xs
xsm
sm
md
lg

การเมืองคลี่คลาย กระตุ้นเชื่อมั่น SMEs ขยับเพิ่ม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.)
สสว. รายงานดัชนี TSSI SMEs เดือนพฤษภาคม เพิ่มขึ้นทั้งปัจจุบันและคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ 46.0 และ 51.7 โดยมีธุรกิจร้านค้าปลีกสมัยใหม่ (Modern Trade) ค่าดัชนีเพิ่มสูงสุด สาเหตุสำคัญมาจากการประกาศยุบสภาฯ การเมืองมีแนวโน้มคลีคลาย เม็ดเงินหาเสียงสะพัด ขณะที่ตัวเลขการส่งออกยังดีขึ้นต่อเนื่อง

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยถึงผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการภาคการค้าและบริการ (Trade & Service Sentiment Index : TSSI) ประจำเดือนพฤษภาคม เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเมษายน 2554 พบว่า ดัชนี TSSI SMEs รวมภาคการค้าและบริการเพิ่มขึ้นเล็กน้อยอยู่ที่ 46.0 จากระดับ 45.6 (เพิ่มขึ้น 0.4) โดยเป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของภาคค้าปลีก ซึ่งค่าดัชนีอยู่ที่ 44.6 จากระดับ 42.6 (เพิ่มขึ้น 2.0) ขณะที่ภาคค้าส่งและภาคบริการค่าดัชนีลดลงอยู่ที่ 45.2 และ 47.8 จากระดับ 46.7 และ 48.5 ตามลำดับ (ลดลง 1.5 และ 0.7) สำหรับความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจประเทศ ค่าดัชนีเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 38.8 จากระดับ 35.1 (เพิ่มขึ้น 3.7) ส่วนความเชื่อมั่นต่อธุรกิจตนเองค่าดัชนีลดลง อยู่ที่ 44.3 จากระดับ 48.0 (ลดลง 3.7)

“ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ค่าดัชนีในเดือน พ.ค. เพิ่มขึ้น เป็นผลมาจากการประกาศยุบสภาของรัฐบาลนายกฯ อภิสิทธิ์ ส่งผลให้มีเม็ดเงินจากการเร่งหาเสียงของผู้สมัครรับเลือกตั้งเข้าสู่ระบบ รวมทั้งการที่ราคาขายปลีกน้ำมันเบนซิน ปรับตัวลดลง 1.90 บาท/ลิตร ทำให้ผู้ประกอบการคลายความกังวลด้านต้นทุนและกระตุ้นให้ประชาชนจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น เศรษฐกิจคึกคักมากขึ้น นอกจากนี้การส่งออกยังขยายตัวระดับสูงต่อเนื่อง ซึ่งในเดือน พ.ค. มีมูลค่า 19,464.74 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 17.6 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน ขณะที่เงินบาทอ่อนค่าลงเล็กน้อยอยู่ที่ 30.25 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลดีต่อการส่งออกและการท่องเที่ยวของประเทศ” ผอ.สสว. กล่าว

เมื่อพิจารณาแต่ละประเภทกิจการ พบว่า ภาคค้าปลีก เป็นภาคธุรกิจเดียวที่ค่าดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยมีร้านค้าปลีกสมัยใหม่ (Modern Trade) ค่าดัชนีเพิ่มมากที่สุดอยู่ที่ 44.5 จากระดับ 40.3 (เพิ่มขึ้น 4.2) ผลจากผู้ประกอบการคลายความกังวลด้านต้นทุน เพราะสัญญาณการปรับตัวลดลงของราคาน้ำมันเบนซิน นอกจากนี้ยังมีเม็ดเงินจากการเร่งหาเสียงของผู้สมัครเข้าสู่ตลาด ทำให้ประชาชนมีการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น เห็นได้จากดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือน พ.ค. ปรับตัวสูงขึ้น มาอยู่ที่ระดับ 80.4

ส่วนภาคค้าส่ง และภาคบริการ ซึ่งค่าดัชนีปรับตัวลดลง พบว่า ภาคค้าส่ง กิจการค้าส่งวัสดุก่อสร้าง ค่าดัชนีลดลงมากที่สุดอยู่ที่ 39.8 จากระดับ 45.2 (ลดลง 5.4) เนื่องจากต้นทุนราคาวัสดุก่อสร้างปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างในเดือน พ.ค. อยู่ที่ระดับ 120.2 เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.8 เมื่อเทียบ

กับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเป็นการเพิ่มขึ้นของราคาวัสดุก่อสร้างในทุกกลุ่ม ส่วนภาคบริการ กิจการบริการท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง ได้แก่ ร้านอาหาร/ภัตตาคาร บริการท่องเที่ยว โรงแรม/เกสต์เฮ้าส์/บังกะโล เป็นกลุ่มที่ค่าดัชนีปรับตัวลดลงมากที่สุด อยู่ที่ 46.1 50.6 และ 49.6 จากระดับ 50.7 54.4 และ 53.2 (ลดลง 4.6 3.8 และ 3.6) ตามลำดับ เนื่องจากเข้าสู่ช่วงฤดูฝน ซึ่งเป็น Low Season ของการท่องเที่ยว มีฝนตกหนักในหลายพื้นที่ ปริมาณนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศลดลงจากเดือนก่อนร้อยละ 8.61 และเป็นการลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2


สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า รวมภาคการค้าและบริการ พบว่าค่าดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 51.7 จากระดับ 48.8 (เพิ่มขึ้น 2.9) และเป็นการเพิ่มขึ้นทุกประเภทกิจการ โดยภาคค้าส่ง ภาคค้าปลีก และภาคบริการ ค่าดัชนีเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 53.0 50.3 และ 52.9 จากระดับ 50.0 47.4 และ 49.9 (เพิ่มขึ้น 3.0 2.9 และ 3.0) ตามลำดับ เช่นเดียวกับความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจประเทศและต่อธุรกิจตนเอง ที่ค่าดัชนีเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 61.6 และ 52.5 จากระดับ 42.8 และ 50.4 (เพิ่มขึ้น 18.8 และ 2.1) ตามลำดับ ทั้งนี้ค่าดัชนีคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ในระดับที่เกินกว่า 50 ในทุกประเภทกิจการ สะท้อนให้เห็นว่าผู้ประกอบการ SMEs มีความเชื่อมั่นในการดำเนินกิจการในอนาคตในระดับที่ดี เนื่องจากมีความคาดหวังว่าผลการเลือกตั้งในวันที่ 3 ก.ค. จะกระตุ้นให้เศรษฐกิจประเทศดีขึ้น

ในส่วนผลการสำรวจดัชนีรายภูมิภาคในเดือน พ.ค. เมื่อเปรียบเทียบกับเดือน เม.ย. 2554 พบว่า ส่วนใหญ่มีค่าดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยภูมิภาคที่มีค่าดัชนีเพิ่มขึ้นมากที่สุด ได้แก่ ภาคเหนือ ค่าดัชนีเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 47.1 จากระดับ 42.6 (เพิ่มขึ้น 4.5) รองลงมา คือ กรุงเทพฯ และปริมณฑล ค่าดัชนีเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 47.8 จากระดับ 46.4 (เพิ่มขึ้น 1.4) ภาคกลาง ภาคตะวันออกและภาคตะวันตก ค่าดัชนีเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 45.9 จากระดับ 44.8 (เพิ่มขึ้น 1.1) และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ค่าดัชนีเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 45.6 จากระดับ 44.8 (เพิ่มขึ้น 0.8) มีเพียงภาคใต้ภูมิภาคเดียวที่ค่าดัชนีลดลงอยู่ที่ 43.9 จากระดับ 49.1 (ลดลง 5.2) และเป็นการลดลงทั้งค่าดัชนีปัจจุบันและคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า โดยมีผลจากการลดลงของค่าดัชนีในทุกภาคธุรกิจ โดยเฉพาะภาคบริการที่มีค่าดัชนีลดลงมากที่สุด เนื่องจากธุรกิจภาคการท่องเที่ยวซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ภาคใต้มีการชะลอตัวเพราะเข้าสู่ช่วง Low Season นอกจากนี้สินค้าเกษตรหลายรายการได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติที่ผ่านมา รวมทั้งสินค้าหลักอย่างยางแผ่นมีราคาตกต่ำลง
กำลังโหลดความคิดเห็น