xs
xsm
sm
md
lg

กฟผ.ยันเขื่อนเจ๋งรับได้ 7 ริกเตอร์ หากแผ่นดินไหวกระทบแค่ 2-3 กม.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กฟผ.ยันเขื่อนที่อยู่ในความดูแล สามารถรับแรงสะเทือนจากแผ่นดินไหวได้ 7 ริกเตอร์ ชี้ หากเกิดเหตุการณ์ขึ้นจริง ก็จะทำให้เกิดน้ำท่วมในบริเวณรอบรัศมี 2-3 กิโลเมตร เท่านั้น ไม่มีเหตุการณ์เขื่อนแตกแน่นอน “สาธิต” สั่งตรวจสอบตึกแถว-อาคารเก่า เพื่อหาแนวทางดูแล “นักวิชาการ” ยอมรับ ปชช.กำลังวิตก-หวาดผวา แนะรัฐต้องให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง

นายวีรชัย ไชยสระแก้ว ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายบำรุงรักษาโยธา การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้กล่าวชี้แจงต่อที่ประชุมคณะทำงานจัดการประชุมวางมาตรการรับมือกับภัยพิบัติแผ่นดินไหวที่มี นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เพื่อวางมาตรการรับมือกับภัยพิบัติแผ่นดินไหว โดยผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายบำรุงรักษาโยธา ยืนยันว่า เขื่อนในความดูแลของ กฟผ.สามารถรับแรงสั่นสะเทือนจากเหตุแผ่นดินไหวที่มีความรุนแรงได้ถึง 7 ริกเตอร์ และมีการวางแผนรับมือเอาไว้เรียบร้อยแล้ว

สำหรับรายละเอียดของแผนรับมือแผ่นดินไหว มีดังนี้ 1.โครงการ Dam Safety Remote Monitoring System ซึ่งเป็นการติดตั้งเครื่องตรวจวัดแผ่นดินไหวที่ได้มีการติดตั้งเอาไว้ตามเขื่อนที่อยู่ในพื้นที่รอยเลื่อนตามภาคตะวันตกและภาคเหนือของประเทศ 2.โครงการ Dam Safety Audit เป็นการดำเนินการตรวจสอบโครงสร้างของเขื่อนด้วยมาตรฐานสากลซึ่งมีการตรวจเป็นประจำอยู่แล้ว และ 3.โครงการ Dam Safety Emergency Preparedness Plan จัดทำแผนที่น้ำท่วมจากเขื่อนและแผนประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งในส่วนนี้จะเป็นการประเมิณว่าหากเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวขึ้นจริงจะมีผลกระทบกับเขื่อนอย่างไรบ้างโดยเฉพาะปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่รอบเขื่อนเพื่อให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดูแลต่อไป

“ยืนยันว่า เขื่อนของ กฟผ.ได้ก่อสร้างตามมาตรฐานสากลในการรองรับเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวโดยสามารถรองรับระดับแผ่นดินไหวได้ถึง 7 ริกเตอร์ ซึ่งที่ผ่านมาประเทศไทยยังไม่เคยเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวระดับนี้มาก่อน อย่างไรก็ตาม กฟผ.ได้คำนวณเอาไว้แล้วว่ากรณีเลวร้ายที่สุดหากมีแผ่นดินไหวใต้เขื่อนในระดับ 7 ริกเตอร์ ก็จะทำให้เกิดน้ำท่วมในบริเวณรอบรัศมี 2-3 กิโลเมตร เท่านั้น ไม่มีเหตุการณ์เขื่อนแตกแน่นอน”

สำหรับการประชุมคณะทำงานจัดการประชุมวางมาตรการรับมือกับภัยพิบัติแผ่นดินไหวในวันนี้ มีหน่วยงานต่างๆ เข้าร่วม ดังนี้ ตัวแทนกรมอุตุนิยมวิทยา กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศ (ไอซีที) กระทรวงวัฒนธรรม และกรมโยธาธิการ กระทรวงวัฒนธรรม สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และตัวแทนนักวิชาการ

ทั้งนี้ เนื้อหาของการประชุมส่วนใหญ่ นายสาทิตย์ ได้สอบถึงมาตรการและแผนของหน่วยงานต่างๆ ในการรับมือหากเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวโดยเฉพาะในส่วนของ กฟผ.เพราะเป็นหน่วยงานที่ควบคุมดูแลการจัดการเขื่อนขนาดใหญ่ของประเทศเป็นจำนวนมาก จึงได้สอบถามว่าหากเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวจะมีผลกระทบกับเขื่อนดังกล่าวอย่างไร

นายสาทิตย์ กล่าวว่า ตนเองได้รับทราบจากกรมโยธิการกระทรวงมหาดไทย ว่า ตึกสูงที่ก่อสร้างขึ้นใหม่ในระยะไม่กี่ปีมานี้ได้รับตรวจสอบว่ามีโครงสร้างสามารถรับมือแผ่นดินไหวได้ แต่เป็นห่วงอาคารประเภทตึกแถวและอาคารพาณิชย์ ทั้งใน กทม.และต่างจังหวัด ซึ่งยังมีโครงสร้างไม่สามารถรองรับแผ่นดินไหวได้ ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่ต้องเร่งตรวจสอบเพื่อหาทางแก้ไขต่อไป

นายธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล อาจารย์ประจำภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะหัวหน้าหน่วยศึกษาพิบัติภัยและข้อสนเทศเชิงพื้นที่ กล่าวว่า ตอนนี้ปัญหาของประเทศไทย คือ ยังไม่มีการเตรียมพร้อมรับมือกับปัญหาแผ่นดินไหวอย่างจริงจัง เพราะที่ผ่านมาประเทศไทยทำกรณีศึกษาเพียงหลักพันเท่านั้น ขณะที่หลักสากลอย่างเช่นในญี่ปุ่นมีการทำกรณีศึกษามากกว่าหลักแสน ประโยชน์ของการทำกรณีศึกษา คือ การนำมาเปรียบเทียบหาข้อแตกต่างและสาเหตุว่าการเกิดแผ่นดินไหวมีลักษณะแตกต่างกันอย่างไรเพื่อให้สามารถคาดการณ์เหตุการณ์ได้

นายธนวัฒน์ กล่าวเสริมว่า ปัญหาที่สำคัญและยังไม่มีหน่วยงานไหนให้ความสำคัญ คือ การให้ความรู้กับประชาชน ถึงเวลาแล้วที่ควรมีการบรรจุเนื้อหาเกี่ยวกับรับมือภัยพิบัติในด้านต่างๆ ไม่ใช่เพียงแผ่นดินไหวเพียงอย่างเดียวเอาไว้ในแบบเรียนของสถาบันการศึกษา เพราะตอนนี้ประชาชนเริ่มวิตกกับเหตุการณ์แผ่นดินไหวเป็นอย่างมาก ยกตัวอย่างเพียงแค่มีข่าวออกมาว่าพบรอยเลื่อนก็ตกใจกันหมด ทั้งๆ ที่รอยเลื่อนดังกล่าวไม่ได้เป็นรอยเลื่อนที่มีพลัง ซึ่งมีผลให้เกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวได้
กำลังโหลดความคิดเห็น