บอร์ด กบง.ไฟเขียวชดเชยดีเซล B3 ลิตรละ 80 ส.ต.ส่วน B5 ชดเชยลิตรละ 1 บาท พยุง “ปตท.-บางจาก” ไม่ปรับขึ้นดีเซลขายปลีก ไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร มีผลทันทีพรุ่งนี้ ด้าน “รมว.พลังงาน” เผย ใช้เงินกองทุนน้ำมัน 5 พันล้านในการชดเชย
วันนี้ (13 ม.ค.) หลังจากที่ การประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงาน (กบง.) อนุมัติให้นำเงินจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงไปชดเชยราคาน้ำมันดีเซลเพิ่มเติมเพื่อดูแลไม่ให้ราคาขายปลีกสูงเกิน 30 บาท/ลิตร โดยมีผลทันทีตั้งแต่วันพรุ่งนี้ เป็นต้นไป
ทั้งนี้ ในส่วนของดีเซล B3 ให้ชดเชยเพิ่มอีกลิตรละ 80 สตางค์ จากเดิมที่ชดเชยไปก่อนหน้านี้แล้ว 85 สตางค์ รวมเป็น 1.65 บาท/ลิตร ขณะที่ไบโอดีเซล B5 ให้ชดเชยเพิ่มอีกลิตรละ 1 บาท จากเดิมที่ชดเชยไปก่อนหน้านี้แล้ว 1.50 บาท รวมเป็น 2.50 บาท/ลิตร
ด้าน นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รมว.พลังงาน กล่าวว่า หลังจาก กบง.มีมติดังกล่าวแล้วจะช่วยชะลอให้ บมจ.ปตท.(PTT) และ บมจ.บางจากปิโตรเลียม (BCP) ไม่ต้องประกาศปรับขึ้นราคาขายปลีกในส่วนของน้ำมันดีเซล ส่วนผู้ค้ารายอื่นที่ปรับขึ้นไปแล้ว 50 สตางค์/ลิตร จนทำให้น้ำมันดีเซล B3 อยู่ที่ 30.49 บาท/ลิตร และ B5 อยู่ที่ 29.89 บาท//ลิตร จะปรับลดหรือไม่ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของผู้ค้าเอง แต่คิดว่าน่าจะปรับลดลงมาหากราคาน้ำมันตลาดสิงคโปร์ไม่ปรับสูงขึ้นอีก
สำหรับการชดเชยราคาน้ำมันดีเซลครั้งนี้ได้ใช้เงินจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงวงเงิน 5,000 ล้านบาท ที่ได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เพื่อช่วยพยุงราคาน้ำมันดีเซลไม่ไห้สูงเกิน 30 บาท/ลิตร ตามนโยบายรัฐบาล ซึ่งการชดเชยรอบนี้ทำให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมีเงินไหลออกเพิ่มขึ้นเป็น 3,237 ล้านบาทต่อเดือน จากวงเงินคงเหลือ 3,759 ล้านบาท ซึ่งหากราคาน้ำมันดิบยังทรงตัวอยู่ในระดับสูงอย่างในปัจจุบัน จะทำให้วงเงินนี้สามารถชดเชยได้เพียง 1 เดือน สำหรับสถานะเงินกองทุนน้ำมันปัจจุบันอยู่ที่ 27,617 ล้านบาท
นอกจากนี้ ที่ประชุม กบง.ยังเห็นชอบตามมติ กพช.ให้ปรับเพิ่มราคารับซื้อก๊าซปิโตรเลียมเหลว (แอลพีจี) หน้าโรงกลั่น ให้เป็นราคาอิงตลาดโลก มีผลพรุ่งนี้ทันที โดยกำหนดราคารับซื้อจะอยู่ที่ 780 ดอลลาร์/ตัน จากเดิมที่กำหนดราคาเพดานไม่เกิน 330 ดอลลาร์/ตัน ทำให้ราคาแอลพีจีหน้าโรงกลั่นอยู่ในระดับใกล้เคียงกับราคาแนฟทาที่โรงกลั่นขายอยู่ ซึ่งเชื่อว่าโรงกลั่นจะผลิตแอลพีจีเพื่อจำหน่ายในประเทศเพิ่มขึ้นจาก 37,000 ตัน เพิ่มอีก 53,000 ตัน/เดือน และจะเริ่มผลิตได้เต็มที่ภายใน 5-6 เดือน ซึ่งจะช่วยลดการนำเข้าแอลพีจี ได้ 6 แสนตัน/ปี จากที่ต้องนำเข้า 1.47 ล้านตัน/ปี ลดลงเหลือ 8 แสนตัน/ปี ช่วยลดเงินอุดหนุนจากกองทุนน้ำมันฯ ได้ประมาณ 1,900 ล้านบาท/ปี
ส่วนการลอยตัวราคาแอลพีจีภาคอุตสาหกรรมนั้น จะเริ่มทยอยปรับขึ้นราคาหลังสิ้นสุดมาตรการตรึงราคาในเดือน ก.พ.นี้ โดยจะมีการทยอยขึ้น และปล่อยลอยตัวตามราคาตลาดโลกในเดือน ก.ค.54 ตามนโยบายประชาวิวัฒน์ ในส่วนของแอลพีจีภาคครัวเรือนและขนส่งในระยะแรกจะมีการตรึงราคาไปก่อน แต่ในอนาคตจะต้องมีการขยับราคาภาคขนส่งสูงขึ้น เพื่อป้องกันการนำเข้าที่จะเพิ่มขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงเชื้อเพลิงมาใช้แอลพีจีเพิ่มขึ้น แต่จะเป็นเมื่อไหร่นั้นขึ้นอยู่กับการพิจารณาของ กพช.