ม.หอการค้า เผยผลสำรวจการใช้จ่ายช่วงเทศกาลตรุษจีนปีนี้ คาดเม็ดเงินสะพัดเกือบ 4 หมื่นล้าน เติบโตสูงถึง 7.94% เพิ่มสูงที่สุดในรอบ 6 ปี เหตุประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้น และมีความเชื่อมั่นในการใช้จ่าย ด้านผู้บริโภคห่วงสินค้าราคาแพงลิ่ว ไม่สามารถแบกรับภาระได้ อาจต้องกู้เงินนอกระบบมาใช้จ่าย แนะชะลอขึ้น ดบ.ตรึงดีเซล ถึง มี.ค.ก่อนขยับเพดานที่ 31-32 บาท
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจพฤติกรรมการใช้จ่ายในช่วงเทศกาลตรุษจีน และทัศนะเกี่ยวกับเศรษฐกิจและมาตรการปัจจุบัน โดยพบว่า ในช่วงเทศกาลตรุษจีนในปี 2554 จะมีการใช้จ่ายรวม 3.91 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 7.94% ซึ่งเป็นการขยายตัวสูงที่สุดในรอบ 6 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2549 แสดงถึงสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่เริ่มกลับเข้าสู่ปกติ
ทั้งนี้ เนื่องจากราคาพืชผลทางการเกษตรปรับตัวดีขึ้น รายได้ของประชาชนปรับตัวเพิ่มขึ้น จากเงินเดือนประจำ และค่าแรงขั้นต่ำที่ปรับเพิ่มขึ้น ส่งผลให้การจับจ่ายใช้สอยกลับมาคึกคักอีกครั้ง
ด้านทัศนะเกี่ยวกับราคาสินค้าในช่วงเทศกาลตรุษจีนปี 2554 กลุ่มตัวอย่างกว่า 80% เห็นว่าราคาสินค้าแพงขึ้น และผู้บริโภคส่วนใหญ่กว่า 49..8% เป็นห่วงเรื่องการขึ้นราคาสินค้ามากที่สุด โดยเมื่อเทียบค่าใช้จ่ายกับปีก่อน กลุ่มตัวอย่าง 42.6% เห็นว่า ในปีนี้จะใช้จ่ายเพิ่มขึ้น เพราะ 68.2% เห็นว่า ราคาสินค้าเพิ่มขึ้น 17.3% มีรายได้เพิ่มขึ้น 7.1% ธุรกิจได้กำไรเพิ่มขึ้น ตามลำดับ
ส่วนอีก 22.4% จะใช้จ่ายลดลง เนื่องจาก 41.1% ต้องการลดค่าใช้จ่าย 30.4% เห็นว่า ภาวะเศรษฐกิจแย่ลง 23.4% รายได้ลดลง เป็นต้น ขณะที่ปริมาณการซื้อสินค้า 43.9% ตอบว่า ซื้อจำนวนเท่าเดิม 40.9% ซื้อเพิ่มมากขึ้น และ 15% ซื้อลดลง
สำหรับการใช้จ่าย 100% จะใช้เพื่อซื้อของไหว้เจ้า เฉลี่ยจำนวนเงินต่อคน 2,853 บาท 69.1% ไปทำบุญ ใช้เงิน 1,838 บาท 66.3% ซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค จำนวน 3,294 บาท 41.7% ให้แตะเอีย จำนวน 3,028 บาท และ 30.5% ใช้เพื่อการท่องเที่ยว จำนวนเงิน 6,853 บาท ซึ่งกิจกรรมส่วนใหญ่มีมูลค่าการใช้จ่ายที่ไม่เปลี่ยนแปลง
ขณะที่การวางแผนเดินทางท่องเที่ยว 69.5% ไม่มีการวางแผนท่องเที่ยว และอีก 30.5% วางแผนจะเดินทางไปท่องเที่ยว แบ่งเป็น 81.3% เที่ยวในประเทศ และ 18.7% เที่ยวต่างประเทศ
“ปีนี้แม้ว่าประชาชนส่วนใหญ่มีความกังวลเรื่องราคาสินค้าแพงในช่วงเทศกาลตรุษจีน แต่ก็พร้อมที่จะซื้อของในปริมาณที่เท่าเดิมไม่ได้ลดลงจากปีก่อน ซึ่งแสดงถึงสถานการณ์ทางเศรษฐกิจเริ่มปรับตัวเข้าสู่ภาวะปกติ แต่ก็ยังไม่ดีขึ้น 100%”
นายธนวรรธน์ กล่าวว่า ด้านทัศนะเกี่ยวกับเศรษฐกิจและมาตรการปัจจุบัน กลุ่มตัวอย่าง 28.8% ยังเห็นว่า มาตรการควบคุมราคาสินค้าของรัฐบาลไม่ได้ผลเลย เพราะราคาสินค้ายังขยับตัวเพิ่มขึ้นมาก และในอีก 6 เดือนข้างหน้า กลุ่มตัวอย่าง 60.6% คิดว่า ราคาสินค้าจะยังแพงขึ้น ซึ่งสาเหตุที่ทำให้ราคาสินค้าแพงขึ้น เนื่องจากราคาน้ำมันแพง วัตถุดิบแพงขึ้น รัฐบาลไม่ควบคุม ตามลำดับ โดย 38% ไม่สามารถรับภาระสินค้าแพงได้ และ 40% จะกู้ยืมเงินนอกระบบมาใช้
ขณะที่มาตรการ 9 ข้อของรัฐบาล มาตรการที่คนชื่นชอบมากที่สุด ได้แก่ มาตรการให้ผู้ที่ใช้ไฟไม่ต่ำกว่า 90 หน่วยใช้ไฟฟรีถาวร มาตรการให้ผู้ที่ไม่ได้อยู่ระบบประกันสังคมเข้ามาอยู่ในระบบ และมาตรการตรึงราคาแอลพีจีภาคครัวเรือน และภาคขนส่ง ตามลำดับ
ผลสำรวจยังระบุว่า ประชาชนเชื่อว่าของจะแพงขึ้น เป็นผลมาจากต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ควรจะชะลอการขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วงไตรมาส 2 ออกไปก่อนเพื่อลดต้นทุน และรัฐบาลควรจะตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร ไปถึงเดือนมีนาคม 2554 หลังจากนั้น ก็ทยอยปรับขึ้นเป็น 31-32 บาทต่อลิตร เพื่อไม่ใช้งบประมาณอุ้มมากจนเกินไป โดยในปีนี้ปัจจัยที่คาดว่าจะกระทบต่อเศรษฐกิจมากที่สุด คือ ความไม่แน่นอนการเมือง