“วรรณรัตน์” แจงโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ของไทย ยังไม่ถึงขั้นต้องพับแผนทิ้ง เนื่องจากยังอยู่ในขั้นตอนการศึกษา ชี้ เหตุบึ้มในญี่ปุ่น ทำให้มีตัวอย่างและกรณีศึกษา ทั้งการออกแบบ-มาตรการควบคุมและป้องกัน เพื่อให้ความมีความเข้มงวดมากขึ้น “พลังงาน” ยอมรับ กัมมันตภาพรังสีรั่วที่ญี่ปุ่น กระทบแผนสร้างโรงไฟฟ้า IAEA ชี้ ไทยขาดความพร้อม 3 ด้าน เบนเข็มเพิ่มสัดส่วนพลังงานทดแทนเป็น 20% ภายในปี 65 ด้านนักวิชาการ ยันกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองยังสูงกว่าร้อยละ 25 ไม่มีเหตุผลที่ไทยจะต้องเร่งแผนการลงทุนก่อสร้าง
นายแพทย์ วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวถึงโครงการลงทุนโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในประเทศไทย โดยระบุว่า ขณะนี้คงยังไม่ถึงขั้นที่จะตัดสินใจว่าจะสร้างหรือไม่สร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ แม้ว่าจะเกิดเหตุการณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ญี่ปุ่นเกิดเหตุระเบิดจากผลกระทบแผ่นดินไหว เนื่องจากขั้นตอนของประเทศไทยยังอยู่ระหว่างการศึกษา และยังจะต้องเดินหน้าศึกษาต่อไป
อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดเหตุการณ์ในญี่ปุ่น ก็จะทำให้มีตัวอย่างและกรณีศึกษาถึงการออกแบบมาตรการควบคุม และป้องกันให้ความมีความเข้มงวดมากขึ้น แต่ในที่สุดจะยกเลิกโครงการไปหรือไม่ ไม่ใช่ปัญหา เพราะแม้จะมีความจำเป็นต้องยกเลิกจริง ก็จะมีโครงการที่ใช้เชื้อเพลิงประเภทอื่นมาทดแทน ทั้งก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน หรือพลังงานทดแทน
ส่วนจะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดนี้ตัดสินใจได้หรือไม่ รมว.พลังงาน กล่าวว่า คงไม่สามารถตอบได้ เพราะไม่รู้ว่า ครม.ชุดนี้ จะอยู่บริหารประเทศไปถึงเมื่อไร
สำหรับการทบทวนแผนดังกล่าว จะพิจารณาถึงการปรับแผนพัฒนากำลังไฟฟ้าระยะยาว 20 ปี(พีดีพี 2010) ซึ่งเดิมจะมีการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 5 แห่ง แต่ถ้าก่อสร้างไม่ได้ ก็ต้องหาพลังงานอื่นมาทดแทน โดยตามแผนเดิมกำหนดว่า จะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินทดแทนเพิ่มจาก 9 แห่ง เป็น 13 แห่ง และสร้างโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติเพิ่มเติมอีก 1 แห่ง แต่ขณะนี้ก็มีการต่อต้านโรงไฟฟ้าถ่านหินเช่นกัน คงต้องทบทวนให้รอบคอบและต้องถามคนคัดค้านเช่นกันว่า ถ้าคัดค้านทั้งหมด แล้วจะเอาอะไรมาผลิตไฟฟ้า จะมีไฟฟ้าใช้หรือไม่
นายณอคุณ สิทธิพงศ์ ปลัดกระทรวงพลังงาน คาดว่า การส่งรายงานความพร้อมการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อาจต้องล่าช้าออกไปจากเดิมที่คาดว่าจะส่งกลับมาภายในวันที่ 31 มีนาคม 2554 นี้ เนื่องจากทางสำนักงานพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) อยู่ระหว่างการเข้าไปช่วยเหลือโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ประเทศญี่ปุ่น
แต่จากการหารือเบื้องต้นทาง IAEA แจ้งว่า ไทยยังไม่มีความพร้อมในการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ โดยยังต้องทำความเข้าใจเพิ่มเติมใน 3 ประเด็น คือ 1.เรื่องกฎหมายที่เกี่ยวข้องและการกำกับดูแลที่เป็นอิสระ 2.ข้อผูกพันระหว่างประเทศที่ต้องมีการเซ็นสัญญาร่วมกัน 3.การยอมรับของประชาชน
ด้าน นายทวารัฐ สูตะบุตร รองอธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กล่าวว่า กระทรวงพลังงานมีแผนในการผลักดันการใช้พลังงานทดแทนในการผลิตไฟฟ้า เพื่อเป็นทางเลือกในการลดการใช้เชื้อเพลิงจากต่างประเทศ ซึ่งผลกระทบจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ญี่ปุ่น ทำให้แผนการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ล่าช้าออกไป
ทั้งนี้ กระทรวงจะเร่งเดินหน้าแผนพลังงานทดแทนให้สามารถทดแทนเชื้อเพลิงอื่นๆ ในสัดส่วน 20% ภายในปี 2565 จากปัจจุบันทดแทนได้ 5%
อย่างไรก็ตาม การลงทุนในเรื่องพลังงานทดแทนมีต้นทุนสูง โดยในอนาคตที่ประเทศไทยจะใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นจาก 3 หมื่นเมกะวัตต์ต่อปี เป็น 6 หมื่นเมกะวัตต์ต่อปี จะใช้เงินลงทุนเพิ่มกว่า 7 แสนล้านบาท ในการลงทุนในแหล่งกำเนิดไฟฟ้า 3 แสนล้านบาท และการลงทุนในระบบสายส่ง (Smart Grid) อีก 4 แสนล้านบาท
“หากในอนาคตโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ และถ่านหินเกิดขึ้นไม่ได้ ประเทศไทยต้องพึ่งพาไฟฟ้าพลังน้ำจากเพื่อนบ้านได้แก่ ลาว 1 หมื่นเมกะวัตต์ และพม่า 5 พันเมกะวัตต์ ซึ่งราคาสัญญาการซื้อขายไฟฟ้าจะสูงขึ้นในอนาคต”
นายเทียนไชย จงพีร์เพียร นักวิชาการอิสระด้านพลังงาน มองว่า เหตุการณ์ที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะในญี่ปุ่นได้รับความเสียหาย คงต้องพูดกันตรงๆ ว่า โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในประเทศไทยคงทำได้ยากขึ้น เพราะปกติที่ทำกันก็ยากอยู่แล้ว ทั้งเรื่องการทำประชาพิจารณ์ และการหาพื้นที่ ทำให้ผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับเรื่องนี้คงต้องเหนื่อยและต้องทำงานกันหนักเพิ่มอีกหลายเท่าตัว
นอกจากนี้ ยังมีผู้เชี่ยวชาญตั้งข้อสังเกตว่า ตัวเลขกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองในประเทศไทย ที่สูงเกินกว่าร้อยละ 25 เป็นเหตุผลหนึ่งที่นักวิชาการอิสระด้านพลังงาน ชี้ให้เห็นว่า ยังไม่จำเป็นที่จะต้องสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ขณะที่ศักยภาพของพลังงานทางเลือก และการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ยังไม่ถูกส่งเสริมอย่างจริงจัง หากรัฐบาลให้ความสำคัญ และกำหนดเป็นนโยบาย จะช่วยชะลอการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ออกไปได้อีกอย่างน้อย 15-20 ปี
นอกจากนี้ เทคโนโลยีของพลังงานทางเลือกที่สะอาดพัฒนาเป็นอย่างก้าวกระโดด เช่น ประเทศในสหภาพยุโรป หันมาลงทุน และพึ่งพาพลังงานหมุนเวียน จนเชื่อว่าจะเติบโตเป็นฐานพลังงานได้ในอนาคต
ส่วนเครือข่ายชาวบ้านในพื้นที่เป้าหมายสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ เห็นว่า รัฐบาลไม่ได้ให้ข้อเท็จจริงอย่างเพียงพอ และนโยบายพัฒนาอุตสาหกรรมของรัฐไม่สอดคล้องกับวิถีชุมชน นอกจากนี้ ยังไม่เชื่อมั่นว่า การก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในไทยจะมีความปลอดภัย เพราะแม้แต่ประเทศญี่ปุ่นที่มีระบบความปลอดภัยสูงยังเกิดปัญหาได้ สำหรับเครือข่ายชาวบ้านที่คัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในพื้นที่ เช่น นครศรีธรรมราช นครสวรรค์ และอุบลราชธานี ก็ออกมาแสดงท่าทีคัดค้าน