xs
xsm
sm
md
lg

“นิด้า” แนะทางออกค่าแรง 300 กังวล กกต.รับรอง ส.ส.ล่าช้า กระทบเชื่อมั่น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“นิด้า” หนุนรัฐบาลเลื่อนประกาศบังคับใช้ค่าแรง 300 บาท แนะให้ออกชุดมาตรการเสริม เพื่อปูทางไปสู่การประกาศใช้ทั่วประเทศ กลางปีหน้าได้จริง พร้อมระบุ กกต.รับรอง ส.ส.ล่าช้า ฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุน เพราะประเทศต้องมีแกนหลัก ศก. เพื่อเดินหน้าขับเคลื่อน ติงใช้เงินหว่านประชานิยมต้องคุ้มค่า ระวังการก่อหนี้ และมีวินัยทางการคลัง

นายมนตรี โสคติยานุรักษ์ นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์การเงินการคลัง สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวถึงนโยบายปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทต่อวันทั่วประเทศของพรรคเพื่อไทย (พท.) ซึ่งรัฐบาลใหม่อาจพิจารณาเลื่อนการเริ่มต้นของมาตรการนี้ออกไป จากเดิมที่กำหนดไว้วันที่ 1 มกราคม 2555 ไปเป็นเริ่มต้นวันที่ 1 มิถุนายน 2555 หรือกลางปีหน้า เหตุผลเพราะรัฐบาลจะได้มีเวลาเตรียมความพร้อมในการคิดชุดมาตรการให้ออกมาอย่างเบ็ดเสร็จ ทั้งด้านกฎหมาย และมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการโดยเฉพาะวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) จำนวน 2.9 ล้านรายทั่วประเทศ โดยเฉพาะภาคบริการที่มีการจ้างแรงงานนับล้านคนทั่วประเทศ และพิจารณารวมด้วยว่า การขึ้นค่าแรงจะกระทบความสามารถการแข่งขันของประเทศอย่างไรบ้าง อีกทั้งต้องพิจารณาครอบคลุมไปถึงการที่ไทยจะก้าวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ด้วย

นายมนตรี กล่าวว่า การพิจารณาปรับค่าจ้าง ต้องพิจารณา 3 ตัวแปรหลัก ได้แก่ ภูมิศาสตร์หรือที่ตั้งของกิจการ มิติขนาดกิจการ และประเภทอุตสาหกรรม อีกทั้งสมควรพิจารณาผ่านกลไกคณะกรรมการไตรภาคี และจำเป็นต้องมีการพัฒนาฝีมือแรงงานเพื่อเพิ่มผลิตภาพควบคู่กันไปด้วย หากไม่ทำกรณีดังกล่าวแล้ว คาดว่า นายจ้างจะผลักภาระมายังผู้บริโภคในที่สุด จนอาจนำไปสู่ปัญหาเงินเฟ้อด้วย

ดังนั้น จึงเป็นไปได้ที่การปรับค่าจ้างขั้นต่ำ จะทยอยเริ่มต้นก่อนในบางพื้นที่ โดยพิจารณาจากสภาพเศรษฐกิจที่ทำให้ภาวะค่าครองชีพที่ต่างกัน เช่น เมืองใหญ่ และเมืองท่องเที่ยว ย่อมมีค่าครองชีพที่สูงกว่า และรัฐบาลควรมีมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อกระจายการลงทุนออกไปยังส่วนภูมิภาคด้วย หากไม่มีปัจจัยค่าแรงที่เท่ากัน จะทำให้การลงทุนกระจุกตัว และจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจลงได้

นายวรพล ยังกล่าวในฐานะผู้อำนวยการศูนย์เพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน นิด้า กรณีคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) รับรองสมาชิกสภาผู้แทรราษฎร (ส.ส.) ล่าช้า ซึ่งมีผู้เป็นห่วงว่าจะมีผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนหรือไม่นั้น เรื่องดังกล่าว ตนเองอยากให้กระบวนการทั้งหมด ผ่านไปได้ด้วยความรวดเร็ว เพื่อไม่ให้เกิดช่องว่างนานเกินไป เพราะประเทศต้องขับเคลื่อนด้วยเศรษฐกิจและนโยบายรัฐบาล ต้องมีผู้บริหารประเทศ ถ้าล่าช้าก็ย่อมมีผลเสียอย่างแน่นอน เพราะขณะนี้ เศรษฐกิจโลก กำลังผันผวนมาก ขณะเดียวกัน ประเทศก็จะไร้สภาวะที่มีรัฐบาลนานเกินไปก็ไม่ได้

ส่วนเรื่องของการใช้งบประมาณ ในนโยบายประชานิยม และส่งเสริมวินัยการคลังนั้น มองว่า ควรมีการใช้งบประมาณอย่างระมัดระวัง ไม่ว่าจะเป็นการใช้งบประมาณ เพื่อรองรับยุทธศาสตร์ด้านต่างๆ ก็ต้องรองรับจริงๆ หรือการใช้งบประมาณทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับนโนบาย ก็ต้องใช้ให้คุ้มค่าต่อการลงทุน

“ที่สำคัญ ต้องตอบโจทย์แก้ปัญหาสำคัญรากฐานของประเทศ เช่น ปัญหาความยากจน หนี้สินประชาชนภาคครัวเรือน รวมถึงการใช้งบประมาณในการกระตุ้นภาคธุรกิจที่ไม่สามารถแข่งขันในประเทศโดยรวมและกับประเทศอื่นให้แข่งขันได้ ที่สำคัญ เรื่องของปัญหาความไม่โปร่งใสในธรรมาภิบาลและคอรัปชั่น นับเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องมี”

นอกจากนี้ ยังมองว่า การจัดการการคลังกับนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่ให้มีความสอดคล้องกันนั้น รัฐบาลยังมีช่องว่างที่จะก่อหนี้ได้อยู่ เนื่องจากขณะนี้พบว่า หนี้สาธารณะไทยอยู่ที่ 41.28% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ยังห่างจาก 51% ของจีดีพี อยู่ที่ประมาณ 8.5% แต่การก่อหนี้จะต้อง รอบคอบระมัดระวังและควรมีวินัยในการคลัง ให้มากขึ้น ทุกบาทที่ใช้ถ้าคุ้มค่าและเกิดผล ก็ไม่เป็นไร แต่ทั้งนี้ ต้องอาศัยกลไกอื่นด้วย ซึ่งเรียกว่า การลงทุนร่วมภาครัฐและเอกชน (Private Pupblic Partnership) หรือ PPP เพื่อให้เอกชนมีส่วนร่วมกับภาครัฐ เร่งแก้ไขกฎกติกาให้ชัด และสร้างความโปร่งใส เปิดเผย จะช่วยให้การดำเนินการทุกอย่างรวดเร็วขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น