xs
xsm
sm
md
lg

หนุนไบโอดีเซลสาหร่ายแทนปาล์ม "บางจาก" ทุ่มพันล้านตั้ง รง.สกัด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


"พลังงาน" หนุนสาหร่ายทำไบโอดีเซลแทนปาล์ม บี100 "บางจาก" ทุ่มลงทุนกว่าพันล้าน ผุดโรงงานสกัดน้ำมัน คาดเห็นผลเชิงพาณิชย์ใน 3 ปีข้างหน้า ตั้งเป้าผลิตวันละ 3 หมื่นลิตร เผยเป็นเชื้อเพลิงคุณภาพสูง กากที่หลือยังนำไปเป็นอาหารสัตว์คุณภาพดี ชี้ ต้นทุนการผลิตอยู่ที่ 120 ดอลลาร์/บาเรล เมื่อเทียบกับน้ำมันโลก ขณะที่ไบโอดีเซล บี100 อยู่ที่ 160 ดอลลาร์/บาเรล

นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยภายหลังเป็นประธานพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือ “การพัฒนาอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพจากสาหร่าย” ระหว่างกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรี โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) และบริษัท ล็อกซ์เลย์ จำกัด (มหาชน) เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพจากสาหร่ายน้ำมันเป็นครั้งแรกของประเทศไทย เพื่อทดแทนไบโอดีเซล บี100 โดยเบื้องต้น ตั้งเป้าพัฒนาเป็นโครงการเชิงพาณิชย์ในอีก 3 ปีข้างหน้า โดยคาดว่าจะมีกำลังการผลิตประมาณ 30,000 ลิตรต่อวัน ใช้เงินลงทุนประมาณ 1,000 ล้านบาท

"ปัจจุบันแนวโน้มราคาน้ำมันที่สูงขึ้น ทำให้ไทยต้องเร่งพัฒนาอุตสาหกรรมพลังงานทดแทนที่หลากหลาย เพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน ซึ่งน้ำมันจากพืชสาหราย ถือเป็นพืชน้ำมันอีกประเภทหนึ่งที่มีศักยภาพสูงของโลกในอนาคต"

รมว.พลังงาน กล่าวว่า ขณะนี้มีประเทศที่เริ่มนำมาผลิตและใช้แทนน้ำมันแล้วได้แก่ สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และสาธารณะรัฐประชาชนจีน ต่างให้ความสนใจและทุ่มงบประมาณในการค้นคว้าวิจัยพัฒนสายพันธุ์และเทคโนโลยีในการสกัดน้ำมันจากสาหร่ายอย่างจริงจัง

นายอนุสรณ์ แสงนิ่มนวล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บางจาก กล่าวว่า ทางกระทรวงพลังงานได้จัดสรรเงินจากกองทุนอนุรักษ์พลังงาน 10 ล้านบาท เพื่อนำมาศึกษาและวิจัยในเรื่องนี้ โดยจะมีการจัดตั้งโรงงานต้นแบบก่อน เนื่องจากต้องมีการคัดเลือกพันธุ์สาหร่ายและการเพาะเลี้ยงที่เหมาะสมกับสภาพภูมิอากาศของไทย หลังจึงจะสร้างเป็นโรงงานผลิตน้ำมันในเชิงพาณิชย์ ภายใน 3 ปีข้างหน้า มีกำลังการผลิต 3 หมื่นลิตรต่อวัน โดยเงินลงทุนจะแบ่งในสัดส่วนเท่าๆ กัน ระหว่างพันธมิตรที่มาร่วมกันดำเนินโครงการนี้

การผลิตน้ำมันจากสาหร่าย เป็นนวัตกรรมพลังงานทดแทนที่มีศักยภาพสูง เนื่องจากใช้เวลาในการเพาะเลี้ยงเพียง 2 สัปดาห์ ก็สามารถผลิตเป็นน้ำมัน บี100 หรือน้ำมันเครื่องบินได้ เนื่องจากสาหร่ายเป็นพืชที่เติบโตเร็ว ทำให้ได้ผลผลิตน้ำมันต่อพื้นที่ที่สูง โดยเมื่อเทียบกับพื้นที่เพาะปลูกปาล์มในจำนวนที่เท่ากันจะได้ผลผลิตน้ำมันมากกว่า 30 เท่า

"ตอนนี้ กำลังศึกษาว่าจะสามารถพัฒนาเพื่อนำมาใช้เป็นน้ำมันเครื่องบินได้หรือไม่ ส่วนกากสาหร่ายที่เหลือก็สามารถนำไปผสมเป็นอาหารสัตว์ที่มีคุณภาพสูง ซึ่งมั่นใจว่าไบโอดีเซลจากสาหร่ายมีประสิทธิภาพดี สามารถใช้ได้กับเครื่องยนต์ทุกประเภท"

ส่วนราคาน้ำมันที่ผลิตออกมาได้ เมื่อเทียบกับราคาน้ำมันตลาดโลก จะมีต้นทุนอยู่ที่เฉลี่ย 120 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และถูกกว่าราคา บี100 ที่ผลิตจากปาล์มน้ำมันอยู่ที่ 160-170 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

"เชื่อว่าอนาคตราคาน้ำมันก็จะยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง แม้ว่าต้นทุนการผลิตน้ำมันจากสาหร่ายจะอยู่ที่ระดับ 120 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ก็ยังมั่นใจว่าสามารถแข่งขันได้"

นายนพพล มิลินทางกูร กรรมการผู้จัดการใหญ่ ผลิตไฟฟ้าราชบุรี กล่าวว่า ทางบริษัทจะจัดเตรียมพื้นที่บริเวณใกล้เคียงกับโรงไฟฟ้า รวมทั้งเตรียมความพร้อมในการนำก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ จากปล่องของโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในการเจริญเติบโตของสาหร่ายป้อนให้กับโครงการ ตั้งแต่ การดำเนินโครงการนำร่อง และเมื่อโครงการสามารถพัฒนาไปสู่เชิงพาณิชย์ได้
กำลังโหลดความคิดเห็น