“พลังงาน” แจงสถานการณ์การใช้เชื้อเพลิง เดือน มี.ค.54 พบมีการใช้เบนซินลดลง 7% เพราะราคาแพงขึ้นถึงลิตรละ 3 บาท สวนทางการใช้น้ำมันดีเซลที่เพิ่มขึ้น 4% หลังรัฐบาลตรึงราคาที่ไม่เกินลิตรละ 30 บาท ส่วนยอดใช้ NGV โตขึ้น 0.4 % ขณะที่การใช้ LPG โตขึ้น 4%
นายวีระพล จิรประดิษฐกุล อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) เปิดเผยถึงสถานการณ์ในการใช้เชื้อเพลิง ในเดือนมีนาคม 2554 ที่ผ่านมา โดยพบว่า ปริมาณการใช้น้ำมันเบนซิน ปรับลดลงจากเดือนกุมภาพันธ์ 2554 ร้อยละ 7 มาอยู่ที่ 19.8 ล้านลิตรต่อวัน เป็นผลมาจากเหตุความไม่สงบในลิเบีย และความกังวล ว่า สถานการณ์จะลุกลามไปยังประเทศตะวันออกกลาง
“กรณีดังกล่าวส่งผลต่อราคาน้ำมันในตลาดโลก ให้ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ราคาขายปลีกน้ำมันเบนซิน ในเดือนมีนาคม 2554 ปรับเพิ่มขึ้น จากเดือนกุมภาพันธ์ 2554 เกือบ 3 บาทต่อลิตร”
แม้ภาพรวมการใช้น้ำมันเบนซินในเดือนมีนาคม 2554 จะลดลง แต่การใช้แก๊สโซฮอล์ อี85 กลับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเพิ่มขึ้น ร้อยละ 18 มาอยู่ที่ 0.017 ล้านลิตรต่อวัน ตามจำนวนรถยนต์ที่ใช้แก๊สโซฮอล์ อี85 ที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากรัฐบาลได้มีมาตรการจูงใจให้มีการผลิตและนำเข้ารถยนต์ประเภทดังกล่าวและกำหนดราคาแก๊สโซฮอล์ อี85 ให้อยู่ในระดับต่ำกว่าชนิดอื่นๆ โดยส่วนต่างราคาอยู่ที่ 12-15 บาทต่อลิตร
นายวีระพล ยอมรับว่า ยอดใช้น้ำมันเบนซินที่ลดลง สวนทางกับการใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว ที่มีการปรับตัวสูงขึ้น ร้อยละ 4 มาอยู่ที่ 55.6 ล้านลิตรต่อวัน เนื่องจากนโยบายของรัฐบาลที่ตรึงราคาขายปลีกไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร ตั้งแต่เดือนมกราคม 2554 ประกอบกับปีนี้ผลผลิตทางการเกษตรสูง โดยเฉพาะ อ้อย ที่มีปริมาณมาก และเริ่มเข้าสู่ฤดูการเก็บเกี่ยวในช่วงนาปรัง ทำให้มีการใช้รถบรรทุก เพื่อการขนส่งพืชผลทางการเกษตรเพิ่มขึ้น
“การใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดา อยู่ที่ 54.6 ล้านลิตรต่อวัน น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี5 เหลือเพียง 0.2 ล้านลิตรต่อวัน เนื่องจากกรมธุรกิจพลังงานได้ออกประกาศกำหนดคุณภาพน้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดา บี2 ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2554 และยังให้คงสัดส่วนดังกล่าวไว้ต่อไปจนกว่าสถานการณ์น้ำมันปาล์มจะเข้าสู่ภาวะปกติ”
อย่างไรก็ตาม คาดว่า ในเดือนเมษายน 2554 ซึ่งมีวันหยุดในช่วงเทศกาลสงกรานต์ จะทำให้การใช้น้ำมันเบนซิน และน้ำมันดีเซล เพื่อการท่องเที่ยว ปรับตัวสูงขึ้น จากเดือนมีนาคม 2554 ประมาณ ร้อยละ 5 และร้อยละ 4 ตามลำดับ
สำหรับปริมาณการใช้ก๊าซธรรมชาติสำหรับรถยนต์ (NGV) ปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.4 จากเดือนกุมภาพันธ์ 2554 มาอยู่ที่ 6,420 ตันต่อวัน โดยมีสถานีบริการ NGV จำนวน 437แห่ง ส่วนปริมาณการใช้ก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ในเดือนมีนาคม 2554 อยู่ที่ระดับ 555,000 ตันต่อเดือน หรือ 17,900 ตันต่อวัน เพิ่มขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์ 2554 ร้อยละ 4 ซึ่งเป็นผลมาจากการใช้ในภาคปิโตรเคมี 193,000 ตันต่อเดือน หรือ 6,200 ตันต่อวัน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 10 และภาคอุตสาหกรรม 72,000 ตันต่อเดือน หรือ 2,300 ตันต่อวัน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 4 ขณะที่การใช้ในภาคครัวเรือน 221,000 ตันต่อเดือน หรือ 7,200 ตันต่อวัน และภาคขนส่ง 69,000 ตันต่อเดือน หรือ 2,200 ตันต่อวัน มีปริมาณใกล้เคียงกับเดือนก่อน ในเดือนมีนาคม 2554 มีการนำเข้า LPG จากต่างประเทศเพียง 91,000 ตัน มูลค่ารวม 2,500 ล้านบาท
ด้านการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง มีปริมาณรวมทั้งหมด 817,000 บาร์เรลต่อวัน ลดลงจากเดือนก่อน 3% ในขณะที่มูลค่านำเข้ารวมอยู่ที่ 86,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ร้อยละ 19 แบ่งเป็นการนำเข้าน้ำมันดิบ 778,000 บาร์เรลต่อวัน มูลค่านำเข้า 83,000 ล้านบาท และน้ำมันสำเร็จรูป 39,000 บาร์เรลต่อวัน มูลค่านำเข้า 3,100 ล้านบาท ส่วนการส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปมีปริมาณ 106,000 บาร์เรลต่อวัน เป็นมูลค่าส่งออก 12,800 ล้านบาท เพิ่มขึ้น ร้อยละ 14 และร้อยละ 51 ตามลำดับ
สำหรับการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงไตรมาส 1 ปี 2554 เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2553 พบว่า การใช้น้ำมันเบนซินปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเพียง ร้อยละ 1 อยู่ที่ 20.5 ล้านลิตรต่อวัน เช่นเดียวกับน้ำมันดีเซลหมุนเร็วที่เพิ่มขึ้น ร้อยละ 1 อยู่ที่ 53.8 ล้านลิตรต่อวัน ในขณะที่การใช้ NGV อยู่ที่ 6,188 ตันต่อวัน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 33 จึงเห็นได้ว่าราคาน้ำมันที่สูงขึ้นมีผลกระทบต่อการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง ส่งผลให้ประชาชนใช้น้ำมันลดลง และเปลี่ยนไปใช้พลังงานที่มีราคาถูกเพิ่มขึ้น โดยราคาขายปลีกน้ำมันเบนซินเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนเกือบ 4 บาทต่อลิตร และน้ำมันดีเซลหมุนเร็วเพิ่มขึ้น 2-3 บาทต่อลิตร แม้ว่าในปี 2554 รัฐบาลจะควบคุมราคาน้ำมันดีเซลหมุนเร็วแล้วก็ตาม