xs
xsm
sm
md
lg

เอกชนลุ้น รบ.ใหม่ แก้เกม ศก.ชัด-เป็นรูปธรรม ห่วงเสถียรภาพ-เลือกตั้งซ้ำ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แฟ้มภาพ
ภาคเอกชนเสวนา “ทิศทางประเทศ” แนะรัฐบาลใหม่ เร่งปฏิรูปจริงจัง “อนุสรณ์” มองรัฐบาลใหม่อาจไม่มีเสถียรภาพ ต้องเลือกตั้งซ้ำอีก “ธนวรรธน์” แนะทางออกการเมือง หากมีรัฐบาลใหม่ ทุกฝ่ายต้องยอมรับผลเลือกตั้ง “ทีดีอาร์ไอ” แนะรัฐบาลใหม่ ต้องปฏิรูปโครงสร้างภาษี ยอมรับประเทศไทยเลิกประชานิยมไม่ได้ แต่รัฐบาลต้องพยายมปรับให้เป็นสวัสดิการถ้วนหน้า

นายอนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวในงานเสวนาวิชาการเรื่อง “ทิศทางประเทศไทย รัฐบาลหน้าต้องทำอย่างไร” ที่จัดขึ้นโดยสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ โดยมองว่า รัฐบาลชุดใหม่อาจไม่มีเสถียรภาพ และเกิดการเลือกตั้งอีก จึงจำเป็นต้องพัฒนาระบอบประชาธิปไตยให้เข้มแข็งและมั่นคงมากขึ้น รวมทั้งต้องยึดมั่นในหลักนิติรัฐ นิติธรรม และฟังเสียงข้างมาก สร้างความเป็นธรรม และความเสมอภาค เร่งผลักดันการปฏิรูปประเทศอย่างแท้จริง ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจไทยแข็งแกร่งตามไปด้วย

ขณะที่ นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เรียกร้องให้ทุกฝ่ายยอมรับผลการเลือกตั้ง เพื่อให้รัฐบาลใหม่อยู่ครบ 4 ปี และเห็นว่า ในระยะสั้น รัฐบาลใหม่ต้องอัดฉีดเม็ดเงิน กระตุ้นเศรษฐกิจ และดูแลค่าครองชีพของประชาชน ส่วนระยะยาว ต้องพัฒนาโครงสร้างการศึกษา พัฒนาเทคโนโลยี โครงสร้างพื้นฐาน และระบอบภาษี

“แม้ว่ารัฐบาลชุดใหม่ที่จะเข้ามาจะเป็นรัฐบาลผสม และพรรคไหนจะเข้ามาเป็นรัฐบาล อยากให้ทุกฝ่ายยอมรับผลการเลือกตั้งที่เป็นเสียงของประชาชน เพื่อให้รัฐบาลชุดใหม่สามารถอยู่ครบเทอม 4 ปี เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อการวางนโยบายเศรษฐกิจและสังคมได้อย่างมั่นคง ซึ่งจะสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนต่างชาติที่จะเข้ามาลงทุยในไทยอีกด้วย”

ทั้งนี้ ภายหลังการเลือกตั้งรัฐบาลใหม่จำเป็นจะต้องเร่งแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจทั้งระยะสั้นและระยะยาว โดยในระยะสั้นจะต้องมีการอัดฉีดเม็ดเงินลงสู่ระบบเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ดูแลค่าครองชีพของประชาชน โดยเฉพาะราคาสินค้าไม่ให้ปรับตัวสูงขึ้น ยกระดับราคาสินค้าเกษตร สร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนและประชาชน และพัฒนาด้านการท่องเที่ยว รวมถึงส่งเสริมภาคการส่งออก

พร้อมกันนี้ จะต้องวางรากฐานระยะยาวด้วยการพัฒนาโครงสร้างภาคการศึกษาของไทย ส่งเสริมพัฒนาเทคโนโลยีมาใช้ในภาคอุตสาหกรรม พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงการพัฒนาโครงสร้างระบบภาษีให้รองรับการเติบโตของภาคอุตสาหกรรม และการเตรียมการพร้อมการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) รวมทั้งจะต้องวางระบบการแก้ไขปัญหายาเสพติดและคอร์รัปชันด้วย

ส่วน นายสมชัย จิตสุชน จากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ระบุว่า หลังการเลือกตั้ง รัฐบาลใหม่ควรเน้นแก้ปัญหาระยะยาว โดยเฉพาะการปฏิรูปประเทศ และลดความเลื่อมล้ำทางสังคม ส่วนนโยบายประชานิยมนั้น ยอมรับว่า จำเป็นต้องมีอยู่ แต่ควรปรับเปลี่ยนให้เป็นรัฐสวัสดิการมากขึ้น

“ประเทศไทยไม่สามารถยกเลิกโครงการประชานิยมได้ ขณะเดียวกัน หากรัฐยังมุ่งตั้งประเด็นเพิ่มอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจเพื่อลดความยากจน จะเป็นตัวลดความเหลื่อมล้ำทางรายได้ของสังคมนั้น จะส่งผลต่อโครงสร้างของเศรษฐกิจไทยในระยะยาว”

ซึ่งในความเป็นจริงนั้น การตั้งคณะกรรมการกำหนดแนวทางลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมไม่สามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้ รัฐบาลชุดใหม่ควรปรับนโยบายประชานิยมให้เป็นนโยบายสวัสดิการถ้วนหน้า พร้อมกับปฏิรูปโครงสร้างภาษีครั้งใหญ่ โดยตั้งเป้าหมายขยายฐานการจัดเก็บรายได้ภาษี จากร้อยละ 7.8 เป็นร้อยละ 20 ภายในเวลา 5 ปีข้างหน้า

นอกจากนี้ รัฐบาลควรเป็นแกนนำหลักในการลงทุนภาคงานวิจัย รวมถึงอาจปรับลดบทบาทภาครัฐในการกำกับระบบการศึกษาของประเทศ เพื่อเพิ่มศักยภาพบุคลากรในระยะยาว รวมทั้งควรให้ความสำคัญกับภาคบริการมากขึ้น ควบคู่กับการผลิตและการส่งออกที่เป็นอยู่

ด้าน นายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า รัฐบาลชุดใหม่ที่เข้ามาบริหารประเทศ โดยเฉพาะด้านการส่งออกไม่ควรเน้นการกำหนดตัวเลข การส่งออกแต่ละปีมากเกินไป โดยเน้นการเติบโตเพียงอย่างเดียว แต่ควรให้ความสำคัญในการเร่งพัฒนาอุตสาหกรรมเอสเอ็มอี ซึ่งเป็นภาคธุรกิจการส่งออกของไทยให้มีความมั่นคงและแข็งแกร่ง โดยเน้นอุตสาหกรรมพื้นฐาน เช่น กลุ่มสินค้าอาหาร สินค้าแปรรูป ที่ประเทศไทยมีศักยภาพในด้านนี้

นอกจากนี้ สิ่งที่รัฐบาลชุดใหม่ต้องเร่งผลักดัน คือ การทำให้นักลงทุนหันไปลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น เนื่องจากไทยประสบปัญหาภาระต้นทุนด้านแรงงาน วัตถุดิบที่เพิ่มสูงขึ้น รวมถึงปัจจัยด้านความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนและราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น

ส่วนปัญหาราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น มองว่ารัฐบาลชุดใหม่จะต้องปล่อยให้ราคาน้ำมันในประเทศลอยตัว เพราะเชื่อว่าแนวโน้มราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกจะปรับตัวสูงถึง 150 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ซึ่งรัฐบาลจะอุดหนุนเฉพาะกลุ่มที่ได้รับผลกระทบที่แท้จริงในช่วงแรก เพื่อให้ผู้ประกอบการปรับตัวเท่านั้น
กำลังโหลดความคิดเห็น