xs
xsm
sm
md
lg

“อลงกรณ์” จี้ อินโดนีเซียเลิกใช้เซฟการ์ด ถกอียูยอมไทยจดจีไอข้าว-นำเข้าไก่สด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“อลงกรณ์” ร้องอิเหนายกเลิกใช้เซฟการ์ดกับสินค้าไทย เหตุการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นเพราะผู้ผลิตอินโดปิดกิจการ สินค้าไม่พอใช้ ต้องแห่นำเข้าเพิ่ม ร้องยกเลิกเอ็นทีบีข้าวหอมมะลิไทย เดินหน้าจี้อียูยกเลิกค้านจดทะเบียนสิ่งบ่งชี้ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ และนำเข้าไก่สดไทย หลังปลอดหวัดนก พร้อมเริ่มเจรจาเอฟทีเอไทย-อียู

นายอลงกรณ์ พลบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงผลการหารือทวิภาคีกับคณะกรรมาธิการการค้าสหภาพยุโรป (อียู) และรัฐมนตรีการค้าของอินโดนีเซีย ระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 18 เมื่อวันที่ 5-8 พ.ค.ที่ผ่านมา ที่กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย ว่า ได้ขอให้อินโดนีเซียยกเลิกการประกาศใช้มาตรการปกป้องการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้น (เซฟการ์ด) สินค้าโพลิโพรไพลีน ที่นำเข้าจากไทย เพราะไทยไม่ได้ส่งออกสินค้าดังกล่าวในปริมาณมากเกินความต้องการใช้จนทำให้อุตสาหกรรมภายในของอินโดนีเซียได้รับความเสียหายอย่างที่อินโดนีเซียกล่าวอ้าง แต่การที่ไทยส่งออกสินค้าดังกล่าวเพิ่มขึ้น เป็นเพราะผู้ผลิตของอินโดนีเซียรายใหญ่อันดับ 2 ของประเทศปิดกิจการ จึงทำให้ปริมาณที่ผลิตได้ในประเทศไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ และหันมานำเข้าจากไทยเพิ่มขึ้น

“ผู้ผลิตอินโดนีเซียรายหนึ่งปิดตัวลงเมื่อปีก่อน ทำให้สินค้าไม่พอใช้ก็ต้องนำเข้าจากไทยจำนวนมาก คือ บริษัทในเครือปูนซีเมนต์ไทย เพราะไม่เสียภาษีนำเข้า ในช่วงกว่า 1 ปีที่ผ่านมา ไทยส่งออกเพิ่มขึ้นมากเป็นเดือนละ 15,000-20,000 ตัน หรือปีละกว่า 200,000 ตัน แต่ไม่ได้ทำให้ผู้ผลิตอินโดเสียหายเลย เพราะผลิตเท่าไรก็ขายได้หมด จึงได้ขอให้เขายกเลิกการใช้มาตรการนี้ เพราะอาจจะมีผลทำให้มีการเก็บภาษีเพิ่มขึ้นหรือกำหนดโควตานำเข้า ซึ่งฝ่ายอินโดนีเซียรับจะพิจารณาให้” นายอลงกรณ์ กล่าว

นอกจากนี้ ยังได้ขอให้ผ่อนคลายมาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี (เอ็นทีบี) กับการนำเข้าข้าวหอมมะลิไทย รวมถึงแป้งข้าวเจ้า และแป้งข้าวเหนียวจากไทย หลังจากได้รับการร้องเรียนจากผู้นำเข้าข้าวหอมมะลิไทยชาวอินโดนีเซียว่า ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ไม่สามารถนำเข้าได้เลย เพราะรัฐบาลอินโดนีเซียกำหนดให้รัฐวิสาหกิจ 3 รายผูกขาดการนำเข้า และยังมีขั้นตอนยุ่งยากมากมายในการนำเข้า ทั้งที่ข้าวหอมมะลิไทยเป็นข้าวคุณภาพสูง ใช้ในภัตตาคาร ร้านอาหาร ซึ่งจะไม่ทำให้ข้าวพื้นเมืองได้รับผลกระทบแน่นอน โดยอินโดนีเซียรับจะพิจารณาให้เช่นกัน

นายอลงกรณ์ กล่าวว่า ส่วนการหารือกับอียู ทั้ง 2 ฝ่ายได้แสดงเจตจำนงทางการเมืองในการเริ่มเจรจาข้อตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ไทย-อียู โดยอียูเร่งรัดให้ไทยดำเนินการภายในโดยเร็ว เพราะขณะนี้ล่าช้ามาก โดยไทยได้ชี้แจงว่า การดำเนินการภายในของไทยจะต้องปฏิบัติตามมาตรา 190 แห่งรัฐธรรมนูญ 2550 ก่อน ในการจัดทำประชาพิจารณ์ และจากนั้นจะนำเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา เมื่อครม.อนุมัติ ก็จะเสนอให้รัฐสภาพิจารณา จากนั้นจึงจะเริ่มเจรจาได้ ซึ่งคงเป็นเรื่องของรัฐบาลชุดใหม่ที่จะเข้ามาดำเนินการในเรื่องเหล่านี้ พร้อมกันนั้น ได้เสนอให้อียูยืดหยุ่นกรอบการรเจรจาให้มากขึ้นด้วย

ขณะเดียวกัน ไทยได้ขอให้คณะกรรมาธิการการค้าของอียู สนับสนุนให้ไทยสามารถจดทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ในอียูได้สำเร็จ หลังจากที่ เมื่อปลายปี 2553 สมาชิกอียู 5 ประเทศ คือ อังกฤษ ฝรั่งเศส อิตาลี เบลเยียม และเนเธอร์แลนด์ คัดค้าน ขณะนี้ไทยได้ยื่นหนังสือคัดค้านการคัดค้านดังกล่าวไปแล้ว และกรมทรัพย์สินทางปัญญาจะเดินทางไปหารือกับทั้ง 5 ประเทศในเร็วๆ นี้ ซึ่งอียูแจ้งว่า เมื่อเรื่องมาแล้วจะพิจารณาให้ ขณะเดียวกัน ยังได้ขอให้อียูยกเลิกการประกาศห้ามนำเข้าไก่สดแช่แข็งจากไทย หลังจากที่ไทยปลอดเชื้อไข้หวัดนกมานานกว่า 2 ปี ตามมาตรฐานขององค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (โอไออี) ซึ่งอียูแจ้งว่า อยู่ระหว่างการตรวจสอบ และอาจจะมีข่าวดีโดยอนุญาตให้นำเข้าไก่สดแช่แข็งจากไทยได้ในเร็วๆ นี้
กำลังโหลดความคิดเห็น