xs
xsm
sm
md
lg

ปตท.ขานรับลอยตัวราคา LPG NGV เสนอขอปรับขึ้น 2 บาท/กก.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน – ปตท.แนะรัฐทบทวนปรับขึ้นราคาLPGสำหรับภาคขนส่งและครัวเรือนในระยะกลางและยาว มิฉะนั้นจะเกิดปัญหาต้องใช้เงินอุดหนุนมหาศาลจากการนำเข้าLPG ชี้การลอยตัวLPGสำหรับภาคอุตสาหกรรมในเดือนก.ค.นี้เป็นนโยบายที่ดี ส่วนNGVเสนอขอปรับขึ้นราคา 2บาท/กก. เพื่อสะท้อนต้นทุน หลังแบกขาดทุนปีละ 1 หมื่นล้านบาท ย้ำหากรัฐไม่ปรับขึ้นแนะเป็นผู้ลงทุนเองทั้งหมด

นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงการแถลงนโยบายประชาวิวัฒน์ ของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ที่ให้มีการปรับราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ในภาคอุตสาหกรรมแบบลอยตัวในเดือนกรกฎาคมนี้ว่านับเป็นนโยบายที่ดี เนื่องจากไทยต้องนำเข้าLPGจากต่างประเทศ โดยปีที่ผ่านมา ไทยนำเข้าLPGสูงถึง 1.5 ล้านตัน ใช้เงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงอุดหนุนกว่า 2 หมื่นล้านบาท หากรัฐไม่มีการปรับโครงสร้างราคาLPGให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงก็จะใช้เงินอุดหนุนมากกว่านี้ซึ่งนโยบายการปรับโครงสร้างราคาขายLPG หน้าโรงกลั่นให้มีราคาที่เหมาะสมสอดคล้องกับต้นทุนน้ำมันดิบ ทำให้โรงกลั่นน้ำมันนำLPGออกมาจำหน่ายเพิ่มขึ้น ซึ่งจะช่วยทดแทนการนำเข้าLPGจากต่างประเทศได้

ส่วนการปรับราคาLPGในภาคครัวเรือนและภาคขนส่ง ควรจะเห็นการปรับขึ้นราคาในระยะกลางและยาว เพื่อให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง เนื่องจากราคาขาย LPG ปัจจุบันอิงราคาน้ำมันดิบที่ 20 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล แต่ปัจจุบันราคาพุ่งไปถึง 90 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ดังนั้นหากมีการตรึงราคาในอัตราที่ต่ำเกินไป จะทำให้มีการใช้LPG อย่างฟุ่มเฟือยและลักลอบไปจำหน่ายในประเทศเพื่อนบ้าน

ในส่วนของภาคขนส่งหากไม่มีการเปลี่ยนแปลงราคาจำหน่ายLPG จะทำให้เกิดปั๊มLPG เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากผู้ใช้รถยนต์หันมาติดตั้งเครื่องยนต์ที่ใช้LPG เพิ่มขึ้น จนทำให้ต้องนำเข้าLPGเพิ่มขึ้น ขณะที่ผู้ใช้รถยนต์เองมีทางเลือกในการใช้เชื้อเพลิงอื่นๆ เช่น NGV ไบโอดีเซลและแก๊สโซฮอล์ ดังนั้นราคาLPGสำหรับภาคขนส่งควรมีการปรับขึ้นในระยะกลาง

“ในระยะสั้น(ปีนี้)คงไม่มีการเปลี่ยนแปลงราคาขายLPGสำหรับภาคครัวเรือนและขนส่ง หากในระยะกลางและระยะยาวยังตรึงราคาเช่นนี้เชื่อว่าจะก่อให้เกิดปัญหา เนื่องจากมีการใช้LPGทวีคูณทำให้รัฐต้องอุดหนุนเป็นเงินมหาศาล”

นายประเสริฐ กลาวต่อไปว่า ส่วน NGV ยังคงเป็นปัญหาเรื่องการตั้งราคาที่ต่ำกว่าทุน ทำให้ปตท.ต้องแบกรับภาระขาดทุนอยู่ ดังนั้นหากตรึงราคาLPGไว้เท่าเดิมก็จะทำให้ราคาNGVขยับไม่ได้ สุดท้ายก็จะมีการบริโภคLPG-NGV เพิ่มมากขึ้น ทำให้ปตท.ไม่สามารถแบกรับภาระขาดทุนทำให้ไม่สามารถขยายปั๊มNGVเพิ่มขึ้นได้ ซึ่งแต่ละปีปตท.ต้องแบกรับภาระขาดทุนสุทธิ 1 หมี่นล้านบาท ซึ่งเดิมมติคณะรัฐมนตรี (ครม.)ให้มีการปรับขึ้นราคาNGVเป็นขั้นบันไดครั้งละ 2 บาทต่อกิโลกรัมแต่ไม่เกินราคาครึ่งหนึ่งของน้ำมันดีเซล แต่หากไม่ได้ปรับขึ้นราคาNGV รัฐบาลก็ต้องมาลงทุนทั้งหมดเอง

ปัจจุบันปตท.มีการลงทุนปั๊มNGVกว่า 400 แห่ง และมีรถยนต์ที่ใช้NGV 2แสนกว่าคัน คิดเป็นปริมาณการใช้เอ็นจีวีกว่า 200 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน โดยปีนี้ปตท.มีแผนจะขยายปั๊มNGVเพิ่มขึ้นเป็น 500 แห่ง หากรัฐไม่ทบทวนการปรับขึ้นราคาNGVให้เหมาะสม อนาคตก็คงไม่สามารถขยายปั๊มNGVได้อีกจำเป็นที่รัฐต้องเข้ามาอุดหนุนเพิ่ม

ด้านนายณัฐชาติ จารุจินดา รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลยุทธ์องค์กร บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า จะต้องรอดูนโยบายของกระทรวงพลังงาน ว่าจะรับมาดำเนินการอย่างไร แต่ในหลักการราคาพลังงาน น่าจะมีการปรับให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ซึ่งจะเห็นว่า ในการประชุมประเทศกลุ่มเศรษฐกิจชั้นนำ หรือ จี20 รวมทั้งจีนและอินโดนีเซีย ได้ลดการอุดหนุนราคาพลังงาน ขณะที่ไทยยังคงให้การอุดหนุนต่อไป ซึ่งจะเป็นปัญหาในระยะยาว

ดังนั้น รัฐบาลควรทบทวนนโยบายดังกล่าว ว่าจะทำอย่างไรให้เกิดความสมดุล เพราะปัจจุบัน ราคาLPG หน้าโรงกลั่น อยู่ที่ 330 เหรียญสหรัฐต่อตัน ในขณะที่ราคาตลาดโลก สูงกว่า 920 เหรียญสหรัฐต่อตัน ขณะที่ราคาน้ำมันเบนซิน ในประเทศขยับขึ้นไปอยู่ที่ 34 บาท ทำให้มีการใช้LPGเพิ่มขึ้น โดยในปีที่ผ่านมา มีรถยนต์หันมาใช้LPGสูงขึ้นถึง 13% และทำให้มีการนำเข้าLPG สูงถึง 1.3 แสนตันต่อเดือน หากไม่ปรับราคาLPGหน้าโรงกลั่น จะทำให้ตัวเลขการนำเข้าขยับขึ้นเป็น 1.5 แสนตันต่อเดือน

ส่วนราคาNGV ควรที่จะมีการปรับขึ้นอีก 2 บาทต่อกิโลกรัม เป็น 10.50 บาทต่อกิโลกรัม ตามแผนปรับโครงสร้างราคาพลังงาน โดยที่กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงควรที่จะให้การอุดหนุนราคาNGVในอัตรา 2 บาทต่อกิโลกรัมต่อไป หลังสิ้นสุดมาตรการในเดือนกุมภาพันธ์นี้ เนื่องจากปัจจุบัน ต้นทุนเอ็นจีวีเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 14 บาทต่อกิโลกรัม
กำลังโหลดความคิดเห็น