xs
xsm
sm
md
lg

อุ่นเครื่อง“มาสด้า3 ใหม่”-ลองขับแบบ“แอบ แอบ”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ช่วงกลางเดือนหน้า(มีนาคม) บริษัท มาสด้า เซลส์ ประเทศไทย เตรียมเปิดตัว “มาสด้า 3 โฉมใหม่” หรือรุ่นโมเดลเชนจ์อย่างเป็นทางการ ซึ่งใครนั่งนับวันรอ พ.ศ.ที่คิดถึง ก็เตรียมเงินและหัวใจให้พร้อม เพราะคาดว่าคราวนี้จะไม่ต้องรอการส่งมอบนานถึง 5-6 เดือน เหมือนเคยสร้างปรากฏการณ์เอาไว้

สำหรับ “มาสด้า 3” เจเนอเรชันที่หนึ่ง ซึ่งเตรียมปลดระวางจากตลาดไทย ถือว่าสร้างชื่อและภาพลักษณ์ให้แบรนด์มาสด้ามากพอสมควร ที่สำคัญยังถือเป็นผู้บุกเบิก และชี้ช่องให้ธุรกิจมาสด้าในไทย กลับมาอยู่ในเส้นทางที่ควรจะเป็นอีกครั้ง
ฮิเดยูกิ ไซโตะ
ในส่วนยอดขาย “มาสด้า 3”นับตั้งแต่เปิดตัวในไทยปลายปี 2547 จนถึงปัจจุบันมีร่วม 30,000 คัน ขณะที่ยอดผลิตรวมทั่วโลกก็ทะลุ 2,900,000 คันไปเรียบร้อย

นั่นเป็นความสำเร็จที่กำลังจะเป็นอดีต(อันน่าจดจำ) ซึ่งมาสด้าก็ยอมรับว่า เมื่อของเก่าทำไว้ดี จนได้การตอบรับจากลูกค้าทั่วโลก ดังนั้นการพัฒนาโฉมใหม่ หรือเจเนอเรชันที่สองของมาสด้า3 จึงถือเป็นการบ้านอันหนักหน่วง

...แล้วอะไรที่ปรับปรุงไปบ้าง รวมถึงแนวคิดในการพัฒนา “มาสด้า3 โฉมใหม่” เป็นอย่างไร?...คำถามนี้ บริษัท มาสด้า เซลส์ ประเทศไทย ตอบด้วยการจัดงาน Next Generation Mazda3 Prototype & Test Drive ให้สื่อมวลชนหายสงสัย ไปเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตามงานดังกล่าว เป็นการแง้มข้อมูลส่วนหนึ่ง โดยเน้นไปที่ วิศวกรรมตัวถัง รวมถึงแนวคิดการออกแบบ ภายนอก-ภายใน ขณะเดียวกันก็ให้นักข่าวได้ลองขับ “มาสด้า3 โฉมใหม่” แบบพอหอมปากหอมคอเท่านั้น

“เราจะนำสิ่งที่ประสบความสำเร็จในมาสด้า3 เจเนอเรชันแรก มาศึกษาแล้วเก็บเอาไว้พร้อมจะพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นในรุ่นใหม่ เพื่อตอบสนองความต้องการให้มากกว่าความคาดหวังของลูกค้า” ฮิเดยูกิ ไซโตะ ผู้จัดการด้านประชาสัมพันธ์ภูมิภาคอาเซียนของมาสด้า กล่าวและว่า

มาสด้า 3 เจเนอเรชันที่ 2 ถูกทดสอบสมรรถนะในหลายประเทศทั่วโลก ด้วยภูมิประเทศและสภาพอากาศที่ต่างกันไป หรือรวมระยะทางกว่า 1.2 ล้านกิโลเมตร จึงทำให้มาสด้า 3ใหม่ เป็นรถที่ใช้ระยะทางทดสอบมากที่สุด ในบรรดารถยนต์ทุกรุ่นของมาสด้า

ฮิเดยูกิ ไซโตะ แจกแจงการพัฒนา “มาสด้า3 ใหม่” เป็น 3 ประเด็นหลักคือ 1. การออกแบบ 2.สมรรถนะ และ3.ความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

เริ่มจากประเด็นแรก...ซึ่งมาสด้า ยึดต้นแบบรุ่น “รียูกะ” (Ryuga) เป็นหลักในการออกแบบ ด้วยรูปทรงอันเป็นเอกลักษณ์ เน้นเส้นสายทรงพลัง แสดงอารมณ์แม้รถจะจอดอยู่นิ่งๆ และที่สำคัญเมื่อเห็นต้องรู้ทันทีว่าเป็นรถ(ตระกูล)มาสด้า

“ตัวถังมาสด้า3 ใหม่ ดูใหญ่ขึ้นจาก มิติ รวมถึงซุ้มโป่งล้อ ซึ่งผสานการออกแบบพื้นผิว เส้นสาย ความโค้งมน ตั้งแต่เสา A ถึงเสา C พิลลาร์ ขณะเดียวกันด้วยรูปลักษณ์ที่โดดเด่นสไตล์สปอร์ต ยังแฝงฟังก์ชันการใช้งานต่างๆได้อย่างลงตัว”

ภายในของมาสด้า 3 ใหม่ ยังยึดการออกแบบ Center Focus Design ให้ผู้ขับขี่เป็นศูนย์กลางของการใช้งาน ด้านคอนโซลหน้าออกแบบอย่างพิถีพิถันลดรอยต่อของชิ้นส่วน และเลือกใช้วัสดุคุณภาพสูง พร้อมระบบไฟส่องสว่างภายในห้องโดยสาร ช่วยเพิ่มความหรูหรา และสร้างบรรยากาศในการขับขี่ได้เป็นอย่างดี

ประเด็นต่อมาคือเรื่องสมรรถนะ ที่มาสด้าขอเว้นรายละเอียดเครื่องยนต์ ระบบส่งกำลัง หรือระบบขับเคลื่อนต่างๆเอาไว้ แต่ก็ยืนยันว่า มาสด้า 3 ใหม่ ยังยึดการขับสนุกสไตล์ “ซูม ซูม” ไว้อย่างเหนียวแน่น

“การขับสนุก ไม่ได้หมายถึง แรงม้ามากที่สุด หรือ แรงบิดมากที่สุด แต่หมายถึงการควบคุมรถได้ดั่งใจ หรือ คนกับรถ ต้องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน”

ฮิเดยูกิ ไซโตะ บอกว่า การเพิ่มสมรรถนะการขับขี่ของ มาสด้า 3 ใหม่ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการพัฒนาระบบช่วงล่าง และคุณสมบัติของโครงสร้างตัวถัง โดยเฉพาะช่วงล่างหน้าได้เพิ่มขนาดของเหล็กซับ-เฟรม ให้มีขนาดใหญ่ขึ้น พร้อมเพิ่มจุดยึดของแร็คพวงมาลัย กับซับ-เฟรม จาก 2 เป็น 3 จุด รวมถึงเพิ่มระยะ Pitch ของจุดยึดเหล็กกันโคลงหน้าจาก 535 มิลลิเมตร เป็น 587 มิลลิเมตร

ด้านระบบกันสะเทือนหลัง ได้เพิ่มขนาดหน้าตัดของชุดคานเหล็กด้านหลังจาก 2.0 มิลลิเมตร เป็น 2.3 มิลลิเมตร และเพิ่มะยะ Pitch ของจุดยึดเหล็กกันโคลงหลังจาก 546 มิลลิเมตร เป็น 564 มิลลิเมตร

ส่วนงานวิศวกรรมตัวถัง ได้เพิ่มคุณสมบัติความแข็งแกร่งและความมีเสถียรภาพมากขึ้น โดยพัฒนาการเชื่อมชิ้นส่วนตัวถังในหลายๆจุด ทั้งโครงสร้างหลัก และระบบกันสะเทือน ส่งผลให้ลดการเสียรูปและลดการโคลงของตัวถัง

ทั้งนี้ในรุ่นซีดาน 4 ประตู ด้านหลังจะเสริมด้วยคานเหล็กขวาง เชื่อมระหว่างเบ้ายึดโช้กอัพ ซ้าย-ขวา ขณะที่รุ่นแฮทซ์แบ็ก 5 ประตู จะเชื่อมคานเหล็กขวางระหว่างซุ้มล้อหลัง ด้านซ้าย-ขวา และคานด้านบนเข้ากับเบ้าโช้กอัพด้านหลัง ซึ่งประโยชน์ที่ได้รับคือ จะช่วยลดการบิดตัวเมื่อได้รับแรงกระแทกจากด้านหลัง รวมถึงช่วยรักษาสมดุลให้รถเกาะถนนดีขึ้น

สำหรับภายในออกแบบคอกพิตใหม่ทั้งหมด พร้อมเลือกวัสดุประกอบชั้นดีและพยายามใช้เป็นชิ้นใหญ่ชิ้นเดียวไร้รอยต่อ ด้านเบาะคู่หน้าเพิ่มความยาวของเบาะรองนั่งอีก 20 มิลลิเมตร พนักพิงหลังสูงขึ้น 35 มิลลิเมตร ทั้งยังออกแบบโครงให้โอบกระชับสรีระด้านข้าง นอกจากนี้ยังเน้นความเงียบในห้องโดยสาร ซึ่งมาสด้าสามารถลดเสียงรบกวนลงไปได้เยอะเมื่อเทียบกับรุ่นเก่า

ปิดท้ายด้วยประเด็นเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ที่มาสด้าต้องการลดอัตราสิ้นเปลืองน้ำมัน และคายไอเสียต่ำ โดย“ฮิเดยูกิ ไซโตะ” เปิดเผยถึงเทคโนโลยี “ซิงเกิลนาโน คัททัลลิส” เอกสิทธิ์เฉพาะของมาสด้า ที่ถูกนำมาใช้ในมาสด้า 3 ใหม่

หลักการทำงานของเทคโนโลยีดังกล่าว คือการพัฒนาโครงสร้างของวัสดุเร่งปฎิกิริยา หรือคัททัลลิส ด้วยการใช้เทคโนโลยีซิงเกิลนาโน ที่สามารถควบคุมโมเลกุลขนาดเล็กกว่าโมเลกุลทั่วไป จึงสามารถลดปริมาณโลหะธรรมชาติราคาสูง ที่ใช้ในชุดกรองไอเสีย หรือ แคททาเลติก คอนเวอร์เตอร์ ลงได้ได้ถึง 70%

นอกจากนี้การออกแบบตามหลักอากาศพลศาสตร์อันยอดเยี่ยม ส่งผลให้ค่าสัมประสิทธิแรงเสียดทาน (Cd) ลดลง0.28 ในรุ่นซีดาน และ 0.30 ในรุ่นแฮทซ์แบ็ก ตลอดจนลดน้ำหนักตัวถัง ด้วยการใช้เหล็กคุณภาพสูง ซึ่งมีคุณสมบัติแข็งแกร่งแต่น้ำหนักเบา

สุดท้าย “มาสด้า 3 ใหม่” จึงลดน้ำหนักลงไปได้ 15 กิโลกรัม แต่สามารถเพิ่มความแข็งแรงของตัวถังได้ 23% เมื่อเทียบกับรุ่นเก่า

...ทั้งหมดเป็นข้อมูลการพัฒนา “มาสด้า 3 โฉมใหม่” ที่พอจะเปิดเผยได้ในตอนนี้ ซึ่งตัวเลขต่างๆที่ “ฮิเดยูกิ ไซโตะ” นำมากล่าวอ้างนั้น มาจากพื้นฐานเวอร์ชันที่ทำตลาดในยุโรป แต่กระนั้นก็ยืนยันว่าสเปกที่ทำตลาดในไทย จะใช้มาตรฐานวิศวกรรมเดียวกันแน่นอน

ชิมลางกับข้อมูลกันไปก่อน ส่วนราคาและออปชันสุดท้ายจะเป็นอย่างไร กลางเดือนมีนาคมนี้รู้กัน!

คลิกที่นี่อ่านการลองขับแบบ"แอบ แอบ"
กำลังโหลดความคิดเห็น