“วันทูโก” โต้กองปราบยัดข้อหาชำแหละชิ้นส่วนเครื่องบิน โบอิ้ง 747 เลี่ยงภาษี แจงเป็นเครื่องที่เช่ามาบิน แต่เข้าของไม่รับกลับ ต้องแบกค่าจอดทิ้งเดือนละ 1 ล้าน ชี้ เครื่องปลดประจำการแล้วภาษีเป็นศูนย์ ขณะที่โฆษกกองปราบยันนำกำลังบุกค้น ไม่ได้กลั่นแกล้ง
นายอุดม ตันติประสงค์ชัย ประธานที่ปรึกษา บริษัท โอเรียนท์ไทย แอร์ไลน์ หรือ วันทูโก กล่าวถึงกรณีตำรวจกองปราบปราม นำกำลังเจ้าหน้าที่พร้อมหมายศาลจังหวัดพิษณุโลก เข้าตรวจสอบเครื่องบินพาณิชย์โบอิ้ง 747 จำนวน 2 ลำ ของสายการบินวันทูโกเช่าจอดไว้ที่ท่าอากาศยาน จ.พิษณุโลก โดยขอชี้แจงว่า เรื่องดังกล่าวไม่เป็นความจริง เพราะเครื่องบินทั้ง 2 ลำ มีอายุกว่า 32 ปี ไม่ได้มีการใช้งานมาแล้ว 5-6 ปี เป็นเครื่องที่เช่าเข้ามาทำการบินอย่างถูกต้อง เมื่อปลดระวางจึงนำไปจอด
“กรณีที่ตำรวจกองปราบปราบกล่าวหาว่า บริษัทนำเครื่องบินทั้ง 2 ลำ มาจอดทิ้งรอชำแหละเพื่อเลี่ยงภาษีนั้น ไม่เป็นความจริง เพราะเครื่องบินทั้ง 2 ลำมีอายุกว่า 32 ปี ไม่ได้ใช้งานมา 5-6 ปีแล้ว เป็นเครื่องที่เช่าเข้ามาทำการบิน และบริษัทเจ้าของไม่ต้องการรับคืน ทำให้โอเรียนท์ ต้องแบกรับค่าจอดปีละเกือบล้านบาท”
นายอุดม ยังได้ยืนยันอีกว่า เครื่องบินดังกล่าวขออนุญาตนำเข้าและเคยได้ทำการบินอย่างถูกต้องตามกฎระเบียบทุกประการ แต่เมื่อปลดระวางไม่สามารถนำไปจอดที่สนามบินดอนเมืองหรือสุวรรณภูมิได้ เพราะค่าจอดราคาสูง หากหน่วยงานใดต้องการนำไปใช้ประโยชน์จัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์ด้านการบินก็ยินดียกให้ฟรี
นายอุดม กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ กรมศุลกากรเคยติดต่อขอเรียกเก็บภาษีเครื่องบินโบอิ้งอีกลำที่จอดอยู่ที่สนามบินอู่ตะเภา โดยอ้างว่า ทำให้รัฐสูญรายได้ จึงขอชี้แจงว่า เครื่องบินเหล่านี้ภาษีเป็นศูนย์ คือไม่ต้องเสียภาษี เพราะไม่ได้ทำการบิน แต่หากมีการชำแหละ หรือแยกชิ้นส่วน จะต้องเสียค่าภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งทางธุรกิจสามารถนำไปขอคืนภาษีได้ในภายหลัง
“หากต้องการยึดเครื่องบินไม่ขัดข้อง เพราะเจ้าของเครื่องบินไม่มีความประสงค์ขอรับเครื่องที่หมดสภาพเหล่านี้กลับคืน เพราะทางบริษัทไม่ต้องการแบกรับภาระ หน่วยงานใดต้องการนำไปใช้ประโยชน์จัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์ด้านการบิน ยินดียกให้ฟรี”
พ.ต.อ.ธนาวุฒิ ท้วมสมบุญ ผู้กำกันการ 4 (ผกก.4) กองบังคับการปราบปราม ยอมรับว่า ได้กำลังเข้าตรวจสอบที่ท่าอากาศยานพิษณุโลก โดยมี นายเกษม อินทสร ผผู้อำนวยการท่าอากาศยานพิษณุโลก อำนวยความสะดวก ซึ่งผลการตรวจสอบพบว่า เครื่องบินดังกล่าวเป็นของโอเรียนท์ไทย ได้นำเครื่องบินโบอิ้ง 747 มาจอดไว้จำนวน 3 ลำ เพื่อขายต่อชำแหละเป็นชิ้นส่วน เนื่องจากเป็นเครื่องที่ถูกปลดระวางแล้ว ตั้งแต่ปี 2547-2548
ทั้งนี้ กองปราบได้ตั้งข้อสังเกตว่า เครื่องบินดังกล่าวมีการทาสีทับเครื่องหมายต่างๆ และถอดเครื่องยนต์ออกไป 8 เครื่อง ซึ่งเกรงว่าจะไม่มีการเสียภาษีอย่างถูกต้อง และยังพบว่าในปี 2548 บริษัทดังกล่าวได้ขายให้เอกชนรายหนึ่งในราคา 6 ล้านบาท ซึ่งนำไปชำแหละเป็นอะลูมิเนียมและไททาเนียมขายให้ผู้รับซื้อจากประเทศจีน 11 ล้านบาท
ขณะที่ พ.ต.อ.ประสบโชค พร้อมมูล โฆษกกองปราบปราม กล่าวว่า แม้ว่าผู้บริหารเจ้าของเครื่องบินจะชี้แจงผ่านสื่อว่าไม่ผิด แต่ทางตำรวจต้องดำเนินการสอบสวนต่อไป เพราะมีข้อสงสัยหลายประการ เช่น ที่ระบุว่า เครื่องยนต์อยู่ที่สนามบินดอนเมือง ต้องไปดูว่าอยู่จริงหรือไม่ ส่วนการเสียภาษีต่างๆ ต้องดูว่ามีหลักฐานหรือไม่ ทั้งนี้ ตำรวจไม่มีเจตนากลั่นแกล้ง เพียงแต่ขอตรวจสอบให้กระจ่างชัด ยืนยันว่า จะให้ความยุติธรรมกับโอเรียนท์ไทย