เอเอฟพี - เจ้าหน้าที่เท็ปโกได้เข้าไปยังตัวอาคารเตาปฏิกรณ์ภายในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะ ไดอิจิ วันนี้ (5) เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เกิดเหตุระเบิดขึ้น หนึ่งวันหลังจากแผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิ เมื่อวันที่ 11 มีนาคม โฆษกบริษัทโตเกียวอิเล็กทริกเพาเวอร์ แถลง
คนงานผู้เสียสละ 2 คนแรกสวมทั้งหน้ากากป้องกันแก๊สพิษ ชุดป้องกันรังสี และสะพายถังออกซิเจน เดินฝ่ารังสีเข้าสู่ตัวอาคารเตาปฏิกรณ์หมายเลข 1 หนึ่งในเตาปฏิกรณ์ทั้งสี่หน่วยที่ได้รับความเสียหายหนัก เพื่อวัดระดับกัมมันตภาพรังสี
“คนงานของเราได้เข้าไปยังตัวอาคารเตาปฏิกรณ์เป็นครั้งแรกตั้งแต่เกิดเหตุระเบิด” ซาโตชิ วาตานาเบะ โฆษกของบริษัทโตเกียวอิเล็กทริกเพาเวอร์ (เท็ปโก) แถลง
ทั้งนี้ วันนี้เท็ปโกวางแผนส่งคนงานอย่างน้อย 12 คนเข้าไปภายในโรงไฟฟ้า เพื่อติดตั้งระบบถ่ายเทอากาศ โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญ คือ การลดระดับกัมมันตภาพรังสีที่เจือปนในอากาศภายในอาคารเตาปฏิกรณ์ โฆษกเท็ปโก กล่าว
“เรากำลังส่งคนงานที่แบ่งเป็นกลุ่มเล็กๆ เข้าไป โดยมีเวลาให้สูงสุดกลุ่มละ 10 นาที เพื่อกำหนดปริมาณกัมมันตภาพรังสีที่พวกเขาจะได้รับ” วาตานาเบะ กล่าว “เราหวังว่าจะเดินเครื่องระบายอากาศได้ภายในวันนี้”
หลังจากนั้น เท็ปโกจะเริ่มสร้างระบบหล่อเย็นตัวใหม่ภายนอกเตาปฏิกรณ์ โดยมีท่อน้ำเชื่อมต่อเข้ากับอุปกรณ์ถ่ายเทความร้อนภายใน เพื่อควบคุมอุณหภูมิของเตาปฏิกรณ์ หลังจากความร้อนเพิ่มสูงขึ้นเกิดขีดจำกัด ตั้งแต่เกิดภัยธรรมชาติครั้งใหญ่ขึ้นในพื้นที่แถบนี้
ตามแผนการของเท็ปโก การก่อสร้างระบบหล่อเย็นตัวใหม่จะเสร็จสิ้นในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม หรือ ต้นเดือนมิถุนายน สื่อท้องถิ่นรายงาน นอกจากนี้ คณะวิศวกรตั้งเป้าว่าจะสามารถปิดเตาปฏิกรณ์แบบเย็น (cold shutdown) ได้ในช่วงปลายปีนี้ ทว่า ณ เวลานี้เตาปฏิกรณ์ยังคงอันตรายเกินกว่าที่มนุษย์จะเข้าไปได้
วานนี้ (4) เท็ปโกเปิดเผยว่า ระดับกัมมันตภาพรังสีเพิ่มสูงขึ้นกว่า 600 เท่าของที่เคยตรวจพบ บริเวณก้นมหาสมุทรแปซิฟิก ใกล้ๆ กับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะ ไดอิจิ