“กรุงเทพโพลล์” สำรวจพบรัฐบาลสอบตกความเชื่อมั่นต่อการแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน ได้แค่ 1.91 คะแนนจากเต็ม 10 เช่นเดียวกับความเชื่อมั่นด้านความรักความสามัคคีที่ลดลง ส่วนความเชื่อมั่นด้านเศรษฐกิจแม้คะแนนออกมามากสุด แต่ก็ไม่ถึงครึ่ง ได้แค่ 4.01
ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุนิสา ประวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (กรุงเทพโพลล์) เปิดเผยว่า ด้วยสถานการณ์บ้านเมืองในปัจจุบันที่มีปัญหารุมเร้าในหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาปากท้องของประชาชน ปัญหาการชุมนุมประท้วง ปัญหาความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และปัญหาความขัดแย้งกับประเทศกัมพูชา ศูนย์วิจัยกรุงเทพโพลล์ จึงได้ทำการสำรวจความคิดเห็นประชาชน เรื่อง “ความเชื่อมั่นต่อศักยภาพประเทศไทยในปัจจุบัน และอนาคตอีก 6 เดือนข้างหน้า” โดยเก็บข้อมูลจากประชาชนทั่วทุกภาคของประเทศจำนวน 1,427 คน ระหว่างวันที่ 12-14 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
ผลสำรวจพบว่า ประชาชนมีความเชื่อมั่นต่อศักยภาพของประเทศไทยเฉลี่ยรวมทุกด้านเพียงแค่ 3.47 คะแนน จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน โดยปรับลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับการสำรวจครั้งก่อนหน้าช่วงเดือน มิ.ย.2553 ซึ่งเป็นช่วงที่ประเทศไทยเพิ่งผ่านพ้นเหตุการณ์สลายการชุมนุมในวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 ที่มีคะแนนเท่ากับ 3.57 คะแนน ลดลงร้อยละ 2.8
เมื่อพิจารณาความเชื่อมั่นในแต่ละด้านพบว่า ประชาชนมีความเชื่อมั่นด้านเศรษฐกิจมากที่สุด แต่ยังคงมีคะแนนไม่ถึงครึ่ง คือ 4.01 คะแนน รองลงมาคือด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม 3.47 คะแนน ส่วนด้านการเมืองประชาชนมีความเชื่อมั่นน้อยที่สุด 2.94 คะแนน
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาคะแนนความเชื่อมั่นในแต่ละตัวชี้วัดจากจำนวนทั้งสิ้น 12 ตัวชี้วัด พบว่า ความเชื่อมั่นต่อการแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชันมีคะแนนต่ำที่สุด คือ 1.91 คะแนน เช่นเดียวกับผลการสำรวจในครั้งที่ผ่านมา ขณะที่ความเชื่อมั่นด้านความสามารถแข่งขันกับประเทศอื่นในภูมิภาคอาเซียนเป็นความเชื่อมั่นที่มีคะแนนสูงที่สุด แต่ก็ยังไม่ถึงครึ่ง 4.69 คะแนน ส่วนด้านความเชื่อมั่นที่ปรับลดลงมากที่สุด คือ ด้านความรักและสามัคคีของคนในชาติ ลดลง 0.38 คะแนน ข้อมูลดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า ประชาชนยังคงมีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจของประเทศว่าสามารถแข่งขันได้ในอาเซียน แต่ไม่เชื่อมั่นต่อการแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชันที่ฝังรากลึกในระบบการเมืองไทย และเมื่อรวมกับความเชื่อมั่นในความรักความสามัคคีของคนในชาติที่ลดลง สองสิ่งนี้จะเป็นปัจจัยกัดกร่อนศักยภาพของประเทศไทยทั้งในปัจจุบันและอนาคต
เมื่อถามถึงความเชื่อมั่นต่อศักยภาพของประเทศไทยในอีก 6 เดือนข้างหน้า พบว่า ร้อยละ 44.7 ระบุว่าเหมือนเดิม ร้อยละ 33.9 เชื่อว่าจะแย่ลง มีเพียงร้อยละ 21.3 ที่เชื่อว่าจะดีขึ้น