xs
xsm
sm
md
lg

กบง.ปาดเหงื่อ สถานการณ์ "ลิเบีย" คลี่คลาย ไม่ต้องควัก 50 ส.ต. อุ้มดีเซล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


อั้นใช้เงินกองทุนฯ อุ้มดีเซลที่ 5 บาท กบง. มีมติให้ชะลอใช้เงินกองทุนฯ อุดหนุนต่อ หลังประเมินสถานการณ์ "ลิเบีย" เริ่มคลี่คลาย ลดแรงกดดันด้านอุปทาน แนวโน้มน้ำมันโลกปรับตัวลดลง สบพ.แจงกองทุนน้ำมันฯ ยังไม่พ้นขีดอันตราย "ปิยสวัสดิ์"แนะรัฐบาลประกันความเสี่ยงน้ำมัน หากไม่ต้องการให้ราคาดีเซลเกินลิตรละ 30 บาท เชื่อมีผู้รับทำประกันแน่ แม้วงเงินค่อนข้างสูง

นายแพทย์วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) วันนี้ โดยระบุว่า ที่ประชุมไม่อนุมัติใช้เงินกองทุนแทรกแซงราคาดีเซลเพิ่มขึ้น โดยประเมินสถานการณ์ราคาน้ำมันล่าสุดพบว่า ราคาน้ำมันมีแนวโน้มลดลง และการปิดตลาดล่าสุดของน้ำมันดิบโลก ปรับตัวลดลง 3 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เนื่องจากสถานการณ์ในตะวันออกกลาง โดยเฉพาะลิเบียเริ่มคลี่คลายลง ส่งผลให้ความกังวลต่อซัพพลาย (อุปทาน) ราคาน้ำมันเริ่มลดลง

"ที่ประชุม กบง. วันนี้ มีมติไม่ชดเชยราคาน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้นอีก หลังจากสถานการณ์ราคาน้ำมันตลาดโลกวันนี้อ่อนตัวลง โดยราคาน้ำมันดิบดูไบในวันนี้ ปรับลดลงมาอยู่ที่ 108.06 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล จาก 111.63 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2554 และดีเซล สิงคโปร์ ลดลงมาอยู่ที่ 128.75 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล จาก 131.38 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล"

ดังนั้น จึงยังไม่จำเป็นต้องจ่ายเงินชดเชยให้แก่ผู้ค้าน้ำมัน เพิ่มขึ้นตามนโยบายดูแลราคาขายปลีกไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร โดยกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงยังคงชดเชยรวมอยู่ที่ 5 บาทต่อลิตร คิดเป็นเงินไหลออก 302 ล้านบาทต่อวัน หรือประมาณ 9,054 ล้านบาทต่อเดือน ซึ่งกระทรวงฯ เห็นว่า ค่าการตลาดน้ำมันเฉลี่ยอยู่ที่ 94 สตางค์ต่อลิตร ซึ่งเป็นระดับที่ผู้ค้ายังพอรับได้ อย่างไรก็ตาม มองว่าสถานการณ์ความไม่สงบในลิเบีย คาดว่าจะคลี่คลายในเร็วนี้ๆ หลังผู้นำลิเบียยอมเจรจากับฝ่ายตรงกันข้าม

ด้านนายศิวะนันท์ ณ นคร ผู้อำนวยการสถาบันบริหารกองทุนพลังงาน (สบพ.) กล่าวว่า ขณะนี้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง มีเงินสดสุทธิประมาณ 20,000 ล้านบาท จะสามารถดูแลราคาน้ำมันดีเซลไปได้จนถึงสิ้นเดือนเมษายน 2554 นี้

ส่วนภาระหนี้ที่จะต้องจ่ายให้กับบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ในส่วนของราคาก๊าซธรรมชาติสำหรับรถยนต์ (เอ็นจีวี) จำนวน 7,500 ล้านบาท และการชดเชยการนำเข้าก๊าซปิโตรเลียมเหลว (แอลพีจี) และเอ็นจีวี อีกกว่า 7,000 ล้านบาท ต้องใช้เวลาประมาณ 2-6 เดือน กว่าจะมีการเบิกจ่าย ซึ่งขึ้นอยู่กับกรมสรรพสามิตกับผู้เบิก คาดว่าจะเบิกจ่ายได้หลังเดือนเมษายน 2554

สำหรับรายได้ของกองทุนฯ ปัจจุบัน อยู่ที่กว่า 2,000 ล้านบาทต่อเดือน ส่วนใหญ่มาจากการจัดเก็บเงินในส่วนของเบนซิน 95 และเบนซิน 91 เข้ากองทุนน้ำมันฯ ขณะที่รายจ่ายมีกว่า 9,000 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นหนี้ค้างจ่ายเอ็นจีวี แอลพีจี และดีเซล

นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (ดีดี) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) อดีตผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (สพช.) กล่าวถึงการแก้ปัญหาผลกระทบราคาน้ำมันแพง และการแก้ปัญหาพยุงราคาน้ำมันดีเซลที่ลิตรละ 30 บาท เพื่อป้องกันผลกระทบต้นทุนการผลิตสินค้าและภาคขนส่ง โดยระบุว่า รัฐบาลควรจัดทำประกันความเสี่ยงราคาน้ำมัน (HEDGING) หากไม่ต้องการให้ราคาน้ำมันดีเซลสูงเกินกว่าลิตรละ 30 บาท ซึ่งเชื่อว่าจะมีผู้รับทำประกันแน่นอน แม้วงเงินจะค่อนข้างสูงก็ตาม

ทั้งนี้ แนวทางดังกล่าวจะไม่เป็นภาระต่อกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง แต่ขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาลว่าจะเลือกใช้แนวทางใด เพราะแนวทางที่ดีที่สุดคือการปล่อยราคาน้ำมันให้เป็นไปตามกลไกตลาดโลก

สำหรับแผนรับมือน้ำมันแพงของการบินไทย นายปิยสวัสดิ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาการบินไทยทำประกันความเสี่ยงราคาน้ำมันอากาศยาน สำหรับเครื่องบินแอร์บัส เอ340-500 ซึ่งเป็นเครื่องบินที่มีอัตราการสิ้นเปลืองน้ำมันสูงมาก เมื่อราคาน้ำมันปรับตัวเพิ่มขึ้น จึงมีโอกาสขาดทุนจากการใช้เครื่องบินดังกล่าว

"ยอมรับว่า ในอดีตการบินไทยขาดทุนจากการใช้เครื่องบินแอร์บัส เอ340-500 เพื่อให้บริการ แต่ปัจจุบันได้ทำประกันความเสี่ยงน้ำมันสำหรับเครื่องบินรุ่นนี้ที่ 117 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่งผลให้การบินไทยมีค่าใช้จ่ายน้ำมันต่ำกว่าราคาตลาดโลกซึ่งอยู่ที่ 130 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล"
กำลังโหลดความคิดเห็น