xs
xsm
sm
md
lg

ผู้เชี่ยวชาญยันไทยไม่มีโอกาสเกิดแผ่นดินไหวรุนแรงเหมือนญี่ปุ่น แนะสร้างอาคารหลบภัย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพความเสียหายจากเหตุแผ่นดินไหวและคลื่นยักษ์สึนามิที่ประเทศญี่ปุ่น
ผู้เชี่ยวชาญด้านแผ่นดินไหว ระบุ เหตุแผ่นดินไหวรุนแรงและคลื่นยักษ์สึนามิเหมือนญี่ปุ่นโอกาสเกิดในประเทศไทยไม่มี เพราะที่ตั้งไม่ได้อยู่ในแหล่งรอยเลื่อนขนาดใหญ่ เผย กทม.มีภาวะดินอ่อน อาคารสูงเสี่ยงกระทบจากแผ่นดินที่มีศูนย์กลางทางภาคเหนือและในทะเล เสนอสร้างอาคารหลบภัยชายฝั่งอ่าวไทย และอันดามัน

รศ.ดร.เป็นหนึ่ง วานิชชัย ผู้เชี่ยวชาญด้านแผ่นดินไหว สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการแผ่นดินไหวและแรงลม วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย (วศท.) แถลงกรณี “แผ่นดินไหวในญี่ปุ่นมีผลต่อไทยหรือไม่ และควรเตรียมรับมืออย่างไร” โดยกล่าวว่า แผ่นดินไหวลักษณะเช่นนี้ไม่เกิดบ่อย แม้ในญี่ปุ่นเอง เพราะเป็นการมุดตัวของเปลือกโลกที่อยู่แนวต่อหลายแนว จึงก่อให้เกิดความรุนแรง และคลื่นยักษ์สึนามิมากในระดับต้นของโลก โอกาสที่จะเกิดในประเทศไทยไม่มี เพราะที่ตั้งไม่ได้อยู่ในแหล่งรอยเลื่อนขนาดใหญ่ เหมือนญี่ปุ่น ที่ผ่านมาในประเทศไทยแผ่นดินไหวศูนย์กลางมีอยู่ในทะเลและทางตอนเหนือของประเทศ มีขนาดกลางต่ำกว่า 7 ริกเตอร์ลงมา

สำหรับกรุงเทพฯ และปริมณฑล แม้ไม่มีความเสี่ยงเท่ากับพื้นที่ภาคเหนือ แต่มีปัจจัยเสี่ยงจากภาวะดินอ่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลกระทบจะเกิดในอาคารที่มีความสูง วศท.ได้มีการออกมีมาตรฐานการก่อสร้างสำหรับอาคารสูง เพื่อควบคุมให้เกิดต้านทานแผ่นดินไหวได้ หรือวิธีปรับเสริมอุปกรณ์เพื่อไม่ต้องลงทุนมาก เช่น การห่อฐานเสาของอาคารสูงด้วยแผ่นคาร์บอนไฟเบอร์ เพื่อให้ทนกับแรงโยกได้มากขึ้น ป้องกันการร้าวและถล่มลงมา

ด้าน ผศ.อาณัติ เรืองรัศมี ภาควิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงแบบจำลองการเดินทางของคลื่นยักษ์สึนามิ ว่า ประเทศไทยมีการศึกษาอย่างดี ทำให้คาดการณ์ผลกระทบและระยะเวลาที่จะเกิดสินามิจากต้นทางถึงประเทศไทยได้แม่นยำ เช่น กรณีที่เกิดในญี่ปุ่นล่าสุด ระยะทางห่างจากประเทศไทยหลายพันกิโลเมตร ทำให้ความสูงของคลื่นที่จะมาถึงไทยเหลือเพียงระดับเซนติเมตรเท่านั้น อย่างไรก็ตาม แม้จะคาดการณ์ถูกต้องแล้ว เมื่อคราวเกิดคลื่นยักษ์สึนามิชายฝั่งอันดามันเมื่อปลายปี 2547 ไทยยังขาดสถานที่หลบภัย จึงทำให้เกิดความเสียหายมาก จึงเสนอให้พื้นที่ชายฝั่งทะเล ที่อาจได้รับผลกระทบ ควรมีการสร้างอาคารหลบภัยทั้งแบบชั่วคราวและถาวร ลักษณะยกพื้นสูงเกิน 6 เมตร เปิดโล่งด้านล่างให้น้ำไหลผ่านสะดวก ขณะที่โรงแรมที่พักบริเวณชายฝั่งไม่ควรมีห้องใต้ดิน ควรมีปรับการก่อสร้างใหม่ นอกจากนี้ ต้องทำแผนที่บอกทางหนีภัยด้วย อย่างไรก็ตาม เหตุแผ่นดินไหวยังต้องเฝ้าระวัง เนื่องจากไม่สามารถบอกล่วงหน้าได้


กำลังโหลดความคิดเห็น