xs
xsm
sm
md
lg

พณ.จุดพลุเขต ศก.พิเศษ “แม่สอด” หอการค้า-ทูตพาณิชย์ แนะทางออกเขมร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“รมช.พาณิชย์” มั่นใจเขต ศก.พิเศษ “แม่สอด” ดึงนักลงทุนเพียบ เป็นต้นแบบพัฒนา-กระจายความเจริญ “ธนวรรธน์” เชื่อกลไกเจรจายุติความขัดแย้งได้ “ทูตพาณิชย์” ยอมรับไทยปิดด่านกระทบชาวเขมร และภาคธุรกิจ

นายอลงกรณ์ พลบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด ที่จังหวัดตาก ถือว่าเป็นประตูเศรษฐกิจที่สำคัญ ซึ่งจะเชื่อมโยงประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะตลาดด้านตะวันตก เช่น ประเทศพม่า รวมทั้งเอเชียใต้ และทวีปแอฟริกา ไปจนถึงทวีปยุโรป

ทั้งนี้ คาดว่า จะใช้พื้นที่จำนวน 5,600 ไร่ ที่ ต.แม่ปะ และ ต.ท่าสายลวด จ.ตาก ประกอบด้วย ศูนย์บริการนำเข้า-ส่งออกแบบเบ็ดเสร็จครบวงจร อุทยานนิคมอุตสาหกรรมนานาชาติ ลอจิสติกส์พาร์ค คลังสินค้า ศูนย์ขนส่งและกระจายสินค้า ศูนย์ราชการ และศูนย์พาณิชยกรรม รวมทั้งยังเป็นเขตส่งเสริมการลงทุน ส่งเสริมการนำเข้า-ส่งออกแบบครบวงจร ซึ่งจะสามารถดึงดูดนักลงทุนทั้งชาวไทยและนานาชาติได้จำนวนมาก

นอกจากนี้ เขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด เป็นโมเดลการพัฒนาเศรษฐกิจในรูปแบบของการกระจายความเจริญ และการลงทุน เพราะจะเป็นฐานของการลงทุน และฐานการผลิตสินค้า ทั้งเพื่อการส่งออกและใช้ภายในประเทศ ทำให้เกิดการจ้างงานจำนวนมาก และจะช่วยเชื่อมโยงการพัฒนาคู่ขนานไปกับประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้ 10 จังหวัดในภาคตะวันตกของประเทศไทย จะมีขั้วของความเจริญเกิดขึ้น

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ไม่อยากให้สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างไทยกับกัมพูชา ยืดเยื้อนาน 2-3 เดือน เพราะอาจส่งผลต่อภาพรวมทางเศรษฐกิจของไทยได้ ซึ่งจะทำให้มีการปรับลดถึง 0.1% แม้มูลค่าของทั้ง 2 ฝ่าย จะมีปริมาณไม่มาก แต่หากยืดเยื้อนานเกินไป อาจกระทบการค้าอาเซียนได้

ทั้งนี้ เชื่อว่า กลไกที่จะทำให้เรื่องนี้ยุติ น่าจะอยู่ที่การเจรจา มากกว่าประกาศปิดด่านต่อกัน เพราะจะเกิดผลกระทบต่อประชาชน 2 ประเทศ โดยปัจจุบันกัมพูชายังต้องการสินค้าไทยอยู่

นายจีรนันท์ วงศ์มงคล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา กรมส่งเสริมการส่งออก เปิดเผยว่า เหตุปะทะกันจนถึงวันนี้ ส่งผลกระทบต่อการส่งออก และการค้าชายแดน อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะระยะเวลาที่ยืดเยื้อ และสถานที่เกิดเหตุใกล้ชายแดน บางด่านถูกปิด เช่น ด่านช่องจอม และ ด่านโอร์เสม็ด ทำให้สินค้า และวัสดุก่อสร้าง และน้ำมัน ขนเข้ามาในกัมพูชาไม่ได้ หากการปะทะเหมือนครั้งก่อน เช่นที่เขาพระวิหาร และไม่มีการปิดด่าน จะไม่กระทบต่อการค้า

เมื่อเกิดการปะทะและต้องส่งเสบียงให้ ย่อมไม่มีใครซื้อสินค้าไทยส่งให้ทหาร หากในยามปกติ ทั้งประชาชนและทหาร ก็คือผู้บริโภคสินค้าเช่นกัน สำหรับโครงการที่สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ร่วมมือกับเอกชนกัมพูชา เมื่อปลายเดือนมีนาคม ที่ผ่านมา เกี่ยวกับข้อตกลงเรื่องข้าว ทั้งการเพิ่มผลผลิต และการพัฒนาระบบลอจิสติกส์ คาดว่า จะสามารถดำเนินต่อไป เพราะนักธุรกิจไทยแยกแยะเรื่องนี้ได้

ในช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้ การค้าระหว่างไทย-กัมพูชา ขยายตัวได้ถึง 31% สินค้าสำคัญ ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป น้ำตาลทราย เครื่องดื่ม เครื่องยนต์ ปูนซีเมนต์ เครื่องสำอาง สบู่และผลิตภัณฑ์รักษาสิว เหล็ก และผลิตภัณฑ์ผ้าผืน รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เป็นต้น
กำลังโหลดความคิดเห็น