xs
xsm
sm
md
lg

ปชช.เคลิ้มหลังเลือกตั้ง ลืมตาอ้าปากได้ “ต่างชาติ” ผวาประชานิยมเสี่ยงการลงทุน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ม.หอการค้าฯ เผย ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค พ.ค.อยู่ที่ 71.1 ดีขึ้นในรอบ 4 เดือน มั่นใจ ศก.ไทย โตเกิน 4% จับตาเม็ดเงินเลือกตั้ง ดันเงินเฟ้อทะลุ 5% ช่วงไตรมาส 3 ขณะที่ “ทุนนอก” ผวาประชานิยมเป็นภาระก้อนใหญ่ ขณะที่ไม่มีแผนรายได้ชัดเจน ถือเป็นความเสี่ยงต่อการลงทุน

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนพฤษภาคม 2554 ปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 80.4 สูงขึ้นจากเดือนเมษายน ซึ่งอยู่ที่ 79.6 โดยเฉพาะดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับสถานการณ์ในอนาคต เนื่องจากประชาชนมีความหวัง ว่า หลังจากการเลือกตั้งรัฐบาลใหม่จะมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจให้ปรับตัวดีขึ้น ประกอบกับราคาน้ำมันที่เริ่มปรับตัวลดลง รวมถึงเริ่มมีเม็ดเงินจากการเลือกตั้งสะพัดมากขึ้น

“ดัชนีความเชื่อมั่นในเดือนนี้ ถือว่าเป็นการหยุดสัญญาณการลดตัวลงจาก 3 เดือนก่อน และปรับดีขึ้นเนื่องจากประชาชนมีความหวังว่าหลังเลือกตั้งนโยบายของพรรคการเมืองจะช่วยในการกระตุ้นเศรษฐกิจ และฉุดความเชื่อมั่นในอนาคต แต่ทั้งนี้ ต้องติดตามว่าจะมีความยั่งยืนขนาดไหน”

โดยปัจจัยบวกที่มีผลต่อดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ได้แก่ การที่รัฐบาลยุบสภา และประกาศให้มีการเลือกตั้ง ส่งผลจิตวิทยาเชิงบวกว่า รัฐบาลใหม่จะมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจให้ปรับตัวดีขึ้น ราคาน้ำมันในประเทศปรับลดลง สำนักงานเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) คงประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2554 ที่ระดับ 3.5-4.5% ราคาสินค้าเกษตรทรงตัวในระดับสูง เงินบาทอ่อนค่าลงเล็กน้อย และภาคส่งออกของไทยที่ยังขยายตัวต่อเนื่อง

ส่วนปัจจัยลบ ได้แก่ ผู้บริโภคกังวลค่าครองชีพและราคาสินค้าที่อยู่ในระดับสูง ความกังวลสถานการณ์ทางการเมืองในอนาคต สภาพอากาศและภัยพิบัติ และความกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก อย่างไรก็ดี ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่มีต่อสถานการณ์ในปัจจุบันปรับตัวลดลงเล็กน้อยเนื่องจากความกังวลเรื่องค่าครองชีพที่สูงขึ้นต่อเนื่อง แม้รัฐบาลจะออกมาตรการมาดูแลแล้วก็ตาม ขณะที่ราคาน้ำมันยังทรงตัวในระดับสูง

ส่วนสถานการณ์ความเชื่อมั่นในอนาคตเริ่มมีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นจากความคาดหวังของประชาชนเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองที่เข้าสู่บรรยากาศการเลือกตั้ง การใช้จ่ายในช่วงเลือกตั้ง รวมทั้งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ทั้งนี้ ยังมองว่า ปัญหาค่าครองชีพยังเป็นปัจจัยคอยบั่นทอนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง

ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ คาดว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคจะเริ่มส่งสัญญาณการฟื้นตัวขึ้น หากปัจจัยเรื่องค่าครองชีพ สถานการณ์ทางการเมืองในประเทศคลี่คลาย และราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวลดลงในช่วงไตรมาส 2 ของปีนี้ แต่ปัจจัยที่มีผลกระทบต่อดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนมิถุนายน 2554 ยังหนีไม่พ้นเรื่องการเลือกตั้ง และแนวโนยบายต่างๆ รวมทั้งทิศทางการเมืองหลังการเลือกตั้ง ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญต้อความเชื่อมั่นของประเทศไทยในสายตาของนานาชาติช่วงครึ่งปีหลัง

ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) มีโอกาสพุ่งแตะ 5% ช่วงปลายไตรมาส 3/2554 หรือต้นไตรมาส 4/2554 จากดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป ในเดือน พ.ค.ที่ขยายตัวเพิ่มจากช่วงเดียวกันของปีก่อนถึง 4.19% และเพิ่มขึ้น 0.34% จากเดือนก่อนหน้า โดยเป็นผลจากเลือกตั้ง ทำให้มีเม็ดเงินสภาพคล่อง เพิ่มอำนาจการจับจ่ายของประชาชนเพิ่ม ดังนั้น จึงมีแนวโน้มที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (อาร์พี) รวมอีก 0.75% หรือเป็น 3.75% ในสิ้นปีนี้ เนื่องจากห่วงว่าเงินเฟ้อพื้นฐานหลุดกรอบด้านบนที่ 3% (กรอบเงินเฟ้อพื้นฐาน 0.5-3.00%)

ด้าน นายฉัตรชัย บุญรัตน์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย เปิดเผยถึงการปรับตัวลดลงของดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ในช่วงนี้ เป็นเพราะแรงเทขายของนักลงทุนต่างชาติ หลังจากไม่มีความเชื่อมั่นต่อนโยบายการหาเสียงของพรรคการเมืองต่างๆ โดยเฉพาะนโยบายประชานิยม เพราะหากมีการดำเนินการจริง จะเป็นภาระต่องบประมาณของรัฐบาลเป็นจำนวนมาก โดยไม่มีวิธีการหารายได้เข้าประเทศที่ชัดเจน ซึ่งจะเป็นความเสี่ยงต่อการลงทุนและมีโอกาสที่ ดัชนีจะหลุด 1,000 จุดได้ แต่จะมีการปรับตัวดีขึ้น หลังจากมีรัฐบาลและแถลงนโยบายต่อรัฐสภาแล้ว เพราะจะมีความชัดเจนในเรื่องของนโยบายมากขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น