xs
xsm
sm
md
lg

ทบทวนสร้าง 5 โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในไทย เลื่อนแต่ไม่เคยคิดเลิก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพถ่ายทางอากาศของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ เมื่อวันอังคารที่ 15 มี.ค.ที่ผ่านมา
ASTVผู้จัดการออนไลน์ - กระทรวงพลังงานและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ เจ้าของโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในไทย นำร่อง 5 แห่ง 5,000 เมกะวัตต์ แสดงท่าทีทบทวนโครงการใหม่ แต่แค่เลื่อน ไม่ได้มีความคิดที่จะเลิก หวังกระแสตื่นกลัวโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ญี่ปุ่นระเบิดคลี่คลาย และรอไอเออีเอประเมินแผนการเตรียมความพร้อมทุกด้านในสิ้นเดือนมี.ค.นี้ ก่อนหาจังหวะเดินหน้าชงเข้าครม. ชี้ขาด

การระเบิดของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในญี่ปุ่นหลังจากเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวและคลื่นยักษ์สึมานิ ทำให้กระแสการคัดค้านโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เพิ่มเติมในขณะนี้เกิดขึ้นทั่วโลก ยกเว้นประเทศสังคมนิยมอย่างเวียดนามหรือจีนที่ยังเดินหน้าต่อไป

สำหรับประเทศไทย การก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในไทย มีข้อถกเถียงกันมากทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย แต่อย่างไรก็ตาม หน่วยงานวางแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า ซึ่งมีกระทรวงพลังงาน และหน่วยงานรัฐวิสาหกิจในสังกัดอย่างการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นโต้โผหลัก ต่างพยายามผลักดันให้มีการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์มาโดยตลอด โดยยกเหตุผลวิกฤตพลังงานที่ต้องพึ่งพาก๊าซธรรมชาติ เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้ามากเกินไป ซึ่งขณะนี้นี้โรงไฟฟ้าของไทย พึ่งพาก๊าซฯ สูงถึงกว่า 70% ส่วนเชื้อเพลิงอื่น เช่น โรงไฟฟ้าถ่านหิน หรือการสร้างเขื่อนเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าก็ถูกต่อต้าน

กฟผ.หน่วยงานหลักในการจัดหาพลังงานไฟฟ้าของประเทศ ริเริ่มแนวคิดที่จะสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในไทย ตั้งแต่ปี 2510 ต่อมา ในปี 2513 รัฐบาลได้เห็นชอบโครงการและกำหนดให้ใช้เตาปฏิกรณ์แบบน้ำเดือด (BWR) ขนาด 600 เมกะวัตต์ โดยกำหนดจุดสร้างที่อ.อ่าวไผ่ จ.ชลบุรี จากนั้น ในปี 2519 กฟผ.เสนอขออนุมัติเปิดประมูลโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ แต่มีปัญหาถูกคัดค้านจากสาธารณชนในเรื่องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย การรั่วไหลของสารกัมตภาพรังสีและการกำจัดกากนิวเคลียร์

สุดท้ายเมื่อหาข้อยุติไม่ได้ กฟผ.ก็เลื่อนโครงการออกไปไม่มีกำหนด และหันไปสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ลำปาง และสร้างโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซฯเป็นเชื้อเพลิงแทน

จากนั้น ปี 2534 กฟผ.ได้สำรวจและศึกษาสถานที่ก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์โดยได้พื้นที่เหมาะสม 5 แห่ง แต่เนื่องจากนโยบายรัฐบาลไม่ชัดเจนจึงไม่ได้เดินหน้าต่อ

กระทั่งปี 2550 ในสมัยรัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเมื่อวันที่ 30 ต.ค. 2550 อนุมัติมติของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ในร่างแผนจัดตั้งโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการผลิตไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ ดังนั้น “รัฐบาลขิงแก่” จึงได้ชื่อว่าเป็นผู้วางรากฐานโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในไทยที่ชัดเจนที่สุดนับแต่มีการผลักดันให้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในไทยมาร่วมครึ่งศตวรรษ

มติครม.ดังกล่าว ได้อนุมัติงบประมาณมากถึง 1,800 ล้านบาท ในช่วง 3 ปีแรก (พ.ศ.2551 - 2553) เพื่อใช้ในการจัดตั้งสำนักพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ (สพน.) ในสังกัดกระทรวงพลังงาน การดำเนินงานตามแผนงานด้านกฎหมาย ระบบกำกับและข้อผูกพันระหว่างประเทศ แผนการด้านโครงสร้างพื้นฐานอุตสาหกรรม การพาณิชย์ การพัฒนาถ่ายทอดเทคโนโลยี แผนงานด้านความปลอดภัยนิวเคลียร์และสิ่งแวดล้อม แผนงานการสื่อสารสาธารณะ ฯลฯ

การเดินหน้าศึกษาโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ของ สพน. ดำเนินควบคู่ไปกับจัดทำแผนผลิตกำลังไฟฟ้า หรือแผนพีดีพี กระทั่งโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ได้ถูกบรรจุเข้าไว้ในแผนพีดีพี 2010 (ระหว่างปีพ.ศ. 2553 - 2573) จำนวน 5 โรง ขนาดกำลังการผลิตแห่งละ 1,000 เมกะวัตต์ รวม 5,000 เมกะวัตต์ ซึ่งตามแผนพีดีพี 2010 โรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งแรกจะผลิตไฟฟ้าเข้าระบบในปี 2563 ส่วนโรงที่ 2, 3, 4 และ 5 จะผลิตไฟเข้าสู่ระบบในปี พ.ศ. 2564, 2567, 2568 และ 2571 ตามลำดับ

หลังได้รับการอนุมัติจากครม. ทั้งงบประมาณ และแผนเตรียมความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการผลิตไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ รวมทั้งแผนพีดีพี 2010 สพน.ได้เดินหน้าตามแผนการในทุกด้าน จนกระทั่งทบวงพลังงานปรมณูระหว่างประเทศ (IAEA) ได้เข้าตรวจสอบการเตรียมความพร้อมในการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ของไทย เมื่อปลายปี 2553 ที่ผ่านมา

ล่าสุด นายชวลิต พิชาลัย รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ในฐานะรองผู้อำนวยการ สพน. เปิดเผยผ่านสื่อว่า สพน.กำลังรอรายงานด้านความพร้อมของประเทศไทยในการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฉบับสมบูรณ์ที่ทาง IAEA จะรายงานกลับมาในวันที่ 30 มี.ค. 54 นี้ โดย IAEA จะประเมินแผนการเตรียมความพร้อมใน 19 ด้านที่เกี่ยวข้องกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ทั้งด้านกฎหมาย บุคคลากร การดูแลความปลอดภัย สิ่งแวดล้อม พื้นที่ก่อสร้าง และการเก็บสารกัมมันตรังสี ฯลฯ

ในส่วน กฟผ.ซึ่งเป็นเจ้าของโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ได้ว่าจ้างบริษัทเบิร์นแอนด์โรส์ เป็นที่ปรึกษาเตรียมความพร้อมในการก่อสร้างได้ศึกษาข้อมูลแล้วเสร็จและส่งให้ สพน.เรียบร้อยแล้ว หลังจากนี้ กฟผ.จะจัดเตรียมร่างเงื่อนไขการประกวดราคา (ทีโออาร์) โดยว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษากำหนดสเปกของโรงไฟฟ้า หากครม.อนุมัติให้ก่อสร้าง กฟผ.คาดว่าจะใช้เวลาในการประกวดราคาประมาณ 3 ปี และใช้เวลาสร้างจริงอีก 6 ปี โดยเริ่มจ่ายไฟเข้าสู่ระบบประมาณ ปี 2563 หรือ 2564

กฟผ. ได้ประเมินต้นทุนค่าก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ เฉลี่ย 1.5 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯต่อเมกะวัตต์ หรือรวมเป็น 6,000 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ หรือไม่ต่ำกว่า 200,000 ล้านบาท ขณะที่ บีโอไอ ประเมินค่าก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ไว้ที่ประมาณ 2.0 - 2.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ/เมกะวัตต์ เหตุที่กฟผ.ประเมินต้นทุนค่าก่อสร้างต่ำเพราะต้องการใช้เปรียบเทียบกับเชื้อเพลิงชนิดเพื่อนำไปสู่ข้อสรุปที่ว่า นิวเคลียร์ถูกกว่า จะทำให้ประชาชนจ่ายค่าไฟถูกลง

สำหรับพื้นที่ก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ตามการศึกษาของบริษัทเบิร์นแอนด์โรส์ เบื้องต้นกำหนดไว้ 6 จังหวัด รวม 14 จุด กระจายอยู่ในหัวเมืองชายทะเลในภาคกลางและภาคใต้ แต่เมื่อถูกคัดค้านจากชาวบ้านในพื้นที่อย่างหนัก ราวเดือน ก.ค. 2553 กฟผ.ได้รายงานการศึกษาสถานที่ตั้งซึ่งใช้องค์ประกอบพิจารณา 3 ด้าน คือ ด้านวิศวกรรม สิ่งแวดล้อม และเศรษฐศาสตร์ สรุปพื้นที่ที่ได้คะแนนสูงสุด 5 อันดับแรก คือ 1) อ.สิรินธร จ.อุบลฯ 2) ต.พนมรอก อ.ท่าตะโก จ.นครสวรรค์ 3)  ต.ไม้รูด อ.คลองใหญ่ จ.ตราด 4) ต.คันธุลี อ.ท่าชนะ จ.สุราษฎร์ธานี และ 5) ปากน้ำละแม อ.ละแม จ.ชุมพร แต่เป้าหมายหลัก 2 จุดแรก คือ ที่จ.อุบลฯ และ จ.นครสวรรค์

อย่างไรก็ตาม การเตรียมความพร้อมก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ดำเนินไปท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ ทั้งจาก “คนวงใน” ด้วยกันเอง อย่างดร.พรายพล คุ้มทรัพย์ ในฐานะคณะอนุกรรมการศึกษาโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ที่เห็นว่า แผนนิวเคลียร์ที่ทำกันกระท่อนกระแท่นมาก ทั้งการศึกษา การสร้างองค์ความรู้ ไม่ได้มีความพร้อมเท่าที่ควร ทั้งที่ใช้เงินมาก ดังนั้นพลังงานนิวเคลียร์แม้จะอยู่ในแผนพีดีพี แต่อีก 15 ปีข้างหน้าอาจไม่เกิด

ขณะเดียวกัน ประชาชนในพื้นที่จุดก่อสร้างโครงการต่างออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านไม่เอาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ โดยขอให้ยกเลิกโครงการอย่างถาวร

ลำพังกระแสคัดค้านโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ภายในประเทศก็หนักหน่วงพออยู่แล้วสำหรับนักวางแผนและจัดหาพลังงานไฟฟ้า เมื่อเจอเข้ากับเหตุการณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ระเบิดที่ญี่ปุ่น ทำให้การเดินหน้าโครงการยากลำบากขึ้นไปอีกหลายเท่าตัว แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม นักวางแผนและจัดหาพลังงาน ต่างไม่ยอมรามือกับการปักธงโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในประเทศไทย

สุทัศน์ ปัทมสิริวัฒน์ ผู้ว่าการ กฟผ. บอกว่า กรณีแผ่นดินไหวในญี่ปุ่นจนทำให้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ระเบิด เป็นปัจจัยที่ทำให้การก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในไทยอาจเลื่อนไปอย่างต่ำ 2 ปี แทนจะเข้าระบบในปี 2563 ก็เป็น 2565 แทน

เช่นเดียวกับรองผอ.สพน. ที่ย้ำว่า หากมีการเลื่อนการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ออกไปอีก 2 ปี เครื่องแรกจะจ่ายไฟเข้าระบบในปี 2565 และเครื่องที่ 2, 3, 4 และ 5 จะเข้าระบบในปี 2566, 2569, 2570 และ 2573 ตามลำดับ

การทบทวนโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในไทยโดยการเลื่อนนำเข้าระบบข้างต้น สะท้อนชัดเจนว่า บรรดานักวางแผนและจัดหาพลังงานไม่เคยคิดถอดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ออกจากระบบแต่อย่างใด แม้ว่ารัฐบาลแต่ละชุดที่เข้ามาบริหารงานจะมีนโยบายที่แตกต่างกันไป หรือไม่ก็โลเลอย่างรัฐบาลที่นำโดยพรรคประชาธิปัตย์ ที่แทงกั๊กมาตลอด ตอนที่เป็นฝ่ายค้านก็พูดเสียงดัง ไม่เอานิวเคลียร์ แต่พอเป็นรัฐบาลก็บอกว่า ไม่ได้ขัดข้องที่จะศึกษาเตรียมการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ แต่ต้องดูเรื่องความปลอดภัยและต้นทุนค่าก่อสร้างที่สูงกว่าประเมินกันไว้

ถึงที่สุดแล้ว ความสูญเสียจากการระเบิดของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในญี่ปุ่นคราวนี้ เป็นเหตุการณ์สำคัญที่สังคมไทยจะใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจและลงประชามติกันว่า การทบทวนโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในไทย จะเป็นเพียงแค่การ “เลื่อน” หรือ “เลิกถาวร” เสียที
กำลังโหลดความคิดเห็น