xs
xsm
sm
md
lg

ไทยทบทวนโรงไฟฟ้านิวเคลียร์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน- เหตุสึนามิถล่มญี่ปุ่น ส่งผลให้โรงไฟฟนิวเคลียร์เกิดระเบิด และสารกัมตภาพรังสีรั่วไหล ทำให้ไทยต้องชะลอแผนก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในไทยจากแผนอย่างน้อย 2 ปี “กฟผ.” โยนรัฐบาลตัดสินใจ คุยมีแผนสำรองแล้วไร้กังวล พร้อมตรวจสภาพเขื่อนทั่วประเทศเข้มรับแผ่นดินไหว ด้านกระทรวงพลังงาน รับทำใจอาจต้องรอรัฐบาลใหม่ชี้ชะตา

นายสุทัศน์ ปัทมสิริวัฒน์ ผู้ว่าการ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า การก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในไทยตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า (PDP2010) โดยจะเกิดโรงแรกปี 2563 นั้น การตัดสินใจจะดำเนินการอย่างไรอยู่ที่นโยบายจากรัฐบาล แต่ยอมรับว่าจากหลายปัจจัย ทั้งการยอมรับจากประชาชน รวมถึงกรณีแผ่นดินไหวญี่ปุ่นจนทำให้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ระเบิด เป็นปัจจัยเร่งที่มีโอกาสให้การก่อสร้างในไทยอาจต้องเลื่อนออกไปอย่างต่ำ 2 ปี

“ หากเลื่อนออกไป 2 ปีโรงแรกก็อาจจะไปเข้าระบบในปี 2565 แทน โดยกฟผ.เองก็มีแผนรองรับอยู่แล้ว ที่จะต้องนำโรงไฟฟ้าถ่านหินเข้ามาผลิตเพิ่ม รวมถึงโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาตินำเข้าหรือก๊าซธรรมชาติเหลว(แอลเอ็นจี) โดยโรงไฟฟ้าถ่านหินนั้นยังพอมีเวลา เพราะโรงแรกจะเข้าระบบปี 2562 ส่วนกรณีที่ปี 2557-2558 สำรองไฟอาจต่ำเพียง 9% กฟผ.ได้วางแผนเร่งโรงไฟฟ้าจะนะ วังน้อย และ พระนครเหนือ เข้ามา หากทำตามแผนนี้สำรองจะเพิ่มขึ้นเป็น 15% คงไม่น่าห่วงอะไร”ผู้ว่ากฟผ.กล่าว

ทั้งนี้ การสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ความเห็นส่วนตัวนั้น เทคโนโลยีปัจจุบันพัฒนาไปมาก ส่วนกรณีที่เกิดระเบิดจากญี่ปุ่นเป็นโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อายุมากถึง 40 ปีเป็นเทคโนโลยีรองจากรุ่นแรกด้วยซ้ำไป จะเห็นว่าการควบคุมได้ระดับดังกล่าวถือว่าเก่งพอสมควร

แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า จากกรณีที่นายกรัฐมนตรีได้ประกาศที่จะยุบสภาในเดือนพ.ค.นี้ และไม่เห็นด้วยกับการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์จึงมีโอกาสสูงมากที่รัฐบาลนี้จะไม่ตัดสินใจใด ๆ โดยจะให้ครม.ใหม่มาตัดสินใจแทน

นายสุรศักดิ์ ศุภวิฑิตพัฒนา รองผู้ว่าการผลิตไฟฟ้า กฟผ.กล่าวว่า กฟผ.ได้มีการติดตั้งเครื่องตรวจวัดแผ่นดินไหวทุกเขื่อน เพื่อรายงานสภาพเมื่อเกิดเหตุแผ่นดินไหวตลอด 24 ชั่วโมงอยู่แล้ว โดยเฉพาะกรณีเขื่อนศรีนครินทร์และวชิราลงกรณ์ในจังหวัดกาญจนบุรีจะเฝ้าระวังเป็นพิเศษ เพราะอยู่ในรอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ ดังนั้นประชาชนจึงไม่ควรตื่นตระหนก

นายธาตรี ริ้วเจริญ ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์การ กฟผ.กล่าวว่า กฟผ.ได้มีการติดตามตรวจสอบผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ญี่ปุ่นอย่างใกล้ชิด
โดยในส่วนเขื่อนใหญ่ของ กฟผ. ทุกแห่ง ได้ตรวจสอบข้อมูลจากเครื่องตรวจวัดแผ่นดินไหวที่ติดตั้งพบว่า ไม่มีแรงกระทำมาถึงตัวเขื่อน เนื่องจากอยู่ไกลจากศูนย์กลางแผ่นดินไหวมาก ส่วนโรงไฟฟ้าของ กฟผ. ทั่วประเทศนั้นไม่มีความผิดปกติเช่นกัน จึงยืนยันว่าทั้งเขื่อนและโรงไฟฟ้ายังมีความมั่นคงแข็งแรง ทั้งนี้ กฟผ. จะยังคงติดตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องเพื่อเฝ้าระวังผลกระทบที่เกรงว่าจะเกิดขึ้นกับประเทศไทยอีกด้วย

นายวีรชัย ไชยสระแก้ว ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายบำรุงรักษาโยธา กฟผ. กล่าวว่า กฟผ.อยู่ระหว่างการทยอยทบทวนและตรวจสอบสภาพเขื่อนทั่วประเทศอย่างรัดกุม เพื่อเพิ่มความแข็งแรงให้กับเขื่อนมากขึ้น หลังในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาเกิดปัญหาแผ่นดินไหวในประเทศใกล้เคียงบ่อยจนทำให้ประชาชนในพื้นที่วิตกกังวล ขณะเดียวกันยังมีการติดกล้องถ่ายทอดสดให้เห็นสภาพเขื่อนผ่านระบบอินเตอร์เน็ตเพื่อป้องกันข่าวลือเขื่อนแตก
กำลังโหลดความคิดเห็น