xs
xsm
sm
md
lg

หอการค้าฯ แจงดัชนีความเชื่อมั่นดีขึ้น ผู้บริโภคยังกังวลการเมือง-ศึกชายแดน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ม.หอการค้า เผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน ม.ค.ปรับตัวดีขึ้นเป็นเดือนที่ 2 ขานรับราคาสินค้าเกษตร-ค่าจ้างแรงงาน ปรับตัวเพิ่มขึ้น พร้อมคาดแนวโน้มการบริโภคส่งสัญญาณดีขึ้น แต่ค่าดัชนีเคลื่อนไหวต่ำกว่า 100 สะท้อนความกังวลของผู้บริโภคต่อสถานการณ์การเมือง เศรษฐกิจ และปัญหาข้อพิพาทไทย-กัมพูชา “ดุสิต” จี้รัฐหยุดทะเลาะเขมร หวั่นกระทบ AEC อีก 3 ปี

นายธนวรรธน์ พลวิชัยผู้อำนวยการเศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ประจำเดือนมกราคม 2554 พบว่า ค่าดัชนีปรับตัวดีขึ้น จาก 80.8 ในเดือนธันวาคม 2553 มาอยู่ที่ระดับ 81.5 ในเดือนมกราคม ซึ่งทำการปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเป็นที่สอง

“ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคได้ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 แม้ปลายเดือนก่อนจะมีข่าวในเชิงลบมากขึ้น ทั้งปัญหาการชุมนุมทางการเมืองในประเทศ และปัญหาชายแดนไทย-กัมพูชา แต่เนื่องจากผู้บริโภคเริ่มกลับมามั่นใจว่า เศรษฐกิจน่าจะปรับตัวดีขึ้นจากรายได้ในอนาคตที่มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นจากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในปีนี้ ตลอดจนรายได้ภาคการเกษตรที่สูงขึ้น จากราคาสินค้าเกษตรที่ปรับตัวดี”

ทั้งนี้ การที่ค่าดัชนีโดยรวมยังคงเคลื่อนไหวในระดับต่ำกว่า 100 แสดงให้เห็นว่า ผู้บริโภคยังคงไม่มั่นใจในสถานการณ์ต่างๆ อยู่ โดยเฉพาะความกังวลต่อสถานการณ์ทางการเมืองของไทย ปัญหาชายแดนไทย-กัมพูชา และภาวะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก

“สิ่งเหล่านี้ทำให้ประชาชนมั่นใจว่ารายได้ในอนาคตจะไม่ลดลง และส่งผลให้มีความมั่นใจในการบริโภคและจะจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น โดยดูได้จากตัวเลขการซื้อสินค้าคงทน รถยนต์และการใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยว เป็นต้น”

โดยมองว่า การบริโภคในประเทศปีนี้จะขยายตัวได้ราว 3.5-4% และจะเป็นตัวช่วยสนับสนุนการขับเคลื่อนอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ในปีนี้ให้เติบโตอยู่ในระดับ 4-5% ได้ ซึ่งยังไม่เห็นสัญญาณการชะลอตัวของการบริโภคในประเทศ มองว่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ยังเป็นขาขึ้น โดยคาดว่าการบริโภคในประเทศปีนี้จะโต 3.5-4.0% ซึ่งจะเป็นตัวช่วยในการค้ำยันเศรษฐกิจไทยในปีนี้ให้โต 4-5% ได้แน่นอน

สำหรับปัจจัยบวกที่ส่งผลต่อดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนนี้ ได้แก่ ราคาผลลผิตด้านการเกษตรทรงตัวในระดับสูง, มาตรการประชาวิวัฒน์ส่งผลเชิงบวกต่อประชาชน, นโยบายตรึงราคาดีเซลไม่ให้เกินลิตรละ 30 บาทส่งผลจิตวิทยาเชิงบวกเช่นเดียวกันในการลดความกังวลต่อการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าและค่าครองชีพ, กระทรวงการคลังคาดการณ์อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยปีนี้ 4.5% จากการบริโภคในประเทศที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

ขณะที่ปัจจัยลบ ได้แก่ ราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น, ผู้บริโภคกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองในประเทศ โดยเฉพาะปัญหาการชุมนุมในประเทศ รวมถึงปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ , ความกังวลต่อความไม่แน่นอนในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะปัญหาหนี้สาธารณะในยุโรป และปัญหาการเมืองในอียิปต์

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจฯ ยังคาดการณ์ว่า การบริโภคของประชาชนอาจจะมีความระมัดระวังต่อการจับจ่ายใช้สอยอยู่บ้าง เนื่องจากดัชนีความเชื่อมั่นในทุกรายการในปัจจุบันยังมีค่าต่ำกว่าระดับปกติที่ 100 แต่เชื่อว่าผู้บริโภคจะเริ่มกลับมาบริโภคมากขึ้นในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้เป็นต้นไป หากไม่มีปัจจัยลบเข้ามาบั่นทอนความเชื่อมั่นของผู้บริโภค

โดยมองว่า ปัจจัยลบที่ยังต้องจับตามอง ซึ่งจะมีผลต่อความเชื่อมั่นต่อการบริโภคของประชาชน เช่น ภาวะราคาน้ำมันแพง การชุมนุมทางการเมืองในประเทศ และสถานการณ์ชายแดนไทย-กัมพูชา

ด้าน นายดุสิต นนทะนาคร ประธานหอการค้าไทย กล่าวว่า เอกชนต้องการให้สถานการณ์ไทย-กัมพูชา ยุติด้วยการปรองดองโดยเร็ว อย่าปล่อยยืดเยื้อ เพราะอีก 3 ปี ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ที่ 10 ประเทศจะร่วมกันเป็นหนึ่งเดียว จะเกิดขึ้น หากประเทศสมาชิก 2 ประเทศทะเลาะกัน จะเป็นอุปสรรคต่อความร่วมมือ และกระทบกับความเชื่อมั่น 10 ประเทศ

ดังนั้น ควรหลีกเลี่ยงปัญหาดังกล่าว และประเทศอาเซียนควรเร่งร่วมมือเพื่อต่อรองกับประเทศที่เข้มแข็ง อย่างไรก็ดี สถานการณ์การค้าและการลงทุนระหว่าง 2 ประเทศ ยังเป็นปกติไม่มีผลกระทบเกิดขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น