xs
xsm
sm
md
lg

“เจ้ภินันทน์” จี้ผู้ว่าฯ กาญจน์เผยข้อมูลจุดเสี่ยงภัย-ปลอดภัยหวั่นเขื่อนยักษ์พังซ้ำรอยแผ่นดินไหวญี่ปุ่น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เขื่อนศรีนครินทร์ อำเภอศรีสวัสดิ์ จังหวัดกาญจนบุรี
กาญจนบุรี - “เจ้ภินันทน์” ปธ.กลุ่มอนุรักษ์กาญจน์ฯ เขียนจดหมายเปิดผนึกถึงผู้ว่าฯ กาญจนบุรี จี้ให้ทางจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เผยข้อมูลจุดเสี่ยงภัยและจุดปลอดภัยแก่ประชาชนหากเกิดแผ่นดินไหวจน “เขื่อนยักษ์” พัง หวั่นมีการล้มตายซ้ำรอยแผ่นดินไหวจนเกิดสึนามิยักษ์ถล่มญี่ปุ่น

เมื่อเวลา 08.00 น.วันนี้ (15 มี.ค.54) นางภินันทน์ โชติรสเศรณี ประธานกลุ่มอนุรักษ์กาญจนบุรี เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 14 มี.ค.ที่ผ่านมา ตนได้เขียนจดหมายถึงนายณฐพลษ์ วิเชียรเพริศ ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี เพื่อขอให้ทางจังหวัดจัดการให้ความรู้จริงๆ แก่ประชาชนที่อยู่ใต้เขื่อนใหญ่ในจังหวัดกาญจนบุรีว่า พื้นที่จุดใด ที่ไหนให้ความปลอดภัยแก่ประชาชน หากเกิดแผ่นดินไหว เขื่อนพัง น้ำหลาก

โดยเนื้อหาในจดหมายระบุว่า สืบเนื่องจากการเกิดแผ่นดินไหว 8.9 ริกเตอร์ ที่ประเทศญี่ปุ่น และนานาประเทศ เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2554 ก่อความเสียหายอย่างรุนแรง หลายปีที่ผ่านมายังเกิดแผ่นดินไหวรอบๆ ประเทศเรา และไทยก็ได้รับแรงสั่นสะเทือนตลอดมา

และเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2526 ที่ผ่านมา เวลาประมาณ 08.10 น.ก็เกิดแผ่นดินไหวที่รอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี แรงสั่นสะเทือน 5.9 ริกเตอร์ เป็นความโชคดีของคนไทย ที่จุดศูนย์กลางแรงสั่นอยู่ห่างจากเขื่อนศรีนครินทร์ ไกลถึง 60 กิโลเมตร เมืองกาญจน์ จึงได้เพียงรับรู้ เวียนหัว ถ้วยชามหล่น เกิดความเสียหายเล็กๆ น้อยๆ

มากไปกว่านั้นจากการสำรวจพบรอยแยกของแผ่นดินในป่าหลายกิโลเมตร หากวันนั้น 5.9 จุดศูนย์กลางอยู่กลางเขื่อนศรีนครินทร์ ซึ่งก่อสร้างกดทับอยู่บนรอยเลื่อนแผ่นดินไหว วันมหาวิปโยคความเสียหายในชีวิตและทรัพย์สินคงตกกับคนเมืองกาญจน์ ราชบุรี เพชรบุรี นครปฐม สมุทรสงคราม สมุทรสาคร สมุทรปราการ กรุงเทพมหานคร สุพรรณบุรี อ่างทอง อยุธยา และจังหวัดอื่นๆ ใกล้เคียง อย่างรุนแรงน้องๆ ประเทศญี่ปุ่น เพราะภาครัฐเราไม่เคยสอน ให้ความรู้ ให้ข้อมูล การเตรียมตัวเมื่อพบอุบัติภัย ต่อกรณีแผ่นดินไหวเขื่อนพัง

ซึ่งองค์กรพัฒนาเอกชนได้เรียกร้องให้ภาครัฐเปิดเผยข้อมูลอบรมประชาชนที่อาศัยในพื้นที่เสี่ยงภัย ใต้เขื่อน มานานกว่า 10 ปี เตือนไปก็หลายสิบครั้ง ตั้งแต่ ก่อนเกิด สินามิ ที่ภาคใต้ ถึงปัจจุบัน ภาครัฐบาล จังหวัด การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ รับเรื่อง รับฟัง และรับว่าเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เห็นด้วยกับข้อเรียกร้อง จะตั้งงบประมาณจัดการด่วน และแล้วเรื่องก็เงียบหายราวคลื่นกระทบฝั่ง ผู้มีหน้าที่ รับปากในห้องประชุม แต่ไม่มีการดำเนินการให้ความรู้ ข้อเท็จจริงใดๆเลย กับประชาชนคนใต้เขื่อน

จึงขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี ท่านเพิ่งย้ายมา ให้ท่านสั่งการให้ทุกฝ่ายที่มีหน้าที่ ดูแลความปลอดภัยประชาชน “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” เช่น อำเภอเมือง ตำบลวังด้ง ลาดหญ้า หนองบัว แก่งเสี้ยน ท่ามะขาม ลิ้นช้าง ปากแพรก บ้านใต้ บ้านเหนือ บ้านบ่อ ท่าล้อ ท่าม่วง ท่าเรือ ท่ามะกา ลูกแก และอื่นๆอีกมาก พื้นที่ปลอดภัยอยู่จุดไหน แบ่งขอบเขตการจัดการอย่างโร

ตัวอย่างเช่น ดิฉันอยู่ หมู่ 2 ตำบลท่าล้อ อำเภอท่าม่วง จะต้องนำพาครอบครัวไปจุดไหนที่ปลอดภัย คงไม่มีพื้นที่ใดที่สามารถรองรับ ประชาชนได้ทั้งหมด แล้วประชาชนแต่ละจุดจะรู้ได้อย่างไร ว่าตนเองต้องไปอยู่ที่ใด คงต้องรบกวนท่านผู้ว่าฯ ต้องจัดสรรพื้นที่ ให้พอเพียง ต้องออกสำรวจด้วยว่าพื้นที่เป้าหมายดังกล่าว ปลอดภัย ต่อการหนีภัย (ไม่ใช่หนีภัยกลายเป็นเหยียบกันตาย ตีกันตาย ต้องให้ประชาชนมีสติ เมื่อเกิดภัย)

ในท้ายจดหมายของนางภินันทน์ โชติรสเศรณี ประธานกลุ่มสตรีกาญจนบุรี ระบุว่า “สุดท้ายนี้ หวังเป็นอย่างยิ่ง ว่าท่านผู้ว่าฯต้องรีบเปิดข้อมูล นำมาดำเนินการด่วน ในขณะที่ประชาชนกำลังสนใจ ป้องกันก่อนเกิด เราไม่เอาแบบวัวหายล้อมคอก ดิฉันเฝ้ารอคอยการประสานมาหลายปีแล้ว ได้ผลเป็นประการใดกรุณาแจ้งกลับด่วนจะเป็นพระคุณยิ่ง ขอภาวนาต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายในสากลโลก ขออย่าได้เกิดแผ่นดินไหวอย่างรุนแรงในประเทศเราเลย”

เขื่อนเขาแหลม หรือเขื่อนวชิราลงกรณ์ อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี
กำลังโหลดความคิดเห็น