xs
xsm
sm
md
lg

"ปู" ปัดแจง ขึ้นค่าแรง 300 บ. กระทบเอสเอ็มอีตายหมู่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
"ปู" เลี่ยงตอบชัด ค่าแรงขึ้น 300 บ. กระทบเอสเอ็มอี ระบุรายละเอียดอยู่ระหว่างการศึกษาของทีมทำงาน เผยแนวทางปฏิบัติจริงจะต้องชี้แจงแหล่งรายได้แก่ประชาชนด้วย ด้าน สทท. ฟันธงภาคท่องเที่ยวตายหมู่ แนะทยอยปรับขึ้นใน 4 ปี ด้าน สสว. เผยเอสเอ็มอีกรุงเทพฯ กระทบต้นทุนเพิ่ม 39.5%

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ว่าที่นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นโยบายขึ้นค่าแรง 300 บาทต่อวัน ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการศึกษาในรายละเอียด ระหว่างคณะทำงานพรรคกับหน่วยงานและผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยวัตถุประสงค์หลัก ต้องการผลักดันนโยบายที่เคยนำเสนอต่อประชาชนไว้ อย่างไรก็ตาม ทางพรรคจะต้องคำนึงถึงผลกระทบกับผู้ที่เกี่ยวข้องด้วย พร้อมรับฟังความคิดเห็นจากหลายฝ่ายเพื่อให้ทุกอย่างเป็นไปอย่างเรียบร้อยมากที่สุด

เมื่อถามว่านโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท และเงินเดือนผู้จบปริญญาตรี 15,000 บาท จะส่งผลเสียตามมาหรือไม่ โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอี ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจนต้องปิดกิจการจำนวนมาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ตอบว่า ขณะนี้ หลายฝ่ายอาจจะมองด้านค้าใช้จ่ายเพียงด้านเดียว แต่ตามนโยบายจะดูเรื่องแหล่งรายได้ด้วย ทุกอย่างจะต้องมีคำตอบที่เป็นภาพรวม ขณะนี้ ยังไม่อยากจะลงไปในรายละเอียดของแต่ละนโยบาย เพราะอาจทำให้ผู้ที่รับฟังข่าวสารรู้สึกตกใจ เนื่องจากยังไม่มีแผนที่ชัดเจน เพราะยังไม่มีการประกาศอย่างเป็นทางการ หากมีการพูดคุยกับผู้ที่เกี่ยวข้องและมีแผนที่ชัดเจนจะแจ้งให้ได้รับทราบ โดยจะมีรายละเอียดระบุว่าจะใช้จ่ายอย่างไร จะนำมาจากไหน และจะหารายได้อย่างไร เพื่อให้ประชาชนสบายใจ

ด้านนายกงกฤช หิรัญกิจ ประธานฝ่ายนโยบายสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) เปิดเผยว่า หากมีการปรับค่าแรงเป็น 300 บาททั่วประเทศ และค่าแรงวุฒิปริญญาตรี เริ่มต้นเดือนละ 15,000 บาท วันที่ 1 ม.ค. 2555 ตามที่ว่าที่รัฐบาลประกาศไว้ จะมีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวอย่างแน่นอน เพราะมีแรงงานในภาคบริการจำนวนมาก ดังนั้น ทาง สทท. อยากให้ทยอยปรับขึ้นภายใน 4 ปี ตามระยะเวลาของรัฐบาล เพื่อให้ผู้ประกอบการมีเวลาปรับตัว

ด้านนายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กล่าวว่า จากการศึกษาของ สสว. พบว่าโครงสร้างต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านแรงงานและเงินเดือนของผู้ ประกอบการเอสเอ็มอี เฉลี่ยคิดเป็น 16.2% ของต้นทุนปัจจัยการผลิตทั้งหมด ดังนั้น หากค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำเพิ่มขึ้น 1% จะส่งผลให้ต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านแรงงานเพิ่มขึ้น 0.16%

สำหรับนโยบายของรัฐบาลใหม่ที่จะปรับขึ้นค่าแรงงานขั้นต่ำเป็น 300 บาทต่อวันเท่ากันทั่วประเทศ จึงส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการเอสเอ็มอีอย่างรุนแรง โดยกรุงเทพมหานคร ซึ่งมีการจ้างงานเอสเอ็มอี 3.3 ล้านคน หากมีการขึ้นค่าแรงเป็น 300 บาทต่อวัน จะทำให้ธุรกิจมีค่าแรงงานเพิ่มขึ้น 39.5% และต้องแบกรับต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านแรงงานเพิ่มขึ้น 6.4%
กำลังโหลดความคิดเห็น