รมว.อุตฯ ยันจองรถในงานมอเตอร์โชว์ ไร้ปัญหา เผย รง.ในญี่ปุ่นหลายแห่ง เริ่มเปิดสายการผลิตแล้ว เดินหน้าประสาน “เจโทร” แก้ปัญหาบริษัทแม่ ขณะที่ รบ.งัดแผนสำรองช่วยผู้ผลิตอีก 1 ทางเลือก สั่งจัดหาตลาดอะไหล่แหล่งใหม่ เพื่อลดผลกระทบภาวะไลน์ผลิตหยุดชะงัก ด้านอุตฯ จ.อยุธยา ปรับแผนลดกำลังผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ พร้อมยอมรับ การลงทุนในจังหวัด จำนวนกว่า 80% เป็นผู้ประกอบการจากญี่ปุ่น
นายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรงวงอุตสาหกรรม ยืนยันว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นกับประเทศญี่ปุ่น กระทบต่ออุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ในระยะสั้นเท่านั้น ประชาชนที่ต้องการจองรถในงานมอร์เตอร์โชว์ มั่นใจได้ว่า การผลิตรถยนต์ไม่มีปัญหา โดยในขณะนี้ หลายโรงงานในประเทศญี่ปุ่น เริ่มเปิดสายการผลิตแล้ว
อย่างไรก็ตาม สำหรับอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ในประเทศไทย และการลงทุนในอุตสาหกรรมอื่นๆ ซึ่งส่วนใหญ่มาจากประเทศญี่ปุ่นนั้น รัฐบาลไทย ได้หารือกับองค์การส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศแห่งประเทศญี่ปุ่น (เจโทร) ร่วมกันในการประเมินผลกระทบและความเสียหายที่เกิดขึ้น และจะเร่งฟื้นฟูบริษัทแม่ในประเทศญี่ปุ่น เพื่อให้ญี่ปุ่นสามารถกลับมาลงทุนยังประเทศไทยเช่นเดิม ซึ่งมั่นใจว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้น จะไม่เป็นปัญหาในระยะยาว
นายปณิธาน วัฒนายากร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2554 (วานนี้) ที่ประชุมได้มีการหารือถึงผลกระทบอุตสาหกรรมไทย จากเหตุแผ่นดินไหวและสึนามิที่ประเทศญี่ปุ่น แม้ในระยะยาวจะคาดกันว่าไม่น่ามีผลกระทบอะไรกับอุตสาหกรรม และธุรกิจของไทย แต่ระยะสั้น พบว่า มีปัญหาบางส่วนโดยเฉพาะในอุตสาหกรรมรถยนต์ และเครื่องใช้ไฟฟ้าในประเทศที่อาจชะงัก เนื่องจากมีอะไหล่หลายชิ้นที่ต้องนำเข้าจากประเทศญี่ปุ่น
“แม้ขณะนี้บริษัทต่างๆ จะมีการแจ้งว่าได้มีการสำรองอะไหล่ไว้เพียงพอต่อการผลิตสินค้าต่อเนื่องไปอีก 1 เดือน แต่เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องของธุรกิจ จึงได้ออกมาตรการระยะสั้น ด้วยการจัดหาตลาดอะไหล่ใหม่ให้แก่ผู้ประกอบการไทย ดำเนินการสั่งซื้อไปจนกว่าระบบลำเลียงสินค้าของประเทศญี่ปุ่นจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ”
ส่วนอุตสาหกรรมการก่อสร้างและอาหารของไทยนั้น ครม.ประเมินว่า จะเป็นกลุ่มธุรกิจที่จะได้รับผลจากเหตุการที่เกิดขึ้น เนื่องจากสินค้าทั้งอุปกรณ์ก่อสร้าง และอาหารกำลังเป็นที่ต้องการอย่างมากในประเทศญี่ปุ่น สำหรับการฟื้นฟูประเทศให้กลับเข้าสู่ภาวะปกติ ซึ่งก็ได้มีการวางมาตรการเพื่อเอื้อต่อการส่งออกสินค้าดังกล่าวไปยังประทศญี่ปุ่นแล้ว
ด้าน นายประยูร ติ่งธง อุตสาหกรรม จ.พระนครศรีอยุธยา ยอมรับว่า การลงทุนของภาคอุตสาหกรรมใน จ.พระนครศรีอยุธยา อยู่ในลำดับต้นๆ ของประเทศ ล่าสุด การลงทุนคิดเป็นเม็ดเงิน จำนวนสูงกว่า 3 แสนล้านบาท จากโรงงาน จำนวน 2,050 แห่ง โดยส่วนตัวมองว่าฐานเดิมมีขนาดใหญ่มาก ทั้งนี้ การส่งเสริมจะเน้นคุณภาพการลงทุนให้ผู้ลงทุนพัฒนาตนเอง ไม่คำนึงเพียงเศรษฐกิจเท่านั้น แต่จะคำนึงถึงมิติของสิ่งแวดล้อม และสังคมด้วย
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีนักลงทุนจากประเทศญี่ปุ่น ร้อยละ 80 เข้ามาลงทุนในกลุ่มยานยนต์ และผลิตภัณฑ์ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ พร้อมระบุว่า หลังจากเหตุภัยพิบัติแผ่นดินไหว และสึนามิในประเทศญี่ปุ่น อุตสาหกรรมจังหวัดจึงปรับแผนลดกำลังการผลิต หรืออาจมองไปที่กลุ่มยานยนต์ด้วยกันเองว่า สามารถผลิตชิ้นส่วนเครือข่ายอื่นมาทดแทนได้หรือไม่