xs
xsm
sm
md
lg

โพลชี้น้ำมันแซงการเมืองฉุด ศก.ทรุด ส่งออกลุ้นปีนี้โตได้อีก 17%

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


โพลนักเศรษฐศาสตร์ ชี้ เศรษฐกิจไทยช่วง 3 เดือนข้างหน้าสดใส แต่ส่วนใหญ่กังวลปัญหาน้ำมันแพงเสี่ยงฉุดเศรษฐกิจแซงการเมืองวุ่นวาย เอกชนหวังส่งออกปีนี้ขยายตัว 17% แนะร่วมมือรัฐรุกเจาะตลาดต่างประเทศ

ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (กรุงเทพโพลล์) เปิดเผยผลสำรวจความเห็นนักเศรษฐศาสตร์ที่ทำงานอยู่ในหน่วยงานด้านการวิเคราะห์วิจัยเศรษฐกิจระดับชั้นนำของประเทศ 26 แห่ง จำนวน 83 คน เรื่อง ดัชนีคาดการณ์เศรษฐกิจไทย 3 เดือนข้างหน้า (พฤษภาคม 2554) โดยเก็บข้อมูลระหว่างวันที่ 19-25 มกราคม 2554 ที่ผ่านมา โดยพบว่า ดัชนีคาดการณ์เศรษฐกิจไทยในอีก 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 58.11 เป็นระดับที่สูงกว่า 50 และอยู่ในระดับที่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบการคาดการณ์ครั้งก่อน แสดงให้เห็นว่า นักเศรษฐศาสตร์มีความเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจไทยในอีก 3 เดือนข้างหน้าจะปรับตัวดีขึ้นจากปัจจุบัน

สำหรับการประเมินสภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่จะกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในอีก 3 เดือนข้างหน้า พบว่า จาก 10 ปัจจัยที่ทำการสำรวจ มีถึง 6 ปัจจัยที่จะส่งผลด้านลบ ประกอบด้วย อันดับ 1 ราคาน้ำมัน 92.8% อันดับ 2 ปัจจัยด้านการเมือง 65.1% อันดับ 3 อัตราเงินเฟ้อ 65.1% อันดับ 4 วิกฤติหนี้สาธารณะยุโรป 53.0% อันดับ 5 อัตราดอกเบี้ยธนาคารพาณิชย์ 47.0% อันดับ 6 อัตราแลกเปลี่ยน 42.2%

นายไพบูลย์ พลสุวรรณา ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ภาคเอกชนได้ประเมินทิศทางการส่งออกในปีนี้ ว่า ยังมีการขยายตัวที่ดี โดยเฉพาะในด้านมูลค่าการส่งออกที่คาดว่าจะขยายตัวประมาณ 17% ส่วนปริมาณจะขยายตัวได้ 10% จากความต้องการสินค้าในตลาดต่างประเทศทั่วโลกยังมีสูง โดยเฉพาะสินค้าเกษตร

ทั้งนี้ จากการวิเคราะห์ข้อมูลของดัชนีการส่งออกซึ่งคำนวณจากสถานการณ์การส่งออกสินค้ารายกลุ่มอุตสาหกรรม รวม 25 กลุ่ม พบว่า ในปีที่ผ่านมาด้านราคาสินค้าส่งออกมีมากกว่าด้านปริมาณ เนื่องจากต้นทุนการผลิตและอัตราแลกเปลี่ยนทำให้การส่งออกยังขยายตัวในแง่ของมูลค่า แต่ในด้านปริมาณลดลง จึงจำเป็นต้องเร่งผลักดันในด้านความร่วมมือของเอกชนหลังจากนี้ คือการร่วมเจาะตลาดกับหน่วยงานภาครัฐ จะเป็นตัวเร่งให้อัตราการส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้นอีกได้ โดยเฉพาะกลุ่มเกษตร ทั้งข้าว ไก่สดแช่แข็งและสำเร็จรูป มันสำปะหลัง ยางพารา ที่ตลาดต่างประเทศยังคงมีความต้องการอยู่
กำลังโหลดความคิดเห็น