xs
xsm
sm
md
lg

ยอดใช้ีดีเซล ก.พ.-มี.ค.พุ่ง 32.2% หลัง รบ.พยุงราคา-ดันดีมานด์สูง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบอินเทอร์เน็ต
ยอดใช้ดีเซลเดือน ก.พ.-มี.ค.พุ่งขึ้น 32.2% ซึ่งเป็นผลจากรัฐบาลพยุงราคาไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร ทำให้ความต้องการใช้สูงขึ้น ขณะที่ ยอดใช้เบนซินทั้งเดือน มี.ค.ลดลง

วันนี้ (25 มี.ค.) นายวีระพล จิรประดิษฐกุล อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน เปิดเผยยอดการใช้พลังงานในเดือนกุมภาพันธ์ 2554 โดยพบว่า มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม 2554 โดยการใช้กลุ่มน้ำมันเบนซินเพิ่มขึ้น 4.5% จาก 20.4 ล้านลิตรต่อวัน มาอยู่ที่ 21.3 ล้านลิตรต่อวัน เช่นเดียวกับการใช้กลุ่มน้ำมันดีเซลหมุนเร็วเพิ่มขึ้น 1.8% จาก 52.4 ล้านลิตรต่อวัน เป็น 53.3 ล้านลิตรต่อวัน และการใช้ก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (NGV) เพิ่มขึ้น 10.8% จาก 5,770 ตันต่อวัน เป็น 6,390 ตันต่อวัน ในขณะที่การใช้ก๊าซหุงต้ม (LPG) ในเดือนกุมภาพันธ์ 2554 ลดลง 0.8% อยู่ที่ 482,000 ตันต่อเดือน

สำหรับในเดือนมีนาคม (ข้อมูล ณ วันที่ 1-19 มีนาคม 2554) ที่ผ่านมา การใช้น้ำมันกลุ่มเบนซินมีปริมาณ 20.7 ล้านลิตรต่อวัน ลดลง 2.9% จากเดือนกุมภาพันธ์ 2554 ในขณะที่การใช้น้ำมันกลุ่มดีเซลมีปริมาณ 56.9 ล้านลิตรต่อวัน เพิ่มขึ้น 6.7% การใช้น้ำมันกลุ่มเบนซินเพิ่มขึ้น โดยเบนซิน 91 และเบนซิน 95 อยู่ที่ 8.4 ล้านลิตรต่อวัน เพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม 4.6% และการใช้แก๊สโซฮอล์ อยู่ที่ 12.9 ล้านลิตรต่อวัน เพิ่มขึ้น 4.4% เป็นผลจากเทศกาลตรุษจีนในช่วงต้นเดือน และมีวันหยุดติดต่อกันในช่วงกลางเดือน ทำให้ประชาชนมีการเดินทางและใช้เชื้อเพลิงเพิ่มมากขึ้น

ส่วนการใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดา มีปริมาณเพิ่มขึ้น 32.2% อยู่ที่ 45.9 ล้านลิตรต่อวัน ขณะที่การใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี5 (ไบโอดีเซล) ลดลงถึง 63.0% เหลือเพียง 6.1 ล้านลิตรต่อวัน ซึ่งเป็นผลจากการที่รัฐบาลยังคงเดินหน้านโยบายตรึงราคาน้ำมันดีเซลให้มีราคาไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร ทำให้ความต้องการใช้น้ำมันดีเซลเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะราคาอยู่ในระดับต่ำ ประกอบกับการที่รัฐบาลชะลอการจำหน่ายน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี5 เพื่อบรรเทาปัญหาราคาน้ำมันปาล์มขาดแคลน

สำหรับการใช้ LPG มีปริมาณ 482,000 ตันต่อเดือน หรือ 17,200 ตันต่อวัน ลดลง 0.8% จากเดือนมกราคม 2554 ทั้งนี้ เป็นการลดลงในภาคปิโตรเคมี เนื่องจากโรงแยกก๊าซหน่วยที่ 6 หยุดซ่อมบำรุงตั้งแต่วันที่ 26 มกราคม 2554 ถึงวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2554 ทำให้โรงงานปิโตรเคมีบางแห่งต้องลดกำลังการผลิตลง โดยภาคปิโตรเคมีมีปริมาณใช้ลดลง 6.5% อยู่ที่ 159,000 ตันต่อเดือน หรือ 5,700 ตันต่อวัน ส่วนการใช้ในภาคครัวเรือนและการใช้ในภาคขนส่งมีปริมาณใกล้เคียงกับเดือนก่อน คือ การใช้ในภาคครัวเรือนเพิ่มขึ้น 0.8% อยู่ที่ 199,000 ตันต่อเดือน หรือ 7,100 ตันต่อวัน และการใช้ในภาคขนส่งเพิ่มขึ้น 2.9% อยู่ที่ 61,000 ตันต่อเดือน หรือ 2,100 ตันต่อวัน ในขณะที่ภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น 6.9% อยู่ที่ 62,000 ตันต่อเดือน หรือ 2,300 ตันต่อวัน ทำให้เดือนกุมภาพันธ์ 2554 มีการนำเข้า LPG จากต่างประเทศ 114,000 ตัน มูลค่ารวม 3,000 ล้านบาท

ขณะที่ ทางด้านการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงมีปริมาณรวมทั้งหมด 844,000 บาร์เรลต่อวัน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 3.4% มูลค่านำเข้ารวม 72,000 ล้านบาท ลดลงจากเดือนก่อน 0.1% โดยแบ่งเป็นการนำเข้าน้ำมันดิบ 790,000 บาร์เรลต่อวัน เพิ่มขึ้น 2.5% มูลค่านำเข้า 68,000 ล้านบาท ลดลง 0.3% และน้ำมันสำเร็จรูป 54,000 บาร์เรลต่อวัน มูลค่านำเข้า 3,700 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 19.5% และ 3.5% ตามลำดับ

โดยการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปที่เพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลจากโรงกลั่นของบริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) มีการนำเข้าน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว เพื่อทดแทนส่วนที่ขาดหายไปจากการปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่น (shutdown) ในเดือนกุมภาพันธ์ 2554 โรงกลั่นลดการส่งออกลง ทำให้การส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปมีปริมาณเพียง 93,000 บาร์เรลต่อวัน เป็นมูลค่าส่งออก 8,500 ล้านบาท โดยปริมาณส่งออกลดลง 43.2% และมูลค่าลดลง 42.9%
กำลังโหลดความคิดเห็น