xs
xsm
sm
md
lg

เคาะน้ำมันปาล์มขวดเหลือ 42 บาท เงินเฟ้อ มิ.ย.กระฉูดทะลุ 4%

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

"พาณิชย์" สั่งลดราคาน้ำมันปาล์มขวดลง 5 บาท เหลือ 42 บาท มีผลทันทีสำหรับล็อตใหม่จากโรงงาน ส่วนในห้าง ร้านค้าปลีกให้ขายสต็อกเก่าจนหมดแล้วค่อบปรับลง ขณะที่ "เงินเฟ้อ" เดือน มิ.ย. พุ่งเกินระดับ 4.06% เป็นผลจากหมวดอาหาร-น้ำมันยังสูง "ยรรยง" มั่นใจคุมอยู่

นางวัชรี วิมุกตายน อธิบดีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณาราคาแนะนำน้ำมันพืช เมื่อวันที่ 1กรกฏาคมที่ผ่านมา มีมติให้ปรับลดราคาน้ำมันปาล์มขวดลง 5 บาท จากราคาขวดขนาด 1 ลิตรขวดละ 47 บาทเหลือ 42 บาท มีผลตั้งแต่วันที่ 2 กรกฏาคม 2554เป็นต้นไป ส่งผลให้โรงงานผลิตน้ำมันปาล์มทุกแห่งจะต้องปรับลดราคาปาล์มขวดหน้าโรงงานลง

ทั้งนี้เหตุผลที่ให้ลดราคาน้ำมันปาล์มขวด เพราะต้นทุนลดลงจากการที่ราคาผลปาล์มดิบปรับตัวลดลงต่อเนื่องเหลือขณะนี้กิโลกรัมละ 4.40-5.40 บาท ส่งผลให้ราคาน้ำมันปาล์มดิบอยู่ที่กิโลกรัมละ 28-30 บาท

พร้อมกันนี้ ทาง กรมการค้าภายใน จะเริ่มส่งเจ้าหน้าที่ออกตรวจสอบราคาน้ำมันปาล์มทั่วประเทศในอีก 1 สัปดาห์ข้างหน้าเพื่อให้โอกาสร้านค้ารายย่อย และร้านค้าขนาดเล็กบริหารจัดการสต็อกสินค้าเก่าที่รับซื้อมาก่อนหน้านี้ ส่วนราคาน้ำมันถั่วเหลืองยังไม่มีการปรับลดราคาโดยราคาแนะนำยังอยู่ที่ขวดละ 55 บาท

นางวัชรีกล่าวอีกว่า สำหรับการกำหนดราคาแนะนำอาหารปรุงสำเร็จ หรืออาหารจานเดียวในราคา 25-30 บาท เช่น ข้าวราดแกง ข้าวผัด ข้าวผัดกะเพรา ก๋วยเตี๋ยวผัดซีอิ๊ว เป็นต้น ซึ่งมีร้านอาหารตามสั่งบางรายไม่เห็นด้วย เนื่องจากต้นทุนวัตถุดิบในการประกอบอาหารหลายชนิดมีการปรับตัวสูงขึ้นนั้น จากการสัมมนาเครือข่ายร้านอาหารมิตรธงฟ้าเพื่อประชาชน ที่ประชุมส่วนใหญ่เห็นว่า การเพิ่มเมนู 25-30 บาท เพื่อเป็นทางเลือกให้ประชาชนนั้น สามารถดำเนินการได้

อย่างไรก็ดีผู้ประกอบการที่ยังกำหนดราคาอาหารอยู่ในระดับสูง รับที่จะไปเพิ่มเมนูรายการอาหารระดับจานละ 25-30 บาท เพื่อเป็นการเพิ่มการแข่งขัน เพิ่มทางเลือกให้กับผู้บริโภค และเป็นการช่วยลดภาระค่าครองชีพของประชาชน ส่วนผู้ประกอบการให้ความร่วมมือจำหน่าย หรือเพิ่มเมนูอาหาร 25-30 บาท อยู่แล้ว ทางกรมฯจะให้การสนับสนุนช่วยเหลือลดต้นทุนและประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบ โดยจัดทำเว็บไซต์ราคาอาหารปรุงสำเร็จ เพื่อให้ข้อมูลแก่ประชาชนผู้บริโภคได้ทราบเมนูอาหาร,ราคาและชื่อร้าน เป็นการเปิดเผยข้อมูลให้โปร่งใส ประชาชนรู้ข้อมูลมากขึ้น และให้มีการแข่งขันระหว่างผู้ประกอบการมากขึ้น รวมทั้งจะเปิดให้ประชาชนโหวตร้านอาหารยอดนิยมที่มีรสชาติอร่อย ราคาประหยัดเพื่อให้ได้รับทราบเป็นทางเลือกกันมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม หากพบร้านอาหารใดที่จำหน่ายอาหารปรุงสำเร็จราคา 25-30 บาทที่มีรสชาติอร่อย คุณภาพดี ให้แจ้งที่สายด่วนกรมการค้าภายใน 1569 หรือสำนักงานการค้าภายในจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อกรมจะได้เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบต่อไป

นายยรรยง พวงราช ปลัดกระทรวงพาณิชย์ แถลงดัชนีราคาผู้บริโภคหรือเงินเฟ้อเดือนมิถุนายน 2554 ว่า เท่ากับ 112.54 แม้เมื่อหากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จะสูงขึ้นร้อยละ 4.06 แต่เป็นอัตราเพิ่มที่ลดลงจากเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 4.19 ถือเป็นการขยายตัวในระดับที่เหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจ ไม่สูงตามที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้

สำหรับเงินเฟ้อการปรับตัวสูงขึ้น เป็นผลจากการสูงขึ้นของดัชนีราคาหมวดอาหาร และเครื่องดื่ม ที่สูงขึ้นร้อยละ 7.76 โดยดัชนีราคาหมวดข้าว แป้ง และผลิตภัณฑ์จากแป้ง สูงขึ้นร้อยละ 3.78 หมวด เนื้อสัตว์ต่างๆ สูงขึ้นร้อยละ 11.49 และไข่กับผลิตภัณฑ์นม สูงขึ้น 4.17 เป็นต้น แต่ปัจจัยที่ทำให้เงินเฟ้อไม่สูงกว่าเดือนก่อนหน้านี้ เป็นเพราะราคาน้ำมันเริ่มปรับลดลง ขณะที่สินค้าเกษตรส่วนใหญ่มีการปรับราคาลง โดยเฉพาะราคาเนื้อหมูเฉลี่ยทั่วประเทศปรับลงเหลือกิโลกรัมละ 130-140 บาท จากเดือนพฤษภาคมที่เฉลี่ยกิโลกรัมละ 135 - 150 บาท ยกเว้นราคาอาหารสำเร็จรูปเฉลี่ยสูงขึ้นร้อยละ 0.79 หรือเฉลี่ยถุงละ 25 - 35 บาท ซึ่งกรมการค้าภายในเตรียมหารือสมาคมภัตราคารไทย และศูนย์อาหารในห้าง ให้จัดทำเมนูธงฟ้าเพื่อช่วยเหลือค่าครองชีพให้กับประชาชน

สำหรับเงินเฟ้อเฉลี่ย 6 เดือน (มกราคม-มิถุนายน 2554) เพิ่มขึ้น 3.56% ถือว่ายังอยู่ในกรอบเป้าหมายที่กระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้าหมายไว้ทั้งปีที่ 3.2-3.7% แต่ก็ยังมีจากปัจจัยที่ต้องจับตา คือ ราคาน้ำมันดิบเฉลี่ย 6 เดือนอยู่ที่ 105.42 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ปรับตัวสูงกว่าที่คาดไว้ระหว่าง 78-88 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันสำเร็จรูปที่สิงโปร์เฉลี่ยที่ 118.85 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ส่วนอัตราแลกเปลี่ยนเดือนมิถุนายนเฉลี่ยที่ 30.50 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งยังอยู่ในกรอบที่คาดการณ์ไว้ที่ 28-33 บาทต่อดอลลาร์

"ภาวะเงินเฟ้อที่ชะลอตัวลง สะท้อนถึงเศรษฐกิจไทยยังคงมีเสถียรภาพที่ดีมาก และเชื่อว่า จะดีต่อเนื่อง เมื่อเทียบกับในภูมิภาคเอเชียด้วยกัน จะพบว่าช่วง 5 เดือนแรกที่ผ่านมา เงินเฟ้อของไทยอยู่อันดับ 2 รองจากมาเลเซีย และจากที่ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชียวัดระดับราคาสินค้าของทุกประเทศในเอเชีย ยังพบว่า แม้เศรษฐกิจไทยขยายตัวดีกว่าหลายประเทศ แต่ราคาสินค้ายังอยู่ในระดับที่ถูกกว่า"นายยรรยง กล่าว

ส่วนไตรมาส 3 คาดเงินเฟ้อจะเฉลี่ยอยู่ที่ 3.6% และไตรมาส 4 อยู่ระหว่าง 3.5-3.6% โดยมีปัจจัยเสี่ยงในเรื่องน้ำมันเชื้อเพลิงที่ราคาอยู่ในระดับสูงเป็นระยะเวลานาน และอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในช่วงขาขึ้น ซึ่งมีผลต่อต้นทุนการผลิตสินค้า

ขณะที่ ดัชนีผู้บริโภคทั่วไปเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา (พฤษภาคม 2554) สูงขึ้นร้อยละ 0.13 เป็นผลจากการสูงขึ้นของราคาสินค้าอาหารสด และสินค้าอุปโภคและบริโภคปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ ผักสด ไก่สด ข้าวสารเจ้า ปลาและสัตว์น้ำ และอาหารสำเร็จรูป ส่วนสินค้าที่ราคาปรับตัวลดลง ได้แก่ เนื้อสุกร ผลไม้สด ไข่ ข้าวสารเหนียว น้ำมันเชื้อเพลิง และเครื่องรับอุปกรณ์สื่อสารและสิ่งที่เกี่ยวกับการทำความสะอาดบ้าน

ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศ ในเดือนมิถุนายน 2554 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สูงขึ้นร้อยละ 2.55 และหากเทียบกับเดือนที่ผ่านมา (พฤษภาคม 54) สูงขึ้นร้อยละ 0.18 ส่งผลให้ในระยะครึ่งปีแรกของปีนี้ (มกราคม - มิถุนายน ) สูงขึ้นร้อยละ 1.91 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
กำลังโหลดความคิดเห็น