xs
xsm
sm
md
lg

“มาร์ค” เคาะประกันราคาข้าวเพิ่ม 1.1 หมื่นบาท พร้อมขยายเพดาน 30 ตัน/ราย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นายกฯ นั่งหัวโต๊ะประชุม กขช.เคาะประกันราคาข้าวเพิ่มเป็น 1.1 หมื่นบาท/ตัน จากเดิม 1 หมื่นบาท/ตัน พร้อมเพิ่มปริมาณเข้าโครงการเป็น 30 ตัน จากเดิมให้แค่ 25 ตัน เตรียมชง ครม.เห็นชอบ 8 มี.ค.นี้ ด้านกลุ่มชาวนา 3 จังหวัด ประกาศปักหลักชุมนุมต่อ และปิดถนนจนกว่าจะได้รับคำตอบ ด้านม็อบลานพระรูป บุกทวงคำตอบ โวยถูกนายกฯ บิดเบือน


นายยรรยง พวงราช ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ที่มี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ซึ่งได้ข้อสรุปในการปรับขึ้นประกันราคาข้าวใน 3 ประเภท ทั้งข้าวเจ้า ข้าวปทุมธานี และข้าวเหนียว พร้อมขยายปริมาณการรับประกันจาก 25 ตัน เพิ่มเป็น 30 ตัน โดยคาดว่ารัฐบาลจะใช้งบประมาณเพิ่มเป็นจำนวนเงิน 11,000 ล้านบาท จากเดิมที่ตั้งบไว้ 19,000 ล้านบาท รวมทั้งสิ้นเงินสำหรับการประกันรายได้ข้าวจะอยู่ที่ 3 หมื่นล้านบาท

“ที่ประชุมมีมติอนุมัติปรับเพิ่มราคาในโครงการประกันรายได้ข้าวเปลือก เนื่องจากต้นทุนของเกษตรกรปรับตัวสูงขึ้น โดยปรับเพิ่มราคาประกันรายได้ข้าวเจ้านาปรังเป็น 1.1 หมื่นบาทต่อตันจาก 1 หมื่นบาทต่อตัน ปรับเพิ่มราคาข้าวปทุมธานี เพิ่มเป็น 1.15 หมื่นบาทต่อตันจาก 1.1 หมื่นบาทต่อตันและปรับเพิ่มราคาข้าวเหนียวเป็น 1 หมื่นบาทต่อตันจากราคา 9.5 หมื่นบาทต่อตัน”

โดยการปรับเพิ่มราคา เนื่องจากต้นทุนเกษตรกรสูงขึ้น ทั้งค่าเช่านา ปุ๋ย ค่าแรง โดยเห็นว่าสะท้อนกับต้นทุนในปัจจุบัน แม้เกษตรกรจะเรียกร้องให้เพิ่มราคาข้าวเปลือกเจ้าถึง 14,000 บาท แต่อยากให้เกษตรกรเห็นใจ เพราะการปรับเพิ่มในสัดส่วนดังกล่าว ถือว่าเหมาะสมแล้ว

นายธราดล เปี่ยมพงศ์สานต์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม กขช.มีมติเห็นชอบให้เพิ่มวงเงินประกันรายได้ให้กับเกษตรกรที่ปลูกข้าวนาปรัง ที่จะเริ่มใช้สิทธิ์ในเดือนมีนาคม 2554 นี้ เฉลี่ยตันละ 500-1,000 บาทแล้วแต่ประเภทข้าว โดยข้าวเปลือกปทุมธานี 1 ปรับเพิ่มเป็นตันละ 11,500 บาท จากเดิม 11,000 บาท

ข้าวเปลือกเจ้า ณ ความชื้น 15% ปรับเพิ่มเป็นตันละ 11,000 บาท จาก 10,000 บาท และข้าวเปลือกเหนียว ปรับเพิ่มเป็นตันละ 10,500 บาท จากเดิม 9,500 บาท และให้ปรับเพิ่มจำนวนที่จะรับประกันเป็น 30 ตัน จากเดิม 25 ตัน ซึ่งจะทำให้ข้าวเปลือกประมาณ 80% ของผลผลิตทั้งหมดที่จะนำมาใช้สิทธิประกันรายได้ ทำให้คาดว่ารัฐบาลจะใช้เงินในการรับประกันรายได้สำหรับข้าวนาปรังเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 30,400 ล้านบาท จากเดิมที่คาดว่าใช้เงินประมาณ 19,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ ที่ประชุมเห็นตรงกันว่าเกษตรกรผู้ปลูกข้าวทุกประเภทมีต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจริงทั้งราคาปุ๋ยเคมี ราคายาฆ่าแมลง หรือแม้แต่ค่าเช่าที่ดินและมีแนวโน้มที่จะปรับเพิ่มขึ้นอีก จึงทำให้ กขช.ต้องพิจารณาปรับเพิ่มวงเงินการรับประกันรายได้ให้กับเกษตรกรเพิ่มขึ้น โดยจะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบอีกครั้งในวันที่ 8 มีนาคม 2554 นี้

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังรับทราบสถานการณ์ราคาข้าวในขณะนี้พบว่ามีราคาตกลงจริง หลังจากเวียดนามได้ลดค่าเงินด่องลง ทำให้ราคาข้าวเวียดนามลดลงจากตันละ 475 ดอลลาร์สหรัฐฯ เหลือตันละ 465 ดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้ข้าวหอมมะลิของไทยราคาลดลงตามไปด้วยจากตันละ 961 ดอลลาร์สหรัฐฯ เหลือตันละ 952 ดอลลาร์สหรัฐฯ

ส่วนกรณีที่มีกระแสข่าวว่าผู้ส่งออกที่ซื้อข้าวจากสต๊อกรัฐบาลไปแล้ว แต่ไม่ยอมนำไปขาย เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ราคาข้าวลดลงไปมากนั้น กระทรวงพาณิชย์ได้ยืนยันว่า เป็นเรื่องไม่จริงเพราะในปัจจุบันเอกชนที่ซื้อข้าวจากสตอกของรัฐบาลไปแล้ว จะมีเวลาขนข้าว 150 วันหลังจากตกลงทำสัญญา และต้องส่งออกภายใน 45 วัน ซึ่งที่ประชุมได้ขอให้กระทรวงพาณิชย์ยืนยันว่าจะต้องดำเนินการขนข้าวภายใน 150 วันด้วย

กระทรวงพาณิชย์ รายงานเพิ่มเติมว่า มั่นใจว่า จากการส่งออกข้าวของไทยที่มีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจะทำให้ราคาข้าวปรับเพิ่มสูงตามไปด้วย โดยในปี 2553 ไทยได้ส่งออกข้าวรวมทั้งสิ้นประมาณ 9 ล้านตัน สูงกว่าปี 2552 ที่ส่งออกได้ประมาณ 7 ล้านตัน และใน 2 เดือนแรกของปี 2554 (มกราคม-กุมภาพันธ์) ได้ส่งออกไปแล้วรวม 2 ล้านตัน จึงเชื่อว่าแนวโน้มราคาข้าวจะปรับเพิ่มสูงขึ้นแน่นอน

รายงานข่าวเพิ่มเติมระบุว่า ภายหลังกลุ่มชาวนาที่ปักหลักชุมนุมปิดถนนอยู่ที่หน้ามหาวิทยาลัยนเรศวร อ.เมือง จ.พิษณุโลก ได้รับทราบมติของ กขช.ที่ให้ปรับเพิ่มราคาประกันข้าวอีกตันละ 1 พันบาท ต่างแสดงความไม่พอใจมติดังกล่าว พร้อมประกาศปักหลักชุมนุมปิดถนนต่อไป และระบุว่า ในวันที่ 8 มีนาคม 2554 จะมีกลุ่มชาวนาจากหลายจังหวัดในภาคกลางมาร่วมชุมนุมด้วย

โดยวานนี้ ยังมีความเคลื่อนไหวของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) ที่ปักหลักชุมนุมอยู่ที่ลานพระบรมรูปทรงม้ามานานนับสิบวัน เดินเท้าผ่านเข้า ถ.นครสวรรค์ ทลายแผงกั้นเหล็ก และแนวรั้วลวดหนามของเจ้าที่ตำรวจ ที่ตรึงไว้บริเวณแยก ถ.ลูกหลวง เข้ายึดพื้นที่เชิงสะพานอรทัย ทำเนียบรัฐบาล เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรี ออกมาเจรจาแก้ปัญหาเกษตรกร และคนจนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม

ทั้งนี้ ขปส.เป็นขบวนการของเกษตรกร และคนจนเมืองที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม หรือได้รับผลกระทบจากนโยบายพัฒนาประเทศ ประกอบด้วย กลุ่มคนจน 4 เครือข่าย 3 กรณี มีปัญหาทั้งหมด 440 กรณีปัญหา โดยรวมตัวปักหลักชุมนุมอยู่บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า กทม.

น.ส.ฒุฒิพร ทิพวงศ์ ผู้ประสานงาน ขปส.กล่าวว่า เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2554 ที่ผ่านมา ขปส.ยื่นข้อเสนอให้นายกฯ ซึ่งนายกฯ รับปากจะนำเข้า ครม.แต่มีการบิดเบือนข้อเท็จจริงของข้อตกลงระหว่างรัฐบาลกับ ขปส.เราจึงมาเพื่อติดตามผลักดันปัญหาให้ได้รับการแก้ไข ผู้ชุมนุมทั้งหมดเป็นชาวบ้านที่ทิ้งบ้านทิ้งงานมาชุมนุมกว่า 20 วัน ถ้ากลับบ้านไปก็ยังเดือดร้อน สู้อยู่ต่อให้ปัญหาได้รับการแก้ไขที่เป็นรูปธรรมดีกว่า

ด้าน นายเกียรติฟ้า เลาหะพรสวรรค์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ตัวแทนรับข้อเรียกร้อง กล่าวว่า นายกฯ ให้ นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ดูแล และนำปัญหาเข้า ครม.วันที่ 8 มีนาคม ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่าบางเรื่องไม่สามารถแก้ปัญหาได้ทันที เพราะมีข้อเรียกร้องเข้ามามากกว่า 400 เรื่อง
กำลังโหลดความคิดเห็น