว้ที่ร้อยละ 15 แต่ยังเชื่อว่า รัฐบาลชุดใหม่ สามารถที่จะขยายภาคการส่งออก และอาจจะถึงร้อยละ 20 ได้ แต่ไม่อยากกดดันการทำงานรัฐบาลใหม่
ดังนั้น จึงมองว่า รัฐบาลใหม่ จะต้องดูแลในทุกหมวดสินค้าให้ทั่วถึง โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอี เพราะยังเชื่อว่า กลุ่มนี้ยังมีโอกาสขยายตัวได้ ประกอบกับ อยากให้รัฐบาลใช้ประโยชน์จากกรอบเอฟทีเอให้มากขึ้น พร้อมทั้งขยายตลาดการเจรจาการค้าผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ แม้ว่าในช่วงปีนี้ จะเกิดปัญหาหนี้สาธารณะของกลุ่มสหภาพยุโรป และปัญหาหนี้ของสหรัฐอเมริกา
“เชื่อว่า ปัญหาดังกล่าวไม่น่าจะกระทบการส่งออกของไทย เพราะ 2 ปีที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์ ได้ร่วมมือกับผู้ส่งออก ในการเร่งหาตลาดใหม่ๆ โดยเฉพาะตลาดอาเซียน ซึ่งมีอัตราการเติบโตค่อนข้างดี ซึ่งเป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ของไทย จึงเชื่อว่า จะสามารถทดแทนตลาดที่มีปัญหาได้”