ก.อุตฯ เร่งแก้ไขปัญหาเรือบรรทุกน้ำตาลทราย “ไทยรุ่งเรือง” ล่มที่แม่น้ำเจ้าพระยา จ.พระนครศรีอยุธยา พร้อมหาทางสกัดน้ำตาล 2.4 พันตันละลายลงสู่แม่น้ำ เพื่อไม่ให้สถานการณ์เลวร้ายไปกว่านี้ สั่ง กอน.ล้อมคอกการขนส่งน้ำตาลทางเรือ เพื่อป้องกันเหตุซ้ำรอย ทั้งการกำหนดให้มีการตรวจสอบสภาพเรือ สภาพน้ำ น้ำหนักบรรทุก อุปกรณ์บังคับเรือ และกอบกู้เหตุฉุกเฉินได้อย่างทันท่วงที รวมทั้งต้องมีการประกันความรับผิดชอบค่าเสียหายต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงกรณีที่เรือของบริษัทไทยมารีน ซัพพลาย จำกัด ซึ่งบรรทุกน้ำตาลทรายแดงของกลุ่มไทยรุ่งเรืองเกิดอุบัติเหตุเรือโป๊ะลำที่ 2 ซึ่งบรรทุกน้ำตาลทรายปริมาณ 2,400 ตัน ชนตอม่อสะพานสวนนก กลางแม่น้ำเจ้าพระยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยระบุว่ากระทรวงอุตสาหกรรมได้เร่งส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ไปร่วมประสานดำเนินงานกับจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขสถานการณ์ดังกล่าว
ทั้งนี้ จากการตรวจวัดคุณภาพน้ำและตรวจสภาพพื้นที่จริง ได้กำหนดมาตรการแก้ไขและป้องกัน คือ เร่งรัดให้มีการสูบถ่ายน้ำตาลทรายขึ้นจากเรือลำที่ล่มโดยเร็วเพื่อไม่ให้เกิดการละลายลงสู่แม่น้ำเพิ่มขึ้น เนื่องจากผลการตรวจวัดค่าการนำไฟฟ้าจากบริเวณจุดเรือล่มมีค่าเพิ่มขึ้นตามระยะทางและเวลา ซึ่งแสดงว่ามีน้ำตาลละลายจากเรือลงสู่แม่น้ำมากขึ้นเรื่อยๆ
ขณะเดียวกัน ได้ประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกรมควบคุมมลพิษ ช่วยฟื้นฟูคุณภาพน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา และการป้องกันความเสียหายและผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อประชาชนบริเวณริมน้ำ เช่น ระดมเครื่องเติมอากาศ เพื่อเติมออกซิเจนในน้ำ เพื่อให้คุณภาพกลับคืนสู่สภาพปกติโดยเร็วที่สุด
พร้อมกันนี้ก็ได้มอบหมายให้อุตสาหกรรมจังหวัดประสานประมงจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี และนนทบุรี เร่งประชาสัมพันธ์สถานการณ์ที่เกิดขึ้นและการวิธีดูแลเบื้องต้นให้ประชาชนได้รับทราบ โดยเฉพาะผู้ที่เลี้ยงปลาในกระชังริมแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างให้มีการใช้ปั๊มเติมออกซิเจนให้กับปลาที่เลี้ยง เพื่อป้องกันไว้ล่วงหน้า
ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมกล่าวอีกว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้ตรวจสอบและกำชับโรงงานที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ทั้งบริเวณที่เกิดเหตุและที่น้ำไหลผ่าน ให้ควบคุมการระบายน้ำทิ้งจากโรงงานอย่างเคร่งครัด ไม่ให้ซ้ำเติมสถานการณ์ที่เกิดขึ้นให้เลวร้ายลงอีก
พร้อมกันนี้ยังได้เร่งรัดให้สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) ไปพิจารณากำหนดมาตรการขนส่งน้ำตาลทรายทางเรือ เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต เช่น กำหนดให้มีการตรวจสอบสภาพเรือ สภาพน้ำ น้ำหนักบรรทุก อุปกรณ์บังคับเรือ และกอบกู้เหตุฉุกเฉินได้อย่างทันท่วงที รวมทั้งต้องมีการประกันความรับผิดชอบค่าเสียหายต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น