“พาณิชย์” แจงแก้ปัญหาหมูแพง ยันไม่แทรกแซงกลไกตลาด แม้ราคามีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น คาดเป็นไปตามฤดูกาล แต่จะเข้าไปดูแลราคาต้นทางระหว่างหมูเป็นหน้าฟาร์มกับเนื้อหมูหน้าเขียง ป้องกันการฉวยโอกาสขึ้นราคาอย่างไม่เป็นธรรม ด้านผู้เลี้ยงหมูแจงหมูแพง เพราะต้นทุนหัวอาหารพุ่ง 5% แถมเกิดโรคระบาด ส่วนผู้เลี้ยงไก่ เจอปัญหาเดียวกัน
นายยรรยง พวงราช ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงแนวโน้มราคาเนื้อหมูที่มีโอกาสปรับสูงขึ้นในช่วงฤดูร้อนที่กำลังจะมาถึง ว่า เนื้อหมูเป็นสินค้าเกษตรที่ราคาเปลี่ยนแปลงไปตามฤดูกาล และสภาพอากาศ โดยเฉพาะในช่วงฤดูร้อน หมูจะเติบโตช้า ทำให้ต้นทุนการเลี้ยงของเกษตรกรเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งกรณีนี้เป็นไปตามกลไกตลาด กระทรวงพาณิชย์จึงจะไม่เข้าไปแทรกแซง แต่จะเข้าไปดูแลราคาระหว่างต้นทางคือหมูเป็นหน้าฟาร์มไปจนถึงเนื้อหมูชำแหละหน้าเขียงว่าสอดคล้องกันหรือไม่ และจะเข้าไปจัดระเบียบให้ทุกฝ่ายค้าขายอย่างมีกำไรตามความเหมาะสม
ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า สำหรับโครงการประชาวิวัฒน์ ซึ่ง นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เสนอให้ปรับระบบขายไข่ชั่งกิโลใหม่โดยเข้าไปรับซื้อจากสหกรณ์มาวางจำหน่ายใน 4 จังหวัดใหญ่ทั่วประเทศนั้น เป็นเรื่องของวิธีการ ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ได้ดำเนินการในลักษณะดังกล่าวอยู่แล้ว
ทั้งนี้ การขายไข่ชั่งกิโลจะต้องแบ่งกลุ่มผู้ซื้อออกเป็น 2 กลุ่ม เช่น กลุ่มครัวเรือน ซึ่งเป็นแม่บ้านทั่วไป ก็อาจอยากได้ไข่ฟองโตไปปรุงอาหารรับประทานที่บ้าน ก็สามารถซื้อไข่แบบคัดเกรด แต่สำหรับผู้ประกอบการร้านค้า ที่ใช้ไข่จำนวนมากโดยไม่จำเป็นต้องใช้ไข่ขนาดใหญ่เท่านั้น ไข่ชั่งกิโลก็จะเป็นทางเลือกให้ซื้อได้ในราคาประหยัดขึ้น
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการลดต้นทุนการผลิตหมู ไก่ ไข่ ตามโครงการประชาภิวัฒน์ เป็นหน้าที่หลักของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่จะเข้าไปจับคู่กลุ่มเกษตรผู้เลี้ยงกับผู้จำหน่ายอาหารสัตว์เพื่อให้ซื้อได้ในราคาที่ต่ำลง
ด้าน นายสุรชัย สุทธิธรรม นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ กล่าวว่า สมาคมเตรียมทยอยปรับขึ้นราคาสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์มในเร็วๆ นี้ แต่คงไม่ใช่สัปดาห์นี้ ซึ่งจะค่อยๆ ทยอยปรับขึ้นต่อเนื่อง เพื่อลดภาระขาดทุนที่แบกรับมานาน จากราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่ปรับราคาขึ้นต่อเนื่อง
รายงานข่าวเพิ่มเติมระบุว่า ราคาหมูหน้าเขียงที่ปรับขึ้นมาจากกิโลกรัม (กก.) ละ 115-120 บาท เป็นผลมาจากราคาหมูเป็นหน้าฟาร์มขยับราคาสูงขึ้นจาก กก.ละ 58 บาท เมื่อสัปดาห์ก่อน เพิ่มขึ้นเป็น กก.ละ 60-62 บาท ในสัปดาห์นี้ เนื่องจากผลผลิตหมูลดลง แต่ปริมาณบริโภคยังเท่าเดิม เพราะเกิดโรคระบาดในหมู ทำให้ผลผลิตสูญเสียเป็นจำนวนมาก อีกทั้งต้นทุนการเลี้ยงหมูปรับตัวสูงขึ้นจากวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่ปรับราคาขึ้นมาแล้ว 5%
นายมาโนช ชูทับทิม นายกสมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่ กล่าวว่า ผู้เลี้ยงไก่ไข่ไม่ได้ปรับราคาไข่ไก่หน้าฟาร์มขึ้นมา โดยยังขายส่งอยู่ในราคาฟองละ 2.70 บาท แม้ว่าต้นทุนการเลี้ยงไก่ไข่สูงขึ้นมาก จากราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ปรับตัวสูงขึ้นประมาณ 30 สตางค์ต่อกิโลกรัม (กก.) และเกิดโรคระบาดในไก่ไข่ หรือที่เรียกว่าโรคไข่ลด โดยผลผลิตไข่ไก่จากปกติที่ออกมาประมาณ 80-90% ต่อไก่ 1 ตัว ลดเหลือ 20-30% เท่านั้น ทำให้ขณะนี้ปริมาณไข่ไก่ที่ออกมาต่อวันอยู่ที่ 23-24 ล้านฟอง ลดลงจากระดับปกติที่วันละ 25-27 ล้านฟอง
อย่างไรก็ตาม ราคาไข่ไก่หน้าฟาร์มที่ขายอยู่ 2.70 บาทต่อฟอง ราคาขายปลีกไข่ไก่ตามตลาดสดไม่ควรเกินฟองละ 3 บาท หากราคาปรับตัวสูงขึ้น แสดงว่า รัฐบาลไม่สามารถแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนได้