กรมธุรกิจพลังงาน เปิดตัว “วีระพล จิรประดิษฐกุล” อธิบดีคนใหม่ แถลงนโยบายหลังรับตำแหน่ง พร้อมแจงสถานการณ์การใช้น้ำมันเดือน ก.พ.-มี.ค.54 เผย งานแรกเตรียมนำทัพจัดสัมมนาผู้ประกอบการ ประจำปี 54 สัญจรทุกภูมิภาค และประกาศผลรางวัลปั๊มคุณภาพ ปลอดภัย น่าใช้บริการ ปี 3
นายวีระพล จิรประดิษฐกุล อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน แถลงนโยบายหลังเข้ารับตำแหน่งใหม่ในเดือนมีนาคม 2554 พร้อมกันนี้ นายวีระพล ยังได้เปิดเผยถึงสถานการณ์การใช้พลังงานภาพรวมในเดือนกุมภาพันธ์ 2554 ที่ผ่านมา ว่า มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม 2554 โดยการใช้กลุ่มน้ำมันเบนซินเพิ่มขึ้น 4.5% จาก 20.4 ล้านลิตรต่อวัน มาอยู่ที่ 21.3 ล้านลิตรต่อวัน เช่นเดียวกับการใช้กลุ่มน้ำมันดีเซลหมุนเร็วเพิ่มขึ้น 1.8% จาก 52.4 ล้านลิตรต่อวัน เป็น 53.3 ล้านลิตรต่อวัน
ส่วนการใช้ก๊าซธรรมชาติสำหรับรถยนต์ (NGV) เพิ่มขึ้น 10.8% จาก 5,770 ตันต่อวัน เป็น 6,390 ตันต่อวัน ในขณะที่การใช้ก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ในเดือนกุมภาพันธ์ ลดลง 0.8% อยู่ที่ 482,000 ตันต่อเดือน และในเดือนมีนาคม (ข้อมูล ณ วันที่ 1-19 มีนาคม 2554) ที่ผ่านมา การใช้น้ำมันกลุ่มเบนซิน มีปริมาณ 20.7 ล้านลิตรต่อวัน ลดลงจากเดือนกุมภาพันธ์ 2.9% ในขณะที่การใช้น้ำมันกลุ่มดีเซล มีปริมาณ 56.9 ล้านลิตรต่อวัน เพิ่มขึ้น 6.7%
การใช้น้ำมันกลุ่มเบนซินเพิ่มขึ้น โดยน้ำมันเบนซิน 91 และ 95 อยู่ที่ 8.4 ล้านลิตรต่อวัน เพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม 4.6% และการใช้แก๊สโซฮอล์ อยู่ที่ 12.9 ล้านลิตรต่อวัน เพิ่มขึ้น 4.4% เป็นผลจากเทศกาลตรุษจีนในช่วงต้นเดือนและมีวันหยุดติดต่อกันในช่วงกลางเดือน ทำให้ประชาชนมีการเดินทางและใช้เชื้อเพลิงเพิ่มมากขึ้น
ในส่วนการใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดา มีปริมาณเพิ่มขึ้น 32.2% อยู่ที่ 45.9 ล้านลิตรต่อวัน ขณะที่การใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี5 ลดลงถึง 63.0% เหลือเพียง 6.1 ล้านลิตรต่อวัน ซึ่งเป็นผลจากการที่รัฐบาลยังคงเดินหน้านโยบายตรึงราคาน้ำมันดีเซลให้มีราคาไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร ทำให้ความต้องการใช้น้ำมันดีเซลเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องเพราะราคาอยู่ในระดับต่ำ ประกอบกับการที่รัฐบาลชะลอการจำหน่ายน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี5 เพื่อบรรเทาปัญหาราคาน้ำมันปาล์มขาดแคลน
สำหรับการใช้ LPG มีปริมาณ 482,000 ตันต่อเดือน หรือ 17,200 ตันต่อวัน ลดลงจากเดือนมกราคม 0.8% ทั้งนี้ เป็นการลดลงในภาคปิโตรเคมี เนื่องจากโรงแยกก๊าซหน่วยที่ 6 หยุดซ่อมบำรุงตั้งแต่วันที่ 26 มกราคม 2554 ถึงวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2554 ทำให้โรงงานปิโตรเคมีบางแห่งต้องลดกำลังการผลิตลง โดยภาคปิโตรเคมีมีปริมาณใช้ลดลง 6.5% อยู่ที่ 159,000 ตันต่อเดือน หรือ 5,700 ตันต่อวัน
ส่วนการใช้ LPG ในภาคครัวเรือนและการใช้ในภาคขนส่งมีปริมาณใกล้เคียงกับเดือนก่อน คือ การใช้ในภาคครัวเรือนเพิ่มขึ้น 0.8% อยู่ที่ 199,000 ตันต่อเดือน หรือ 7,100 ตันต่อวัน และการใช้ในภาคขนส่งเพิ่มขึ้น 2.9% อยู่ที่ 61,000 ตัน/เดือน หรือ 2,100 ตันต่อวัน ในขณะที่ภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น 6.9% อยู่ที่ 62,000 ตันต่อเดือน หรือ 2,300 ตันต่อวัน ทำให้ในเดือนกุมภาพันธ์ 2554 มีการนำเข้า LPG จากต่างประเทศเป็นปริมาณ 114,000 ตัน มูลค่ารวม 3,000 ล้านบาท
ทางด้านการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงมีปริมาณรวมทั้งหมด 844,000 บาร์เรลต่อวัน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 3.4% มูลค่านำเข้ารวม 72,000 ล้านบาท ลดลงจากเดือนก่อน 0.1% โดยแบ่งเป็นการนำเข้าน้ำมันดิบ 790,000 บาร์เรลต่อวัน เพิ่มขึ้น 2.5% มูลค่านำเข้า 68,000 ล้านบาท ลดลง 0.3% และน้ำมันสำเร็จรูป 54,000 บาร์เรลต่อวัน มูลค่านำเข้า 3,700 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 19.5% และ 3.5% ตามลำดับ โดยการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปที่เพิ่มขึ้นส่วนหนึ่งเป็นผลจากโรงกลั่นบางจากมีการนำเข้าน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว เพื่อทดแทนส่วนที่ขาดหายไปจากการ shutdown ในเดือนกุมภาพันธ์โรงกลั่นลดการส่งออกลง ทำให้การส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปมีปริมาณเพียง 93,000 บาร์เรลต่อวัน เป็นมูลค่าส่งออก 8,500 ล้านบาท โดยปริมาณส่งออกลดลง 43.2% และมูลค่าลดลง 42.9%
นอกจากนี้ อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน ยังกล่าวถึงโครงการ “พลังงานสัญจร สะท้อนความเห็นผู้ประกอบการ ปี 54” ซึ่งกรมธุรกิจพลังงานได้จัดต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี ตั้งแต่ พ.ศ.2547 เป็นต้นมา เพื่อให้ผู้ประกอบการมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ หรือ ปัญหาจากการประกอบธุรกิจน้ำมันเชื้อเพลิง พร้อมทั้งติดตาม แก้ไขปัญหา อุปสรรคต่างๆ ของการประกอบกิจการ ให้กับผู้ประกอบการธุรกิจพลังงาน โดยในปีนี้ ได้กำหนดจัดสัมมนาทั้งหมด จำนวน 5 ครั้ง จัดในส่วนกลาง 1 ครั้ง และส่วนภูมิภาค จำนวน 4 ครั้ง ซึ่งการสัมมนาครั้งแรก จะจัดขึ้นในวันพุธที่ 30 มีนาคม 2554 เวลา 10.30-11.00 น.ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น โดยได้รับเกียติจาก นายแพทย์ วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเป็นประธานเปิดงาน
“การสัมมนาพลังงานสัญจร สะท้อนความเห็นผู้ประกอบการนี้ จะเป็นเวทีสำหรับแลกเปลี่ยน ข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะต่างๆ ระหว่างภาครัฐและภาคธุรกิจ ตลอดจนเป็นการติดตาม แก้ไขปัญหา อุปสรรคต่างๆ ของการประกอบกิจการ โดยขณะนี้กรมได้เชิญผู้ประกอบการธุรกิจพลังงานด้านน้ำมัน ก๊าซปิโตรเลียมเหลว และก๊าซธรรมชาติ ทั่วประเทศ คาดว่า การจัดโครงการในครั้งนี้ จะก่อให้เกิดการประสานความร่วมมือที่ดีระหว่างภาครัฐและเอกชน ในการกำกับดูแลสถานประกอบกิจการพลังงานให้มีความสอดคล้องและมีแนวทางปฏิบัติเป็นไปในทิศทางเดียวกัน”
อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน ยังได้เปิดเผยถึงมาตรการ ยกระดับมาตรฐานสถานีบริการน้ำมันตามโครงการ “ปั๊มคุณภาพ ปลอดภัย น่าใช้บริการ” (ปีที่ 3) โดยระบุว่า ได้สร้างรูปแบบการแข่งขันการให้บริการ มีผลโดยตรงต่อภาพพจน์ของธุรกิจค้าปลีกน้ำมัน สร้างความเชื่อมั่น ให้แก่ผู้ใช้บริการ และสิ่งแวดล้อมที่ดีแก่ชุมชน นำไปสู่การเพิ่มมูลค่าทางการตลาดให้กับสถานีบริการน้ำมันทั่วประเทศ โดยหลักเกณฑ์ที่ใช้พิจารณาในปีนี้ แบ่งเป็น 3 ส่วน คือ
1.ระบบควบคุมคุณภาพน้ำมัน 2.ระบบควบคุมความปลอดภัย และ 3.ระบบควบคุมความสะอาด สุขอนามัยและมาตรฐานการบริการ ซึ่งในปีนี้ได้เพิ่มหลักเกณฑ์การพิจารณาในเรื่อง การปฏิบัติและประชาสัมพันธ์เผยแพร่กฎหมายเกี่ยวกับการห้ามจำหน่าย และห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ภายในสถานีบริการน้ำมันเพิ่มขึ้นด้วย เนื่องจากเป็นการรณรงค์เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุเนื่องจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แล้วขับยานพาหนะ
การดำเนินโครงการปีที่ 3 นี้ กรมธุรกิจพลังงานได้เปิดรับสมัคร ตั้งแต่วันที่ 11 พฤศจิกายน 2553 โดยมีสถานีบริการน้ำมันจะเข้าร่วมทั้งสิ้นจำนวน 1,135 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งสถานีบริการน้ำมันที่ผ่านการคัดเลือกทั้งสิ้นจำนวน 744 แห่ง ซึ่งแบ่งเป็นเหรียญทองจำนวน 314 แห่ง เหรียญเงินจำนวน 257 แห่ง และเหรียญทองแดงจำนวน 173 แห่ง ทั้งนี้ ในปีนี้ได้เพิ่มเหรียญรางวัลพิเศษเพิ่มขึ้นสำหรับสถานีบริการน้ำมันที่ได้รับรางวัลเหรียญทองต่อเนื่อง 3 ปีซ้อน ซึ่งมีจำนวนทั้งสิ้น 69 แห่ง และนับว่า เป็นสุดยอดรางวัลสถานีบริการน้ำมันคุณภาพของประเทศ โดยกรมธุรกิจพลังงาน จะมีการประกาศผลและจัดพิธีมอบรางวัลให้แก่สถานีบริการน้ำมันที่ผ่านการประเมิน ในวันที่ 5 เมษายน 2554 เวลา 12.00 น.ณ หอประชุมมหิศร อาคารไทยพาณิชย์ ปาร์ค พลาซ่า