xs
xsm
sm
md
lg

โพลนักเศรษฐศาสตร์เตือนภาวะสินค้าแพงในช่วง ศก.ไทยชะลอตัว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


โพลนักเศรษฐศาสตร์ 54% คาดภายใน 1-2 ปีข้างหน้า เศรษฐกิจไทยมีโอกาสเข้าสู่ภาวะ Stagflation ค้านปรับขึ้นค่าแรง หวั่นทำเงินเฟ้อรุนแรง ขณะที่ 46% ไม่เห็นด้วยกับทฤษฎี 2 สูง ของเจ้าสัว “ธนินท์” และกว่า 61% ค้านนโยบายตรึงราคาดีเซล 30 บาท/ลิตร ส่วนการแก้ปัญหาราคาสินค้า อยู่ในระดับพอใช้ถึงแย่

ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (กรุงเทพโพลล์) เปิดเผยผลสำรวจความเห็นนักเศรษฐศาสตร์ที่ทำงานอยู่ในหน่วยงานด้านการวิเคราะห์ วิจัยเศรษฐกิจระดับชั้นนำของประเทศ 24 แห่ง จำนวน 65 คน เรื่อง “นโยบายบริหารจัดการราคาสินค้าของรัฐบาล” โดยเก็บข้อมูลระหว่างวันที่ 14-16 มีนาคม 2554 ที่ผ่านมา พบว่า นักเศรษฐศาสตร์ร้อย 73.9 ประเมินว่า ปัญหาราคาสินค้าที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นในปัจจุบันมีความรุนแรงจัดอยู่ในระดับปานกลาง และนักเศรษฐศาสตร์มากกว่าครึ่ง (ร้อยละ 53.8) มองว่า ในช่วง 1-2 ปีข้างหน้าเศรษฐกิจไทยมีโอกาสเข้าสู่ภาวะชะงักงัน (Stagflation) หรือภาวะเศรษฐกิจที่ราคาสินค้าปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นพร้อมๆ กับการชะลอตัวของเศรษฐกิจ หรือมีการว่างงานเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ นักเศรษฐศาสตร์ร้อยละ 46.2 ได้ประเมินความสามารถด้านการบริหารจัดการและแก้ปัญหาราคาสินค้าของรัฐบาลอยู่ในระดับแค่พอใช้ ขณะที่ร้อยละ 44.6 มองว่าอยู่ในระดับค่อนข้างแย่ถึงแย่มาก มีเพียงร้อยละ 9.2 เท่านั้นที่มองว่าอยู่ในระดับค่อนข้างดี

เมื่อสอบถามถึงความเห็นเกี่ยวกับการดำเนินนโยบายตรึงราคาน้ำมันดีเซลที่ 30 บาทต่อลิตรจนถึงสิ้นเดือนเมษายน 2554 นี้ นักเศรษฐศาสตร์ร้อยละ 61.6 มองว่า เป็นการดำเนินนโยบายที่ไม่ถูกทาง พร้อมทั้งเสนอแนวทางที่เหมาะสมสำหรับใช้ในช่วงเดือนพฤษภาคมเป็นต้นไป คือ แนวทางที่ 1 ปล่อยให้ราคาน้ำมันเคลื่อนไหวตามกลไกตลาด แนวทางที่ 2 ทยอยลดการอุดหนุนราคาน้ำมันเป็นขั้นๆ จนเท่ากับราคาตลาดในระยะเวลาที่เหมาะสม และแนวทางที่ 3 ปล่อยให้ราคาน้ำมันเคลื่อนไหวตามกลไกตลาดพร้อมกับการอุดหนุนบางส่วนในสัดส่วนที่เหมาะสมกับราคาน้ำมันในตลาดโลก

ส่วนความเห็นเกี่ยวกับที่ นายกฯอภิสิทธิ์ จะนำแนวคิดในการปรับเพิ่มค่าแรงเพื่อสร้างความสมดุลให้ทันกับราคาสินค้าที่ปรับสูงขึ้น (ทฤษฎี 2 สูง ของ คุณธนินท์ เจียรวนนท์) มาใช้เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชน นักเศรษฐศาสตร์ร้อยละ 46.2 ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดดังกล่าว โดยให้เหตุผลว่าจะทำให้เกิดการคาดการณ์เงินเฟ้อ และทำให้ปัญหาเงินเฟ้อรุนแรงขึ้น อีกทั้งแรงงานบางส่วนทำงานไม่มีประสิทธิภาพ เพราะฉะนั้น การเพิ่มค่าแรงจะทำให้ผู้ประกอบการลดการจ้างงานกับแรงงานกลุ่มดังกล่าว แล้วหันไปจ้างแรงงานต่างด้าว ดังนั้น หากจะเพิ่มค่าแรงควรเพิ่มเฉพาะแรงงานทำงานมีประสิทธิภาพสูงเท่านั้น ซึ่งจะทำให้ความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทยเพิ่มขึ้น

สำหรับความเห็นเกี่ยวกับการที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีนโยบายปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อลดแรงกดดันเงินเฟ้อนั้น นักเศรษฐศาสตร์ร้อยละ 66.2 เห็นด้วยกับแนวทางดังกล่าว โดยให้เหตุผลว่า เป็นการช่วยชะลอการปรับเพิ่มของเงินเฟ้อที่เกิดจากด้านอุปสงค์ ทำให้ราคาสินค้าเคลื่อนไหวอย่างมีเสถียรภาพ รวมถึงทำให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างมีเสถียรภาพ อีกทั้งยังเป็นการส่งสัญญาณให้เอกชนรับทราบ ป้องกันการเกิดเงินเฟ้อในรอบที่สอง

1.ความเห็นเกี่ยวกับระดับความรุนแรงของปัญหาราคาสินค้าที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นในปัจจุบัน รุนแรงมากร้อยละ 13.8, รุนแรงปานกลาง ร้อยละ 73.9, ไม่รุนแรง ร้อยละ 10.8, ไม่ตอบ/ไม่แน่ใจ/ไม่ทราบร้อยละ 1.5

2.ความเห็นเกี่ยวกับโอกาสที่เศรษฐกิจไทยจะเข้าสู่ภาวะ Stagflation หรือ ภาวะเศรษฐกิจที่ราคาสินค้าปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นพร้อมๆ กับการชะลอตัวของเศรษฐกิจหรือมีการว่างงานเพิ่มขึ้น ในช่วง 1-2 ปีนี้ มีโอกาสร้อยละ 53.8 ไม่มีโอกาส ร้อยละ 40.0 ไม่ตอบ/ไม่แน่ใจ/ไม่ทราบ ร้อยละ 6.2

3.การประเมินความสามารถด้านการบริหารจัดการและแก้ปัญหาราคาสินค้าของรัฐบาลนายกฯอภิสิทธิ์, ดีเยี่ยม ร้อยละ 0.0, ค่อนข้างดี, ร้อยละ 9.2 พอใช้ร้อยละ 46.2 ค่อนข้างแย่ ร้อยละ 35.4, แย่มากร้อยละ 9.2

4.ความเห็นเกี่ยวกับการดำเนินนโยบายตรึงราคาน้ำมันดีเซลที่ 30 บาทต่อลิตร จนถึงสิ้นเดือนเมษายน 2554 นี้ เพื่อลดต้นทุนภาคขนส่งเพื่อช่วยชะลอการปรับขึ้นของราคาสินค้าว่าเป็นการดำเนินนโยบายที่ถูกทางหรือไม่ เป็นการดำเนินนโยบายที่ถูกทางร้อยละ 21.5 เป็นการดำเนินนโยบายที่ไม่ถูกทางร้อยละ 61.6

โดยแนวทางที่เหมาะสมสำหรับใช้ในช่วงเดือนพฤษภาคม 2554 เป็นต้นไป คือ (1) ปล่อยให้ราคาน้ำมันเคลื่อนไหวตามกลไกตลาด 100% (2) ทยอยลดการอุดหนุนราคาน้ำมันเป็นขั้นๆ จนเท่ากับราคาตลาดในระยะเวลาที่เหมาะสม (3) ปล่อยให้ราคาน้ำมันเคลื่อนไหวตามกลไกตลาดพร้อมกับการอุดหนุนบางส่วนในสัดส่วนที่เหมาะสมกับราคาน้ำมันในตลาดโลก ไม่ตอบ/ไม่แน่ใจ/ไม่ทราบร้อยละ 16.9

5.ความเห็นเกี่ยวกับการที่นายกฯอภิสิทธิ์ จะนำแนวคิดในการปรับเพิ่มค่าแรงเพื่อสร้างความสมดุลให้ทันกับราคาสินค้าที่ปรับสูงขึ้น (ทฤษฎี 2 สูง ของคุณธนินท์ เจียรวนนท์) มาใช้เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชน เห็นด้วย ร้อยละ 33.8 เพราะ (1) ค่าแรงในปัจจุบันยังต่ำเกินไปเมื่อเทียบกับเงินเฟ้อ (2) เพื่อให้รายได้เพียงพอกับราคาสินค้าที่สูงขึ้น (3) เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจอีกทางหนึ่ง แต่ต้องมีมาตรการไม่ให้ราคาสินค้าอื่นเพิ่มตาม ไม่เห็นด้วย ร้อยละ 46.2 เพราะ (1) เป็นช่วงเวลาที่ไม่เหมาะสม เพราะจะทำให้เกิดการคาดการณ์เงินเฟ้อและทำให้ปัญหาเงินเฟ้อรุนแรงขึ้น สุดท้ายรายได้ก็อาจเพิ่มขึ้นไม่ทันกับเงินเฟ้ออยู่ดี (2) แรงงานบางส่วนทำงานไม่มีประสิทธิภาพ เพราะฉะนั้น การเพิ่มค่าแรงจะทำให้ผู้ประกอบการลดการจ้างงานกับแรงงานกลุ่มดังกล่าว แล้วหันไปจ้างแรงงานต่างด้าว (3) ควรเพิ่มค่าแรงเฉพาะกับแรงงานทำงานมีประสิทธิภาพสูงเท่านั้น ซึ่งจะทำให้ความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทยเพิ่มขึ้น ไม่ตอบ/ไม่แน่ใจ/ไม่ทราบ ร้อยละ 20.0

6.ความเห็นเกี่ยวกับการที่ธนาคารแห่งประเทศไทยมีนโยบายปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อลดแรงกดดันเงินเฟ้อ เห็นด้วย ร้อยละ66.2 เพราะ (1) เป็นการช่วยชะลอการปรับเพิ่มของเงินเฟ้อที่เกิดจากด้านอุปสงค์ ทำให้ราคาสินค้าเคลื่อนไหวอย่างมีเสถียรภาพ รวมถึงทำให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างมีเสถียรภาพ (2) เป็นการส่งสัญญาณให้เอกชนรับทราบ ป้องกันการเกิดเงินเฟ้อในรอบที่สอง (3) อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงยังอยู่ในระดับต่ำ และยังไม่สูงมากเมื่อเทีบกับภูมิภาคอื่นไม่เห็นด้วย ร้อยละ 23.0 เพราะ (1) เงินเฟ้อที่เกิดขึ้นมาจากด้านอุปทาน จากปัญหาราคาน้ำมันแพง ราคาสินค้าเกษตรแพง การเพิ่มอัตราดอกเบี้ยจะเป็นการซ้ำเติมประชาชน (2) เงินเฟ้อที่เกิดขึ้นไม่ได้มาจากด้านอุปสงค์ การเพิ่มอัตราดอกเบี้ยจะไม่น่าแก้ปัญหาเงินเฟ้อได้ไม่ตอบ/ไม่แน่ใจ/ไม่ทราบร้อยละ 10.8
กำลังโหลดความคิดเห็น