xs
xsm
sm
md
lg

วิกฤตนิวเคลียร์ญี่ปุ่นทำท่าแผ่ลามไปทั่วโลก (ตอนแรก)

เผยแพร่:   โดย: วิกเตอร์ คอตเซฟ

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Japan nuclear crisis goes global
By Victor Kotsev
15/04/2011

รัฐบาลในหลายๆ ประเทศยืนยันเรื่อยมาว่า ไม่มีความเสี่ยงอะไรจากกัมมันตภาพรังสีที่กำลังแพร่กระจายออกจากโรงไฟฟ้าฟูกูชิมะ ไดอิจิ ของญี่ปุ่น แต่แล้วกลับกำลังมีรายงานซึ่งชี้ไปในทางตรงกันข้ามปรากฏออกมามากขึ้นเรื่อยๆ ในอีกด้านหนึ่ง แนวโน้มที่ญี่ปุ่นทำท่าจะหันไปสาละวนอยู่แต่ภายในประเทศของตนเองมากขึ้นในอนาคตข้างหน้า ย่อมต้องส่งผลสะท้อนในทางภูมิรัฐศาสตร์อย่างรุนแรงทีเดียวทั้งต่อเอเชียและต่อภูมิภาคอื่นๆ ขณะเดียวกัน ผลกระทบทางเศรษฐกิจจากภัยพิบัติคราวนี้ยังกำลังเป็นภัยคุกคามต่อส่วนรากฐานของระบบระหว่างประเทศปัจจุบันอีกด้วย

*ข้อเขียนชิ้นนี้แบ่งเป็น 2 ตอน นี่คือตอนแรก *

กัมมันตภาพรังสีกำลังแพร่กระจายไปทั่วโลก ขณะที่พื้นที่ใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้เนื่องจากพิษนิวเคลียร์ผืนเล็กๆ บริเวณใกล้ใจกลางของญี่ปุ่น ก็กำลังขยายใหญ่ขึ้นๆ เวลานี้เตาปฏิกรณ์ปรมาณูหน่วยต่างๆ ของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะ ไดอิจิ ยังคงตกอยู่ในอาการอัมพาต ถึงแม้มีความพยายามดิ้นรนกันอย่างสุดฤทธิ์ เพื่อสตาร์ทระบบหล่อเย็นภายในตัวเตาปฏิกรณ์เองให้กลับทำงานขึ้นมาใหม่ จากนั้นจะได้สามารถเข้าควบคุมเตาปฏิกรณ์เหล่านี้กันได้อีกครั้งหนึ่ง แต่ปรากฏว่าจนถึงบัดนี้การทุ่มเทลงแรงดังกล่าวยังคงแทบไม่บังเกิดผลอะไรเลย อะไรๆ ยังคงเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน

ภายหลังแผ่นดินไหวระดับ 9.0 และคลื่นยักษ์สึนามิในวันที่ 11 มีนาคม ได้กลายเป็นตัวจุดชนวนให้เกิดวิกฤตนิวเคลียร์คราวนี้ขึ้นมาแล้ว ก็ได้เกิดอาฟเตอร์ช็อกที่มีระดับความรุนแรงค่อนข้างสูงติดตามมาอย่างต่อเนื่องอีก อาฟเตอร์ช็อกแรงๆ เช่นนี้สามารถที่จะเป็นอันตรายถึงขั้นทำลายความคืบหน้าที่แทบไม่ค่อยมีอยู่แล้วนี้ให้สิ้นซากสูญสลายไปเลย ขณะเดียวกัน ผลกระทบในทางเศรษฐกิจและการเมืองซึ่งเป็นเสมือนกระแสคลื่นช็อกชวนตระหนกอีกรูปแบบหนึ่ง ก็ยังเป็นสิ่งที่ทำนายคาดการณ์ได้ลำบากพอๆ กัน ถึงแม้น่าจะพูดได้ว่ามันจะสร้างความสั่นสะเทือนอย่างแรงไปทั่วโลกเช่นกัน

ต่อไปนี้คือข่าวสารความคืบหน้าสำคัญๆ ของวิกฤตฟูกูชิมะที่ประมวลมาได้จากช่วงประมาณ 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา เริ่มตั้งแต่เมื่อวันอังคาร(12) รัฐบาลญี่ปุ่นได้ปรับเพิ่มระดับการประเมินความร้ายแรงของวิกฤตคราวนี้ขึ้นไปทีเดียว 2 ขั้น นั่นคือจากระดับ 5 เป็นระดับ 7 อันเป็นขั้นสูงสุดของเกณฑ์วัดความร้ายแรงของเหตุการณ์ทางด้านนิวเคลียร์และการแผ่รังสีระหว่างประเทศ (International Nuclear and Radiological Event Scale ใช้อักษรย่อว่า INES) ระดับ 7 ดังกล่าวนี้ก็คือระดับเดียวกันกับความร้ายแรงของภัยพิบัติทางนิวเคลียร์ครั้งเลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ของโลกซึ่งเกิดขึ้นที่เชอร์โนบิล (Chernobyl) ในปี 1986

ทบวงพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (International Atomic Energy Agency หรือ IAEA) ซึ่งเป็นองค์กรชำนัญพิเศษทางด้านนิวเคลียร์ของสหประชาชาติ และเป็นผู้จัดทำเกณฑ์ INES ขึ้นมา ได้บรรยายสภาพเของอุบัติภัยทางนิวเคลียร์ร้ายแรงระดับ 7 เอาไว้ว่า “มีการรั่วไหลอย่างใหญ่โตของสารกัมมันตภาพรังสี ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมอย่างกว้างขวาง และเรียกร้องให้ต้องมีการดำเนินมาตรการตอบโต้อย่างกว้างขวางยิ่งขึ้นอีกตามแผนการที่จัดวางเอาไว้”

การประกาศปรับเพิ่มระดับเช่นนี้เป็นสิ่งที่สร้างเซอร์ไพรซ์ให้แก่หลายๆ ฝ่าย เนื่องจากเท่าที่ผ่านมาพวกเจ้าหน้าที่รับผิดชอบของญี่ปุ่นใช้ท่าทีพยายามลดทอนความน่าวิตกของวิกฤตคราวนี้มาโดยตลอด และก็ดังที่ผมได้รายงานไว้ในสัปดาห์ที่แล้ว พวกนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่นั้นได้ประเมินเอาไว้ว่าอุบัติภัยคราวนี้ควรที่จะถูกจัดชั้นให้มีความร้ายแรงอยู่ในระดับ 6 [1] รัฐบาลแดนอาทิตย์อุทัยอ้างว่าเหตุผลที่ทำให้ต้องปรับเพิ่มกันรวดเดียว 2 ขั้นเช่นนี้ ก็เพราะมีการปรับปรุงแก้ไขประมาณการของปริมาณกัมมันตภาพรังสีโดยรวม ที่ถูกปล่อยออกมาเนื่องจากการหลอมละลายของแท่งเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ที่โรงไฟฟ้าแห่งนี้ อย่างไรก็ดี รัฐบาลญี่ปุ่นย้ำว่า แม้กระทั่งปรับเพิ่มขึ้นไปแล้ว ปริมาณกัมมันตภาพรังสีที่ประมาณการไว้ในปัจจุบัน ก็ยังเท่ากับเพียงราวๆ 10% ของที่มีการปล่อยออกมาในคราวอุบัติภัยที่โรงไฟฟ้าเชอร์โนบิล

นอกเหนือจากการปรับเพิ่มระดับความร้ายแรงของวิกฤตแล้ว ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ยังไม่มีรายงานข่าวใหญ่ใหม่ๆ เกี่ยวกับการถอยหลังทรุดหนักใดๆ อีก ถึงแม้ได้เกิดอาฟเตอร์ช็อกระดับแรงๆ ครั้งใหม่ๆ หลายครั้ง ซึ่งทำให้ต้องมีการสั่งอพยพคนงานออกมาจากโรงไฟฟ้าแห่งนี้เป็นการชั่วคราวอยู่หลายระลอก รวมทั้งยังทำให้เกิดความวิตกกังวลกันเพิ่มขึ้นเกี่ยวกับความปลอดภัยของเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์อีกแห่งหนึ่งซึ่งอยู่ใกล้ๆ กัน [2] นอกจากนั้นยังมีรายงานข่าวชิ้นหนึ่งที่เผยแพร่โดยหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์ในสัปดาห์ที่แล้ว ระบุว่าพวกวิศวกรนิวเคลียร์ชาวอเมริกันที่เพิ่งเดินทางกลับจากญี่ปุ่นได้กล่าวเตือนว่า เตาปฏิกรณ์ของโรงไฟฟ้าฟูกูชิมะ ไดอิจิ หลายๆ หน่วย ซึ่งได้รับความเสียหายจากการเกิดระเบิดก่อนหน้านี้ และภายในบริเวณอาคารเตาปฏิกรณ์ก็เต็มไปด้วยน้ำทะเลนั้น กำลังอยู่ในสภาพที่สามารถต้านทานความรุนแรงของอาฟเตอร์ช็อกได้ลดน้อยลงกว่าเดิม

ในระยะหลังๆ มานี้ ความพยายามที่จะทำให้พวกเตาปฏิกรณ์ที่อยู่ในอาการอัมพาตของฟูกูชิมะ ไดอิจิ สามารถเข้าสู่ภาวะเสถียรได้มากขึ้นนั้น ได้มุ่งโฟกัสไปที่การซ่อมแซ่มระบบหล่อเย็นภายในของเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ให้กลับมาใช้งานได้ใหม่ แต่ปรากฏว่างานนี้กลายเป็นงานหินซึ่งประสบความยากลำบากอย่างแสนสาหัส ปัจจุบันพวกวิศวกรยังสูบน้ำจากภายนอกเข้าไปสาดรดบริเวณแกนกลางเตาปฏิกรณ์หลายๆ หน่วย ซึ่งเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ภายในนั้นอยู่ในสภาพหลอมละลาย การดำเนินการเช่นนี้ก็เพื่อป้องกันไม่ให้แท่งเชื้อเพลิงมีอุณหภูมิร้อนจัด ขณะเดียวกัน พวกเขาก็พยายามที่จะสูบน้ำซึ่งปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสีความเข้มข้นสูงออกมาจากบริเวณพื้นล่างของเตาปฏิกรณ์ไปด้วย ทั้งนี้เพื่อจะได้สามารถเข้าไปซ่อมแซมความเสียหายที่เกิดขึ้นได้

อย่างไรก็ตาม หม้อความดันของเตาปฏิกรณ์ (reactor container) ซึ่งเป็นเปลือกชั้นในที่หุ้มส่วนเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ตรงแกนกลางเอาไว้ ดูเหมือนจะอยู่ในสภาพเสียหายหนัก และน้ำบางส่วนที่ถูกสูบเข้าไปข้างในส่วนแกนกลาง จึงกลับไหลย้อนตกลงมาสู่ระดับพื้นล่าง ทำให้น้ำในบริเวณพื้นล่างของเตาปฏิกรณ์ไม่หมดไปเสียที โดยปรากฏว่าหลังจากใช้ความพยายามมาสองสามวัน ระดับน้ำที่พื้นล่างนี้ลดลงไปเพียงแค่ไม่กี่เซนติเมตร และขณะที่มีการสูบน้ำปนเปื้อนรังสีออกมาได้แล้ว 660 ตัน แต่ยังคงมีน้ำเปื้อนรังสีเจิ่งนองอยู่ที่พื้นล่างของเตาปฏิกรณ์หน่วยต่างๆ อีกประมาณ 60,000 ตันทีเดียว

ปัญหาหนึ่งที่ยังไม่มีความแน่นอนชัดเจนเอาเสียเลย ก็คือ เตาปฏิกรณ์เหล่านี้อยู่ในสภาพเช่นไร มีความเสียหายมากน้อยขนาดไหนกันแน่ ความไม่แน่นอนชัดเจนดังกล่าวนี้ ส่วนหนึ่งเนื่องมาจากการที่มาตรวัดปริมาณรังสีซึ่งมีอยู่ในโรงไฟฟ้า ไม่มีความเที่ยงตรงแม่นยำเสียแล้ว เพราะอุปกรณ์เครื่องวัดต่างๆ ได้รับความเสียหายจากการที่กัมมันตภาพรังสีระดับเข้มข้นเกิดรั่วไหลออกมา ทั้งนี้ตามรายงานของสื่อมวลชนญี่ปุ่น [3] นอกจากนั้นแล้ว ยังคงมีความหวาดกลัวกันว่าสถานการณ์อาจจะเลวร้ายหนักกว่านี้อีก ดังที่หนังสือพิมพ์แจแปน ทูเดย์ (Japan Today) เมื่อวันอังคาร(12) อ้างคำพูดของเจ้าหน้าที่ผู้หนึ่งจากบริษัทโตเกียว อิเล็กทริก เพาเวอร์ หรือ เท็ปโก (Tokyo Electric Power Co หรือ TEPCO) ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการโรงฟ้าแห่งนี้ ที่กล่าวว่า “การรั่วไหลของกัมมันตภาพรังสียังไม่ได้ยุติลงอย่างสิ้นเชิง และสิ่งที่พวกเรารู้สึกกังวลกันอยู่ก็คือปริมาณที่รั่วไหลออกมาเรื่อยๆ นี้ในที่สุดแล้วก็อาจจะอยู่ในระดับเท่าๆ กับที่เชอร์โนบิลหรือกระทั่งสูงยิ่งกว่านั้นอีก”

เท็ปโกอ้างว่า “ทันทีที่ (บริษัท) ซ่อมแซมระบบหล่อเย็นภายในเตาปฏิกรณ์ได้ ก็คงต้องใช้เวลาอีกเพียงไม่กี่วันเท่านั้น ในการทำให้เตาปฏิกรณ์เหล่านี้เข้าสู่ภาวะปิดเครื่องแบบเย็น (cold shutdown) สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานข่าวเอาไว้เช่นนี้ แต่ปรากฏว่าข้ออ้างของเท็ปโกดังกล่าวนี้กำลังถูกตั้งคำถามอย่างมากมาย โดยหนึ่งในคำถามฉกาจฉกรรจ์ที่สุดก็คือ ในทางเป็นจริงเท็ปโกจะสามารถเข้าไปให้ถึงระบบหล่อเย็นเหล่านี้ได้รวดเร็วแค่ไหน นอกจากนั้นแล้ว ในแวดวงของผู้รู้ ยังมีการอภิปรายถกเถียงกันหนักเกี่ยวกับปัญหาทางเทคนิคของกระบวนการหล่อเย็น

เมื่อขอให้แสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้ ศาสตราจารย์ แคลวิน เฮาเวลล์ (Calvin Howell) นักฟิสิกส์นิวเคลียร์อาวุโสแห่งมหาวิทยาลัยดุ๊ก (Duke University) อธิบายว่า หลายๆ ฝ่ายอาจจะมีการนิยามคำว่า ภาวะ “การปิดเครื่องแบบเย็น” (cold shutdown) แตกต่างกันออกไป ซึ่งเขาคงสามารถให้ความคิดเห็นในลักษณะของการคาดเดาอย่างมีหลักวิชาการเท่านั้น เขาเสนอว่า ระหว่าง การสูบน้ำจากภายนอกเข้าไปท่วมท้นเตาปฏิกรณ์ กับ การใช้ระบบหล่อเย็นภายในเตาปฏิกรณ์เอง มีความแตกต่างที่สำคัญอยู่ที่ว่าน้ำดังกล่าวได้ผ่านการปรับความดันมาหรือไม่ (ทั้งสองวิธีต่างก็ใช้น้ำ) และได้อธิบายแจกแจงรายละเอียดดังนี้

“สำหรับผมนั้นผมเข้าใจว่า เตาปฏิกรณ์หน่วยนี้ในปัจจุบันอยู่ในสถานะปิดเครื่องอยู่ (shutdown status) ซึ่งมีความหมายว่าแกนกลางของมันอยู่ในภาวะกึ่งวิกฤต (subcritical) นั่นก็คือ ไม่ได้มีปฏิกิริยาลูกโซ่จากการแตกตัวทางนิวเคลียร์ (fission chain reaction) แล้ว อย่างไรก็ตาม ยังคงมีความร้อนแฝง (latent heat) ปริมาณมากมายมหาศาลอยู่ในตัวแกนกลางนี้ เมื่อตอนที่เกิดเหตุซึ่งสร้างความเสียหายขึ้นมา นอกจากนั้นความร้อนก็ยังเกิดเพิ่มขึ้นได้เรื่อยๆ จากตัวแท่งเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ โดยที่เป็นกระบวนการสลายกัมมันตภาพรังสีตามปกติของแท่งเชื้อเพลิง ส่วนใหญ่แล้วเป็นการสลายที่ให้รังสีเบตา (beta decay) เวลานี้ความร้อนทั้งที่สะสมตัวและทั้งที่เกิดขึ้นมาใหม่ ยังคงมีปริมาณมากพอที่จะทำให้น้ำที่สูบสาดเข้ามาเกิดการเดือด ณ ความกดอากาศของบรรยากาศ

ผมเองนั้นเข้าใจว่า เงื่อนไขที่จะถือได้ว่าเกิด “ภาวะการปิดเครื่องแบบเย็น” (cold shutdown) ขึ้นมาแล้วนั้น ก็คือ เมื่อน้ำที่ไม่ได้ผ่านการปรับความดัน (unpressurized water) สัมผัสกับแกนกลางแล้วจะต้องไม่เดือด สภาพเช่นนี้จะเกิดขึ้นได้เมื่อน้ำหล่อเย็นที่ไม่ได้ผ่านการปรับความดัน สามารถรักษาอุณหภูมิของแกนกลางให้ต่ำลงมาอยู่ที่ประมาณ 95 องศาเซลเซี่ยส แต่ตาม “การคาดเดา” ของผมนั้น การสูบน้ำทะเลที่ไม่ได้ผ่านการปรับความดัน เข้าไปสาดรดแกนกลางเตาปฏิกรณ์ ไม่สามารถนำพาความร้อนออกมาได้อย่างมีประสิทธิภาพเท่ากับระบบหล่อเย็นภายในเตาปฏิกรณ์เอง ซึ่งจะทำให้น้ำหล่อเย็นที่ผ่านการปรับความดันมีการไหลวนผ่านแกนกลางรอบแล้วรอบเล่า (pressured cooling loops) ด้วยเหตุนี้ มันจึงต้องใช้เวลานานกว่ากันมากที่จะทำให้แกนกลางเย็นตัวลงจนมีอุณหภูมิต่ำกว่าจุดเดือดของน้ำที่ไม่ได้ผ่านการปรับความดัน นอกจากนั้นในการดำเนินการด้วยการสูบน้ำเข้าไปจากภายนอก ยังจะต้องประสบความยากลำบากยิ่งกว่าระบบปกติที่ให้น้ำหล่อเย็นความดันสูงไหลวนผ่านแกนกลางรอบแล้วรอบเล่าอีกด้วย”

การที่ตัวหม้อความดันของเตาปฏิกรณ์หลายๆ หน่วยของโรงไฟฟ้าฟูกูชิมะ ไดอิจิ น่าจะเกิดความเสียหายตามที่หลายๆ ฝ่ายคาดหมายกันนั้น ไม่เพียงกำลังเป็นอุปสรรคขัดขวางการเข้าไปยังส่วนประกอบสำคัญยิ่งยวดต่างๆ ของระบบหล่อเย็นภายในเตาปฏิกรณ์เท่านั้น แต่ยังทำให้เกิดความสงสัยไม่มั่นใจขึ้นมาด้วยว่า ถ้าหากสามารถกลับสตาร์ทระบบหล่อเย็นภายในเตาปฏิกรณ์ขึ้นมาได้ใหม่จริงๆ แล้ว ระบบนี้ซึ่งทำงานโดยอาศัยน้ำที่ผ่านการปรับความดันในระดับสูง ยังจะมีความปลอดภัยมากน้อยแค่ไหน

ด้วยเหตุนี้เอง ภาพสมมุติสถานการณ์แบบที่วาดภาพว่าทุกสิ่งทุกอย่างต่างออกมาดีที่สุด (best-case scenario) จึงยังคงเป็นความคาดหวังแบบฝันหวานเสียมากกว่า

หมายเหตุ

1. Japan nuclear crisis is here to stay, Asia Times Online, April 6, 2011.
2. Onagawa plant suffered jolt greater than designed for in aftershock Japan Today, April 14, 2011.
3. Plant radiation monitor says levels immeasurable NHK, April 5, 2011.

วิกเตอร์ คอตเซฟ เป็นนักหนังสือพิมพ์และนักวิเคราะห์การเมือง ซึ่งพำนักอยู่ในกรุงเทลอาวีฟ ประเทศอิสราเอล

(อ่านต่อตอน 2 ซึ่งเป็นตอนจบ)
กำลังโหลดความคิดเห็น